บ้านพลังงานเป็นศูนย์ | เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์

บ้านพลังงานเป็นศูนย์ | เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์

แนวคิดจากญี่ปุ่นเรื่อง Zero Energy House (ZEH) หรือบ้านพลังงานเป็น 0 ช่วยจุดประกายให้ยุ้ยเห็นว่า มีความเป็นไปได้ในเรื่องวิถีชีวิตเพื่อลดปริมาณคาร์บอน ที่เคยกล่าวถึงมากยิ่งขึ้น ซึ่งถ้าหากร่วมกันลงมือทำอย่างจริงจังก็จะทำให้ทุกคนกลายเป็น “ผู้ชนะ”

หากใครทำธุรกิจอยู่ เช่น ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัทก็คือผู้ชนะ เพราะสามารถมอบสิ่งที่แตกต่างให้กับลูกค้าได้ อีกทั้งจะมีภาพลักษณ์ที่ดีเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อมไปด้วย ส่วนลูกค้าหรือผู้บริโภคก็คือผู้ชนะเช่นกัน เพราะได้สิ่งที่ดีกว่า ประหยัดกว่า และในที่สุดสังคมก็เป็นผู้ชนะร่วมกันด้วย เป็นวิถีชีวิตที่ยั่งยืน และมีความสุขร่วมกันอย่างสมบูรณ์แบบ

Zero Energy House หรือ บ้านพลังงานเป็น 0 ใช้หลักการและวิธีการควบคุมอุณหภูมิภายในบ้านในแต่ละฤดูกาลให้เหมาะสม ด้วยการออกแบบเพื่อสร้างสภาวะอยู่สบายที่เรียกกันว่า Passive Design ซึ่งต้องเตรียมการออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม 

คือ การวางผังอาคารให้เหมาะสมโดยวางตามแนวทิศเหนือ-ใต้ การใช้ประโยชน์จากธรรมชาติและสภาพแวดล้อม เช่น ใช้ต้นไม้ และน้ำมาช่วยลดความร้อน ช่วยป้องกันเสียงและฝุ่น การใช้แสงธรรมชาติที่ช่วยประหยัดไฟ การเลือกวัสดุต้านทานความร้อน เป็นต้น 

นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะบางส่วนยังต้องมีการใช้เครื่องกลเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในส่วนที่ Passive Design ทำได้ไม่เพียงพอ

เช่น การเลือกใช้เครื่องปรับอากาศที่เหมาะสม และติดตั้งอย่างถูกต้อง ซึ่งเรียกกันว่า Active Design และประการสุดท้ายคือการมีระบบผลิตพลังงานใช้เองจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ หรือการนำพลังงานจากแสงอาทิตย์มาสร้างเป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้ภายในบ้าน เป็นต้น

เราสามารถนำแนวคิดเรื่องบ้านพลังงานเป็น 0 นี้มาใช้ในประเทศไทยได้ในโครงการต่างๆ ของภาครัฐและเอกชน ทั้งในรูปแบบของอาคารสำนักงาน บ้านพักอาศัย และคอนโดมิเนียม

ในเบื้องต้นอาจจะยังไม่ต้องทำจนถึงขั้นที่ลดได้ถึงศูนย์ แต่อาจตั้งเป้าหมายเพื่อให้ลดการใช้พลังงานลงได้ส่วนหนึ่ง เช่น ประมาณร้อยละ 20 ก่อน เป็นก้าวแรก 

แต่จากที่ยุ้ยได้ลองศึกษาร่วมกับทีมวิจัยจากศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บ้านพลังงานเป็น 0 สามารถช่วยประหยัดไฟได้มากถึงร้อยละ 38 ต่อเดือน หรือเทียบเท่ากับช่วยปลูกต้นไม้ 163 ต้นต่อปีเลยทีเดียว

แต่การที่จะหวังผลที่สมบูรณ์แบบนั้นคงใช้เวลาพอสมควร ยุ้ยเกรงว่าหลายๆ คนอาจจะหมดความพยายามในระหว่างทาง หรือไม่ก็อาจจะหลงลืมเป้าหมายระยะยาวที่ตั้งไว้ในตอนแรก หรือบางคนอาจจะหลงทิศแล้วหันไปทำนอกเรื่องจนเราไม่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ 

ยุ้ยเองจึงต้องมีหลักประกันที่จะทำให้ตัวเองไม่หมดความพยายาม ไม่หลงลืม ไม่หลงทิศทาง ด้วยสิ่งที่เรียกว่า “GRIT” ด้วยความเชื่อส่วนตัวที่ว่า สิ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิต ไม่ใช่ไอคิวหรือพรสวรรค์ แต่มันคือ GRIT

GRIT หรือในภาษาไทยเรียกกันว่า “วิริยะ” แปลว่าความเพียร ความพยายาม ความกล้าที่จะลงมือทำ เป็นแนวทางให้ดำเนินไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย หรือจุดประสงค์ หมายถึงการลงมือปฏิบัติทำงานที่ชอบที่รัก

ทำด้วยความพากเพียรและความพยายาม ทำด้วยความสนุก กล้าหาญ กล้าที่จะเผชิญอุปสรรค ความทุกข์ยาก โดยไม่ย่อท้อ ไม่สิ้นหวัง เดินหน้าไปเรื่อยจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย 

GRIT หรือวิริยะนี้จึงมักจะอยู่คู่กับความรักและมุ่งมั่น ที่เรียกกันว่า PASSION หรือฉันทะ นั่นเอง ซึ่งในชีวิตการทำงาน เราอาจจะสร้าง GRIT ขึ้นมาเป็นแผนภูมิหรือแผนผังไว้คอยเตือนสติเรา ใช้เป็นเสมือนเข็มทิศนำทางให้เราไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ และใช้ตรวจสอบว่าเราเข้าใกล้เป้าหมายมากขึ้นหรือยัง

ลองทำดูสิคะ แล้วร่วมเดินทางกับยุ้ยในกระบวนการลดคาร์บอน (Decarbonization) ไปด้วยกัน