'เซ็นทรัล ทำ' ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ สร้างรากฐานชุมชน สู่การท่องเที่ยวยั่งยืน

'เซ็นทรัล ทำ' ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ สร้างรากฐานชุมชน สู่การท่องเที่ยวยั่งยืน

'เซ็นทรัล ทำ' เดินหน้าลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ผ่าน 6 แนวทาง มุ่งดูแลสิ่งแวดล้อม สู่การท่องเที่ยวยั่งยืน กระจายประโยชน์ทั้ง ระดับปัจเจก ระดับชุมชน และ ระดับประเทศ

การพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ภายใต้ 'เซ็นทรัล ทำ' โดย กลุ่มเซ็นทรัล ถือเป็นการเดินหน้าเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ผ่านการให้โอกาสทุกคนในสังคมเข้าถึงการศึกษา เกิดศูนย์การเรียนรู้ ส่งเสริมอาชีพคนพิการ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้มั่นคง แบ่งปันความรู้ทักษะต่างๆ สนับสนุนช่องทางสื่อสารทางการตลาด พร้อมรักษาและดูแลสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่โลกสีเขียว ขับเคลื่อนทุกภาคส่วนสู่การท่องเที่ยวยั่งยืน 

 

จากความโดดเด่นในหลายโครงการที่ผ่านมา นับเป็นการขับเคลื่อนด้วยโจทย์ใหญ่ของสังคม คือ 'การลดความเหลื่อมล้ำ' ผ่าน 6 แนวทางเพื่อความยั่งยืน ได้แก่

1) ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน สร้างอาชีพ และบรรเทาสาธารณภัย

2) ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงโอกาส อย่างเท่าเทียม

3) พัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์

4) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนและการบริหารจัดการขยะมูลฝอย

5) ลดการสูญเสียอาหารในกระบวนการผลิตและลดปริมาณขยะอาหาร

และ 6) ฟื้นฟูสภาพอากาศ ลดมลภาวะ และผลักดันการใช้พลังงานหมุนเวียน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

ดร.ประสาร ไตรรัตน์ววรกุล ประธานกรรมการ บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจเป็นโจทย์ใหญ่ สิ่งที่สามารถทำได้ คือ การกระจายประโยชน์ทั้ง “ระดับปัจเจก” อาทิ พัฒนาทักษะแรงงาน “ระดับชุมชน” เช่น การสร้างเศรษฐกิจฐานราก หรือ “ระดับประเทศ” เช่น ระบบรัฐสวัสดิการ ระบบสาธารณสุขถ้วนหน้า เบี้ยคนชรา ทั้งนี้ บทบาทธุรกิจกลุ่มเซ็นทรัล คือ ระดับปัจเจกและชุมชน โดยคำนึงถึง 3 องค์ประกอบ คือ การพึ่งพาตนเอง การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และการเรียนรู้และพัฒนาด้านต่างๆ

 

'เซ็นทรัล ทำ' ดำเนินการภายใต้การร่วมมือจากทุกภาคส่วน ด้วยความเชื่อใน 'พลังของการร่วมลงมือทำ' การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการตั้งใจทำ และมุ่งมั่นที่จะทำในระยะยาว จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น สามารถสร้างสังคมที่ดีกว่าเดิม ซึ่งเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนองค์กรให้ยั่งยืน โดย 7 โครงการที่เป็นไฮไลท์ ได้แก่

 

จริงใจ มาร์เก็ต จังหวัดเชียงใหม่

ตลาดเกษตรอินทรีย์แห่งแรกของกลุ่มเซ็นทรัล ที่รวบรวมทั้ง อาหาร (Food) ศิลปะและงานออกแบบ (Art & Design) และงานฝีมือ (Craft) มีผู้ประกอบการท้องถิ่นและเกษตรกรนำผักผลไม้ มาจำหน่ายกว่า 15 ชุมชน 70 ครัวเรือน และมีผู้ประกอบการกว่า 250 ราย ที่มาจำหน่ายสินค้าทำมืออัตลักษณ์ไทยและอาหารปลอดภัยพร้อมทาน สร้างเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวให้กับเศรษฐกิจไทยได้กว่า 40 ล้านบาทต่อปี

 

 

ศูนย์การเรียนรู้ผ้าทอนาหมื่นศรี จังหวัดตรัง

เริ่มต้นในปี 2557 ซึ่งกลุ่มเซ็นทรัล จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรม สนับสนุนก่อสร้าง 'พิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี' เพื่อรวบรวมผ้าทอมือโบราณที่มีประวัติยาวนานกว่า 200 ปี พร้อมอบรมมัคคุเทศก์ให้แก่เยาวชน จัดทำเส้นทางจักรยานท่องเที่ยวชุมชน สู่ต้นแบบของศูนย์การเรียนรู้การอนุรักษ์เชิงวัฒนธรรม โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนกว่า 7.3 ล้านบาท และมีจำนวนสมาชิกชุมชนที่เข้าร่วม 155 คน

 

ศูนย์การเรียนรู้พุทธนิเวศเกษตรอินทรีย์ ไร่เชิญตะวัน จังหวัดเชียงราย

การท่องเที่ยวชุมชนเชิงวิถีเกษตรอินทรีย์ โดยร่วมมือกับพระเมธีวชิโรดม (ท่าน ว.วชิรเมธี) ต่อยอด โครงการพุทธนิเวศเกษตรอินทรีย์ ไร่เชิญตะวัน สู่ ‘ต้นแบบศูนย์การเรียนรู้ด้านนวัตกรรมการทำเกษตรอินทรีย์’ พัฒนาวิสาหกิจชุมชน เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม บนพื้นที่ 2 ไร่ และในปี 2566 เซ็นทรัล ทำ ตั้งเป้าพัฒนาพื้นที่เพิ่มเติม 13 ไร่ แบ่งเป็น ปลูกไม้ผล พืชเศรษฐกิจ 3 ไร่ และปลูกผักสวนครัว สมุนไพรพื้นบ้าน 10 ไร่

 

ชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีชีวิตยั่งยืนแม่ทา อ.แม่ออน จังหวัดเชียงใหม่

การท่องเที่ยวชุมชนเชิงวิถีเกษตรอินทรีย์ โดยจับมือกับ มูลนิธิสายใยแผ่นดิน และหน่วยงานต่างๆ ดำเนินโครงการพื้นที่วิถีชีวิตยั่งยืนแม่ทา แลกเปลี่ยนความรู้กับชุมชน สู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้ และจัดตั้ง ‘วิสาหกิจชุมชนแม่ทา ออร์แกนิค’ จากการรวมกลุ่มของเกษตรรุ่นใหม่ 20 ราย พัฒนาการท่องเที่ยววิถีชุมชน การจัดทำที่พักโฮมสเตย์ ขยายสู่สหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา จำกัด ที่มีสมาชิกประมาณ 80 ราย และมีการสร้างเครือข่ายสมาชิกเพิ่มเติม 10% ต่อปี สร้างรายได้ให้ชุมชนในปี 2565 มากกว่า 5 ล้านบาท

 

กาแฟอินทรีย์ รักษาป่าภูชี้เดือน จังหวัดเชียงราย

การท่องเที่ยวชุมชนเชิงนิเวศ ชูจุดเด่นกาแฟอาราบิก้าออร์แกนิคบริสุทธิ์จากธรรมชาติ พลิกฟื้นเขาหัวโล้นจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวและสารเคมี สู่การส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟอินทรีย์รักษาป่าภูชี้เดือน ปลูกกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าแท้ ทริปปิก้า มัลเดอริ่ง จากต่างประเทศ บนพื้นที่กว่า 1,500 ไร่ และ ในปี 2565 ที่ผ่านมา สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนมากกว่า 6 ล้านบาท มีสมาชิกเข้าร่วมกว่า 84 ราย

 

ชุมชนผ้าย้อมครามบ้านกุดจิก จ.สกลนคร

การท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรม โดยร่วมมือกับ กรมพัฒนาชุมชน พัฒนาและต่อยอดทักษะความรู้ชุมชนและสมาชิก ‘กลุ่มทอผ้าบ้านกุดจิก’ ชูความโดดเด่น ที่เป็นภูมิปัญญาอันเป็นเอกลักษณ์การทอผ้า การปลูกฝ้าย ย้อมคราม ที่สืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น พัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมการตลาดและช่องทางการจำหน่าย พัฒนาเป็นสินค้าภายใต้แบรนด์ good goods โดยในปี 2565 สร้างรายได้ให้กับชุมชน 1 ล้านบาท มีคนในชุมชนเข้าร่วมกว่า 30 คน

 

ศูนย์การเรียนรู้พัฒนาผลผลิตการเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชน บ้านเทพพนา อ.เทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ

การท่องเที่ยวชุมชนเชิงวิถีเกษตรอินทรีย์ เป็น 1 ใน 7 ของผู้ปลูกอะโวคาโด พันธุ์แฮสส์ในประเทศไทย ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะครบวงจรการ ขยายผลเครือข่ายผู้ปลูกอะโวคาโดกว่า 1,000 ราย เพิ่มพื้นที่สีเขียวทดแทนป่าเสื่อมโทรม 2,000ไร่ ในปี 2565 ที่ผ่านมา ชุมชนมีสมาชิกกว่า 400 ราย มีรายได้กว่า 3 ล้านบาท ตั้งเป้าเพิ่มสมาชิกปีละ 100 ราย

 

การทำธุรกิจเพื่อสังคมต้องคำนึงถึงการสร้างค่านิยมร่วมหรือคุณค่าร่วม CSV (Creating Shared Value) เพราะการสร้างคุณค่าร่วมเป็นสิ่งที่คำนึงถึงทุกภาคส่วน พร้อมนำสิ่งที่ธุรกิจมีและเชี่ยวชาญ สนับสนุนให้สังคมเติบโต ภายใต้สิ่งแวดล้อมสีเขียว ดังที่ ดร.ประสาร ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจ คือ การสร้างคุณค่าร่วมกันที่สำคัญต้องไม่พูดว่า ธุรกิจเพื่อสังคม คือ กิจกรรมพิเศษที่แตกต่างจากการทำธุรกิจปกติเพราะมันคือเรื่องเดียวกัน