เศรษฐกิจสีน้ำเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

เศรษฐกิจสีน้ำเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

ประเทศไทยมีชายฝั่งทะเลยาว 3,148 กม. มีป่าชายเลน 1.5 ล้านไร่ และมีประชากรในจังหวัดชายฝั่งทะเล ประมาณ 26 ล้านคน ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ

ที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน (UN Commission on Sustainable Development) ในปี พ.ศ. 2555 เห็นชอบในแนวคิดเรื่อง “Blue Economy” หรือ “เศรษฐกิจสีน้ําเงิน” 

เพื่อให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคชุมชน ได้ร่วมกันปรับเปลี่ยนแนวทางการดําเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมไปในทิศทางที่ให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการดูแลรักษาระบบนิเวศทางทะเลอย่างยั่งยืน

สำหรับประเทศไทยนั้น แนวคิดเรื่อง “เศรษฐกิจสีน้ำเงิน” คล้ายกับแนวคิดเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และแนวคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงการใช้และการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งหรือระบบนิเวศทางทะเลให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน

รศ.นิรมล สุธรรมกิจ  คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ในภาพรวมเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาของจังหวัดชายฝั่งทะเลของไทยที่จะก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจสีน้ำเงิน มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เกี่ยวกับการบริหารขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

ในการพัฒนาจังหวัด/ท้องถิ่นเข้าสู่เศรษฐกิจสีน้ำเงินได้ อย่างมีส่วนร่วมของประชาชน/ชุมชน และอย่างต่อเนื่อง ดังนี้

การบูรณาการข้อมูลเศรษฐกิจและทรัพยากรสีน้ำเงิน

เพื่อให้เห็นภาพเศรษฐกิจสีน้ำเงินที่ชัดเจน จำเป็นต้องมีการจัดทำฐานข้อมูลที่มีความละเอียด และเป็นระบบ โดยการจัดเก็บข้อมูลในระดับพื้นที่ เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจสีน้ำเงินมักจะเกิดในพื้นที่ชายฝั่งทะเล

ฐานข้อมูลดังกล่าว ต้องประกอบด้วย ฐานข้อมูลกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และ ฐานข้อมูลด้านทรัพยากร เพื่อใช้ในการติดตาม ประเมิน สภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

เศรษฐกิจสีน้ำเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

ปัจจุบันฐานข้อมูลด้านต่างๆ ยังคงกระจัดกระจายอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบในแต่ละหน้าที่ จำเป็นต้องมีหน่วยงานเจ้าภาพในการบูรณาการข้อมูลเข้าด้วยกัน

อาจสร้างเป็นระบบฐานข้อมูลออนไลน์ที่ทุกหน่วยงานสามารถเชื่อมโยงข้อมูลกันได้ในรูปแบบอิเล็กโทรนิกส์ โดยอาจจะทำให้รูปแบบคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสีน้ำเงินหลักๆ ได้แก่

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นต้น

นโยบายทางเศรษฐศาสตร์เพื่อจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีได้มีการระบุให้มีระบบเศรษฐศาสตร์และเครื่องมือทางการคลังที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบโดยผู้ใช้ประโยชน์ หรือต่อผู้ทำความเสียหายต่อทรัพยากร เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความยั่งยืน

สำหรับกรณีการส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจสีน้ำเงินที่ยั่งยืนนั้น การศึกษาครั้งนี้จึงขอเสนอให้มีการจัดเก็บภาษี 3 ประเภท คือ การจัดเก็บภาษีท่องเที่ยว ณ โรงแรมที่พัก เพื่อนำรายได้มาใช้ในการจัดการและบำรุงรักษาทรัพยากรทางธรรมชาติในพื้นที่ท่องเที่ยว

เศรษฐกิจสีน้ำเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

นอกจากนี้ควรพิจารณาปรับ “ค่าธรรมเนียมการเข้าอุทยานแห่งชาติ” โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่มีความเปราะบางจากการเข้าไปรบกวนของนักท่องเที่ยว ให้มีความเหมาะสมมากขึ้น

สะท้อนถึงต้นทุนในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการเข้าอุทยานที่เหมาะสม จะทำให้จำนวนผู้เยี่ยมชมอุทยานมีระดับเหมาะสมมากขึ้น

การจัดเก็บภาษีมลพิษทางน้ำจืดและน้ำทะเล โดยจัดเก็บเป็นอัตราต่อปริมาณมลพิษในน้ำที่ปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ภาษีมลพิษทางน้ำนี้จะกระตุ้นในผู้ก่อมลพิษคำนึงถึงการก่อมลพิษในกระบวนการผลิต และมีแรงจูงใจในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดมลพิษ เพื่อลดภาระภาษีมลพิษทางน้ำ

ทั้งนี้ขอเสนอให้ทาง กรมควบคุมมลพิษและกระทรวงการคลังควรพิจารณาทำการศึกษาแนวทางในการจัดเก็บภาษีมลพิษทางน้ำที่เหมาะสมต่อไป

การเก็บภาษีถุงพลาสติกหูหิ้ว เป็นนโยบายที่มีการนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก มีหลักฐานเชิงประจักษ์ถึงประสิทธิผลในการลดการใช้ถุงพลาสติก อีกทั้งยังมีสร้างรายได้ให้กับรัฐบาล เพื่อนำไปใช้ในกิจการด้านสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย

ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารทรัพยากรชายฝั่งมากยิ่งขึ้น

ภายใต้ พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัด (มาตรา 11 มาตรา 12 มาตรา 14)

เพื่อให้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยกำหนดให้มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ และมีผู้แทนภาคประชาชนหรือชุมชนชายฝั่งในจังหวัดนั้นๆ ร่วมด้วย

เศรษฐกิจสีน้ำเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

เนื่องจากชุมชนมักเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับทรัพยากรในท้องถิ่นของตนมากที่สุด เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญ ทำให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญในการรักษาฐานทรัพยากรเอาไว้

รัฐควรมีหน้าที่ส่งเสริมให้ชุมชนสามารถสร้างองค์กรขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรในชุมชน อย่างเป็นธรรม คนในชุมชนสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างทั่วถึง

การเปลี่ยนแปลงด้านงบประมาณ

เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย เพื่อการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่และนับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น

การจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมในแต่ละโครงการจึงต้องอาศัยเงินอุดหนุนจากรัฐบาลด้วยเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งกระบวนของบประมาณเพื่อทำโครงการมีความยุ่งยาก และอาจมีการเบิกจ่ายล่าช้าไม่ทันต่อการแก้ปัญหา

ดังนั้นเพื่อให้จังหวัด/ท้องถิ่นมีความสามารถในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีเงินงบประมาณที่เพียงพอ จำเป็นต้องพิจารณาถึงแหล่งรายได้ของท้องถิ่น ให้มีความเหมาะสมกับภาระหน้าที่ในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้มากขึ้น 

โดยควรมีอำนาจการจัดเก็บภาษีด้านสิ่งแวดล้อมและภาษีท่องเที่ยว ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งถือเป็นการกระจายอำนาจทางการคลังพร้อมๆ ไปกับอำนาจทางปกครอง เช่นกัน

เศรษฐกิจสีน้ำเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

การพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

ภาคการท่องเที่ยวสามารถนำเอาแนวทางปฏิบัติ เรื่องการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนของ The Global Sustainable Tourism Council มาปรับใช้ โดยกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ร่วมกันพัฒนา

เช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเลในรูปแบบของการอนุรักษ์ร่วมกับการเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน หรือการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ที่จะสามารถเสริมรายได้ให้กับชุมชนได้

โดยชุมชนสามารถรวมกลุ่มกันจัดทำเป็นโฮมสเตย์ เมื่อเกิดการพึ่งพาทรัพยากรทางทะเลเพื่อการท่องเที่ยวแล้ว ชุมชนก็จะเกิดความหวงแหน ดูแลรักษาทรัพยากรในท้องที่ เพื่อให้สามารถทำธุรกิจท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน.

เศรษฐกิจสีน้ำเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย