กระจายอำนาจแบบบาหลี บริหารชุมชนแบบนาขั้นบันได

กระจายอำนาจแบบบาหลี บริหารชุมชนแบบนาขั้นบันได

ใกล้เลือกตั้งแล้ว คนพูดกันมากถึงการกระจายอำนาจ ผมได้มีโอกาสไปเที่ยวบาหลีในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่มาก นอกจากธรรมชาติและสถาปัตยกรรมที่สวยงามแล้ว การบริหารชุมชนแบบบาหลีนั้นยังน่าสนใจไม่แพ้กัน

ประวัติศาสตร์การแพร่ขยายของศาสนาอิสลามมายังอินโดนีเซีย โดยเฉพาะบนเกาะชวาที่คนบนเกาะแต่ก่อนนับถือเทพเจ้าหลายองค์ฮินดู พราหมณ์ กระทั่งการเข้ามาของอิสลามจนทำให้จำนวนผู้บูชาเหล่าพระเจ้าลดลงและถอยร่นจนกระทั่งอพยพข้ามช่องแคบเล็กๆและตั้งถิ่นฐานใหม่บนเกาะเล็กๆ ทางตะวันออกของชวา ที่ชื่อว่าเกาะบาหลี

สิ่งที่น่าสนใจนอกเหนือไปจากภูมิประเทศ ธรรมชาติที่สวยงาม ทั้งทะเล ป่าไม้ ภูเขา นั่นคือวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมนี่เอง ที่ทำให้บาหลีเพิ่มความน่าสนใจทั้งในแง่ของ Soft power มากมาย ไล่เรียงไปตั้งแต่ สถาปัตยกรรม การแต่งกาย ประเพณี อาหาร ซึ่งก็หลอมรวมกันให้บาหลีกลายเป็นหนึ่งในเกาะในฝันของหลายคน

กระจายอำนาจแบบบาหลี บริหารชุมชนแบบนาขั้นบันได

เพราะบาหลีเป็นเกาะที่มีที่ราบไม่มาก แต่มีภูเขามากมาย จึงทำให้การจัดการน้ำแบบซูบัค และนาขั้นบันได มีความสำคัญและถือเป็นนวัตกรรมในยุคโบราณ น้ำจืดบนเกาะที่มีความชื้นสูงนี้ถูกเก็บในรูปแบบของทะเลสาบ น้ำใต้ดิน ลำธารและน้ำตกบนภูเขาก็ทำหน้าที่เชื่อมต่อแหล่งน้ำจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ

สิ่งที่น่าสนใจที่สุดในเชิงการจัดการน้ำแบบซูบัคคือ การแบ่งสรรผลประโยชน์อย่างชัดเจน ลงตัว และมีกลไกในการจัดการความขัดแย้ง กล่าวคือ น้ำจะถูกจัดสรรจากชุมชนต้นน้ำผ่านวัดฮินดูพราหมณ์ตั้งแต่สมัยโบราณ วัดจึงเป็นศูนย์กลางการแบ่งผลประโยชน์ การจัดการข้อขัดแย้ง ประเพณีต่างๆ รวมไปถึงการตัดสินใจจะทำอะไรก็ล้วนมาจากที่ประชุมของวัด

พัฒนาต่อมาด้วยการจัดการน้ำจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำด้วยนาขั้นบันได ซึ่งยากต่อการเอาเปรียบเพราะมีกฎเกณฑ์ระเบียบปฎิบัติที่ชัดเจน อาทิ การเลือกปลูกพืชต้องเป็นชนิดเดียวกัน เพื่อป้องกันการระบาดของศัตรูพืช การแบ่งสรรน้ำอย่างเหมาะสม พื้นที่มากก็จะได้รับรูระบายน้ำเข้าไร่มาก และก็มีระบบป้องกันการเอาเปรียบกักตุนน้ำของไร่ที่อยู่สูงกว่าไปยังไร่ที่อยู่ด้านล่างเขา

มีคณะกรรมการตรวจไร่อย่างละเอียด มีการประชุมอย่างสม่ำเสมอ และมีบทลงโทษกับผู้ที่ผ่าฝืนมติที่ประชุมอย่างชัดเจน จึงทำให้มองไปทางไหน ไม่ว่าจะยอดหรือตีนเขาก็เขียวขจีอุดมไปด้วยธัญญาหาร

การแบ่งสรรน้ำซูบัคตั้งแต่สมัยโบราณอายุเกิน 1,000 ปีนี่เองที่ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ผสานไปกับประเพณีที่มีวัดของชุมชนเป็นศูนย์กลางที่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างมาก จึงเอื้อให้บาหลีน่าจะเป็นหนึ่งในตัวอย่างของการบริหารจัดการภายในชุมชมที่ดี ชุมชนจะดูแลชุมชนของตัวเองด้วยตัวเอง มีแม้กระทั่งตำรวจจราจรหรือหน่วยที่ดูแลรักษาความสงบภายในชุมชนจากคนในชุมชนเอง

การดูแลชุมชนด้วยชุมชนเองแต่โบราณนี้ อาจมองได้ว่าเป็นระบบการกระจายอำนาจในปัจจุบัน ที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อชุมชนของตน ซึ่งรัฐบาลกลางเองก็เข้าใจยอมรับและไม่แทรกแซง เรียกได้ว่าเป็นภาระกับรัฐบาลกลางน้อยมาก ชุมชนจะตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของชุมชน อาทิ การเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ อาทิ ค่าเข้าวัด ไปจนกระทั่งค่าผ่านทางเข้าชุมชน ซึ่งก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละชุมชุน เรียกได้ว่ามีทั้งข้อดีและเสีย

บาหลี จึงเป็นหนึ่งตัวอย่างที่ชุมชนมีความเข้มแข็ง มีความสามารถในการจัดการบริหารทรัพยากรที่มีค่าในชุมชน รวมไปถึงการจัดสรรผลประโยชน์และข้อขัดแย้ง โดยมีการเพาะปลูกและระบบการจัดการน้ำแบบนาขั้นบันไดเป็นตัวอย่างและเวทีเพื่อผสานผลประโยชน์

ชุมชนจึงมีความสามัคคี และสามารถคงเอกลักษณ์วัฒนธรรมเดิมไว้ได้ พร้อมไปกับการพัฒนาเพื่อตอบรับการโลกที่เปลี่ยนแปลงไปสมควรน่าเอามาเป็นกรณีศึกษา