ทักษะแรงงานติดปีกทักษะสีเขียว คว้าโอกาสแห่งอนาคต

สวัสดีครับ ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทั้งก่อน และหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อกลางเดือนพ.ค. การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นนโยบายที่ได้รับการถกเถียง และวิพากษ์วิจารณ์กันค่อนข้างกว้างขวาง

โดยระดับของค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะสมนั้นยังเป็นเรื่องที่ต้องหาข้อสรุปต่อไปหลังการตั้งรัฐบาลใหม่ 

แต่อีกประเด็นสำคัญที่พ่วงมากับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และจำเป็นต้องนำมาพิจารณาคือ การพัฒนาทักษะแรงงานในสาขาที่จำเป็นสำหรับประเทศไทย หนึ่งในสายอาชีพซึ่งเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลกจนถึงขั้นขาดแคลนกันเลยทีเดียวคือ ตำแหน่งในงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Professionals)

การขาดแคลนแรงงานในสาขาสิ่งแวดล้อมนับว่าเป็นความท้าทายที่สำคัญ ความจริงจังของต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลภาวะ และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ มีมากเพียงใด ความต้องการมืออาชีพที่มีความเชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนเพื่อรับมือกับวิกฤตินี้ย่อมสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว องค์กรทุกแห่งต่างพยายามสรรหาและว่าจ้างบุคคลที่มีความรู้ และทักษะที่จำเป็นเพื่อให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนพันธกิจด้านความยั่งยืนขององค์กร

จากรายงานของ Global Green Skills Report 2022 ของ LinkedIn เว็บไซต์สำหรับการจัดหางานชื่อดังได้ให้ข้อมูลว่า การสรรหาบุคลากรในธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั่วโลกนั้นมีแนวโน้มเพิ่มเรื่อยๆ โดยอัตราการจ้างงานดังกล่าวเพิ่มขึ้นจาก 9.6% ในปี 2015 เป็นร้อยละ 13.3 ในปี 2021 (เติบโตขึ้น 6% ต่อปี) นอกจากนี้ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ยังได้เผยแพร่รายงานที่สอดคล้องกันด้วยว่า การจ้างงานแรงงานที่มีทักษะสีเขียวโดยเฉพาะประเทศในทวีปเอเชียอาจทะยานไปแตะที่ 14 ล้านตำแหน่งในปี 2573

นิยามของอาชีพสีเขียวนี้มีความหมายครอบคลุมตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแล รักษา และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม พร้อมส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนในเวลาเดียวกัน และกระจายไปยังภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่สำคัญ อาทิ ช่างเทคนิคด้านพลังงานหมุนเวียนซึ่งมีบทบาทสำคัญ  

       ในการติดตั้ง ใช้งาน และบำรุงรักษาแผงโซลาร์เซลล์ กังหันลม และระบบพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ผู้ตรวจสอบด้านพลังงานที่มีหน้าที่ประเมินรูปแบบการใช้พลังงานในอาคาร และแนะนำมาตรการประหยัดพลังงาน วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่สามารถออกแบบ และดำเนินการแก้ไขเพื่อลดมลพิษ และของเสีย รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรแบบยั่งยืนที่ส่งเสริมการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น โดยก่อนหน้านี้ Greenpeace เคยออกรายงานคาดการณ์ว่า เป้าหมายการผลักดันการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี 2593 ของไทย จะช่วยสร้างงานในอุตสาหกรรมพลังงานมากถึง 172,164 ตำแหน่ง

ยิ่งไปกว่านั้น การที่ประเทศไทยได้กำหนดทิศทางประเทศผ่านนโยบาย BCG หรือโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นเศรษฐกิจทฤษฎีใหม่ที่ผสานการพัฒนา 3 มิติหลักคือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน น่าจะเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันที่ช่วยสร้างการจ้างงานในอุตสาหกรรมสีเขียวอีกหลายตำแหน่งในอนาคต

อย่างไรก็ดี การสร้างบุคลากรที่มีความรู้ และทักษะแรงงานในอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนดังกล่าว ยังต้องคำนึงถึงความท้าทายที่สำคัญนอกเหนือจากเรื่องของเงินทุน และเทคโนโลยีที่ขาดแคลน นั่นคือ การสร้างงานที่เอื้ออำนวยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงตำแหน่งงานเหล่านี้ได้อย่างทั่วถึง และเท่าเทียม (Just Transition) โดยเฉพาะแรงงานกลุ่มเปราะบางและด้อยโอกาส

นอกจากนี้ การพัฒนาแรงงานเพื่อยกระดับทักษะที่มีให้ดีกว่าเดิม (Upskill) หรือ การสร้างทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานขึ้นมาใหม่ (Reskill) ผ่านระบบการฝึกอบรมที่ช่วยให้บุคลากรในประเทศที่เคยอยู่ในอุตสาหกรรมคาร์บอนสูงให้มีความรู้ความเข้าใจในอุตสาหกรรมสีเขียวนี้ นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อแรงงานของเราถึงพร้อมด้วยทักษะที่จำเป็น สิ่งนี้ก็จะกลายเป็นแต้มต่อของประเทศสำหรับการก้าวสู่อนาคตสีเขียว พร้อมช่วยปลดล็อกศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์เพื่อประสานพลัง และขับเคลื่อนทุกคนสู่ความยั่งยืนไปพร้อมกันครับ

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์