2 มหาเศรษฐีออสซี่ ร่วมทุนโครงการส่ง ‘ไฟฟ้าโซลาร์’ ข้ามทวีปไปสิงคโปร์

2 มหาเศรษฐีออสซี่ ร่วมทุนโครงการส่ง ‘ไฟฟ้าโซลาร์’ ข้ามทวีปไปสิงคโปร์

สองมหาเศรษฐีรวยที่สุดในออสเตรเลียฝันไกล ทุ่มลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาทในโครงการส่งออกไฟฟ้าข้ามทวีป จากออสเตรเลียสู่เอเชีย จะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด

เมื่อไม่นานมานี้ แอนดรูว์ ฟอร์เรสต์ (Andrew Forrest) ผู้ก่อตั้งบริษัทสินแร่เหล็กของออสเตรเลีย Fortescue Metals Group  และไมค์ แคนนอน-บรูคส์ (Mike Cannon-Brookes) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทซอฟต์แวร์  Atlassian

 

2 มหาเศรษฐีออสซี่ ร่วมทุนโครงการส่ง ‘ไฟฟ้าโซลาร์’ ข้ามทวีปไปสิงคโปร์

-แอนดรูว์ ฟอร์เรสต์ ผู้ก่อตั้งบริษัทสินแร่เหล็กของออสเตรเลีย Fortescue Metals Group (เครดิต: AFP) -

 

สองมหาเศรษฐีรวยที่สุดในออสเตรเลีย เข้าร่วมการระดมทุนจำนวน 210 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือราว 4,800 ล้านบาท ผ่านบริษัทเอกชนของตน สำหรับโครงการใหญ่ที่ชื่อว่า “The Sun Cable” ในการส่งออกกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากแสงอาทิตย์ จากออสเตรเลียให้สิงคโปร์ ผ่านสายเคเบิลใต้ทะเล

จากข้อมูลอันดับมหาเศรษฐีในออสเตรเลียของหนังสือพิมพ์ Australian Financial Review ปี 2564 ระบุว่า “ฟอร์เรสต์” รั้งอันดับมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในออสเตรเลีย และ “แคนนอน-บรูคส์” รวยที่สุดเป็นอันดับ 2

การมีส่วนร่วมของ 2 มหาเศรษฐีออสเตรเลียในโครงการระดับยักษ์เช่นนี้ สะท้อนว่าพวกเขาสนใจที่จะมีส่วนช่วยให้ทั่วโลกเปลี่ยนผ่านไปสู่ “พลังงานยั่งยืน” ถึงแม้ว่าจากตัวเลขการลงทุนที่เปิดเผยของทั้งคู่นั้น จะยังสรุปไม่ได้ว่า โครงการที่คาดว่ามีมูลค่ากว่า 30,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือราว 690,000 ล้านบาท สุดท้ายแล้วจะได้รับเงินทุนสนับสนุนเพียงพอหรือไม่

ฟอร์เรสต์ กล่าวว่า วิสัยทัศน์ของโครงการ Sun Cable จะพลิกโฉมความสามารถออสเตรเลียให้กลายเป็นผู้นำโลกด้านการผลิตและส่งออกกระแสไฟฟ้าหมุนเวียน รวมถึงบรรลุการกำจัดคาร์บอนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลจนเหลือศูนย์

“การเพิ่มทุนในโครงการดังกล่าว ถือเป็นย่างก้าวสำคัญ” ฟอร์เรสต์เสริม

ส่วน แคนนอน-บรูคส์ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ เคยล้มเหลวในความพยายามซื้อกิจการ AGL Energy ผู้ผลิตพลังงานเบอร์ 1 ของออสเตรเลีย พร้อมให้ออสเตรเลียเลิกใช้พลังงานฟอสซิล มองว่า การระดมทุนนี้ จะทำให้ออสเตรเลียตระหนักถึงศักยภาพการส่งออกพลังงานหมุนเวียนของประเทศมากยิ่งขึ้น

 

2 มหาเศรษฐีออสซี่ ร่วมทุนโครงการส่ง ‘ไฟฟ้าโซลาร์’ ข้ามทวีปไปสิงคโปร์

- ไมค์ แคนนอน-บรูคส์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทซอฟต์แวร์  Atlassian (เครดิต: AFP) -

โครงการ Sun Cable ระบุรายละเอียดว่า สายส่งพลังงานออสเตรเลีย-เอเชีย คาดว่าน่าจะเริ่มต้นก่อสร้างได้ในปี 2567 และน่าจะส่งพลังงานไปสิงคโปร์เป็นครั้งแรกได้ในปี 2570 โดยเป็นการส่งพลังงานจากโรงงานโซลาร์เซลล์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในรัฐนอร์เทิร์นเทร์ริทอรีของออสเตรเลีย ผ่านสายเคเบิลใต้ทะเลเป็นระยะทางกว่า 5,000 กม.สู่สิงคโปร์และที่อื่น ๆ

ขณะเดียวกัน โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานของสิงคโปร์สูงสุดถึง 15% และเมื่อเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว อินโดนีเซียอนุญาตให้เริ่มการสำรวจวางสายเคเบิลใต้ทะเลได้ทันที หลังจากที่ Sun Cable ตกลงเข้าลงทุนในอินโดนีเซียเป็นจำนวน 2.5 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 85,000 ล้านบาท

เดวิด กริฟฟิน (David Griffin) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอโครงการ Sun Cable ให้ความเห็นว่า การเพิ่มทุนดังกล่าว จะทำให้สามารถส่งพลังงานโซลาร์หมุนเวียนจากออสเตรเลียไปยังสิงคโปร์ได้ สร้างความล้ำสมัยให้โครงการพลังงานระดับหลายกิกะวัตต์อื่น ๆ รวมถึงสนับสนุนความก้าวหน้าให้กับสินทรัพย์โครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศด้วย

เมื่อปี 2562 ฟอร์เรสต์และแคนนอน-บรูคส์ ได้ร่วมกันอัดฉีดเงินทุนเข้าโครงการนี้เป็นจำนวนไม่ถึง 50 ล้านดอลลาร์ หรือไม่ถึง 1,700 ล้านบาท โดยทางโครงการไม่ได้ระบุว่าแต่ละคนสนับสนุนเงินรอบล่าสุดนี้จำนวนเท่าใด

เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2566 จากสำนักข่าว Financial Review ระบุว่า การยื่นข้อเสนอลงทุนรอบสุดท้ายของโครงการเคเบิลใต้ทะเลนี้ ถูกเลื่อนจากสิ้นเดือน เม.ย. เป็นวันที่ 23 พ.ค.แทน เนื่องจากเกิดความเห็นต่างในโครงการระหว่าง 2 มหาเศรษฐีแคนนอน-บรูคส์กับฟอร์เรสต์

ฝ่ายแคนนอน-บรูคส์ต้องการให้โครงการดำเนินต่อโดยการวางสายส่ง 4,200 กม.สู่สิงคโปร์ และขายชุดพลังงานจากฟาร์มโซลาร์ 20 กิกะวัตต์ และแบตเตอรี่ 42 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมง

ขณะที่ฟอร์เรสต์ต้องการให้โรงงานมุ่งเน้นการจ่ายพลังงานสำหรับพลังงานไฮโดรเจนสีเขียว และอุตสาหกรรมท้องถิ่น

จอร์เจียส คอนสแตนตินู (Georgios Constantinou) อาจารย์อาวุโสด้านระบบพลังงานแห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ของออสเตรเลีย กล่าวว่า จากความยาวราว 5,000 กม.ของสายเคเบิ้ลใต้ทะเลเพียงอย่างเดียว ทำให้โครงการนี้ "มีความท้าทายสูง"

"ท้ายที่สุด การเชื่อมต่อไปยังออสเตรเลียจะยิ่งยุ่งยากมากกว่าและราคาสูงกว่าการเชื่อมต่อไปที่อื่น ๆ ทั่วโลก จากระดับความลึกของทะเล และช่องแคบติมอร์ความยาว 2 กม. ก็เป็นอุปสรรคสำคัญ"

อ้างอิง: reutersafrreneweconomyasiaenergyvoice