กฎเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ ESG ของสหภาพยุโรป

กฎเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ ESG ของสหภาพยุโรป

ESG ซึ่งย่อมาจาก สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) ยังคงเป็นกระแสที่ได้รับการจับตามองอย่างต่อเนื่อง ในการประชุมสุดยอดของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ชาติ หรือ G7 ที่ผ่านมา

ผู้นำประเทศกลุ่ม G7 แสดงการสนับสนุนการปฏิบัติตามเป้าหมายการลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของโลกภายใต้ความตกลงปารีส (Paris Agreement) รวมถึง การพัฒนามาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืนของ International Sustainability Standards Board หรือ ISSB

ISSB จัดตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก สมัยที่ 26 หรือ COP26 

โดยมีเป้าหมายในการพัฒนามาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของ IFRS (International Financial Reporting Standards) เพื่อเป็นมาตรฐานระดับนานาชาติเกี่ยวกับกฎเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนสำหรับประเทศต่างๆ นำไปปรับใช้ต่อไป 

ในครั้งนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอเกี่ยวกับกฎเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของสหภาพยุโรป หรือที่เรียกว่า Corporate Sustainability Reporting Directive หรือ CSRD
CSRD ใช้บังคับกับบริษัทในสหภาพยุโรป

รวมถึงบริษัทที่ไม่อยู่ในสหภาพยุโรปแต่มีรายได้ในสหภาพยุโรปเกินเกณฑ์ที่กำหนด และบริษัทที่มีหลักทรัพย์ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในสหภาพยุโรปที่เข้าข่าย CSRD 

โดยจะเริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 สำหรับบริษัทในสหภาพยุโรปที่มีขนาดใหญ่บางส่วน และบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ในสหภาพยุโรป และจะบังคับใช้กับบริษัทอื่นๆ ทั้งหมดที่อยู่ภายในขอบเขตของกฎเกณฑ์นี้ภายในวันที่ 1 มกราคม 2571

สำหรับบริษัทที่อยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎเกณฑ์นี้ จะต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องตามหลักการที่สหภาพยุโรปเรียกว่า "double-materiality"  กล่าวคือ บริษัทจะต้องรายงานทั้ง

  1. ผลกระทบของกิจกรรมของบริษัทต่อคนและสิ่งแวดล้อม 
  2. ปัจจัยเกี่ยวกับความยั่งยืนต่างๆ ที่มีผลต่อบริษัท

การเปิดเผยข้อมูลจะต้องพิจารณาจากทั้งมุมมองระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว และต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ของบริษัท ซึ่งรวมถึงการดำเนินงานของบริษัทเอง ผลิตภัณฑ์ และบริการของบริษัท ความสัมพันธ์ธุรกิจ และห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) หากมี

 

กฎเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ ESG ของสหภาพยุโรป

การเปิดเผยข้อมูลตาม CSRD นั้นจะต้องครอบคลุมหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับ ESG ต่างๆ เช่น การเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึง การบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

การปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทรัพยากรน้ำ และทรัพยากรทะเล การใช้ทรัพยากรและเศรษฐกิจหมุนเวียน มลพิษ ความหลากหลายทางชีวภาพ และระบบนิเวศน์

การเปิดเผยข้อมูลด้านสังคม และสิทธิมนุษยชน รวมถึง ข้อมูลเกี่ยวกับความเสมอภาคทางเพศ สภาพการทำงาน และการเคารพสิทธิมนุษยชน ตามนิยามของสหประชาชาติ และอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนของสหภาพยุโรป

การเปิดเผยข้อมูลด้านธรรมาภิบาล รวมถึง ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการที่ฝ่ายบริหารหรือฝ่ายกำกับดูแลจัดการปัจจัยด้านความยั่งยืน การบริหารความเสี่ยง ระบบควบคุมภายในเพื่อควบคุมการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน จริยธรรมทางธุรกิจ และการล็อบบี้ 

สำหรับขอบเขตการบังคับใช้ของ CSRD กับบริษัทนอกสหภาพยุโรปนั้น CSRD จะใช้บังคับกับบริษัทนอกสหภาพยุโรปที่มีรายได้มากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด และมีสาขาหรือบริษัทลูกในสหภาพยุโรป คาดว่ามาตรฐานเรื่องนี้จะนำมาใช้ในเดือนมิถุนายน 2567 

อย่างไรก็ตาม มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลสำหรับบริษัทนอกสหภาพยุโรปนั้นจะแตกต่างออกไป โดยคาดว่าจะเน้นการเปิดเผยเกี่ยวกับผลกระทบของบริษัทต่อคน และสิ่งแวดล้อม มากกว่าความเสี่ยง และโอกาสด้านความยั่งยืนที่บริษัทเผชิญอยู่ ร่างของมาตรฐานเหล่านี้ยังไม่ได้ถูกเปิดเผยในขณะนี้ 

สำหรับบริษัทไทย ก็ควรจะพิจารณาว่ามีบริษัทลูกหรือบริษัทในกลุ่มของตนที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตาม CSRD หรือไม่ นอกจากนี้ บริษัทที่ไม่มีการขายหรือกิจกรรมโดยตรงในสหภาพยุโรป แต่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ของบริษัทในสหภาพยุโรป ก็ควรติดตามความเคลื่อนไหวของ CSRD ต่อไป 

เนื่องจากมีโอกาสที่จะเข้าข่ายมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความยั่งยืนโดยอ้อม เช่น บริษัทลูกค้าในสหภาพยุโรปอาจเรียกร้องให้บริษัทไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่า (value chain)  ทำการตรวจสอบและเปิดเผยข้อมูลเรื่องเกี่ยวกับความยั่งยืนต่างๆ 

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์