ส่องปริมาณการปล่อยคาร์บอนในไทยรอบ 1 ปี อุตสาหกรรมใดทำลายโลกมากกว่ากัน

ส่องปริมาณการปล่อยคาร์บอนในไทยรอบ 1 ปี อุตสาหกรรมใดทำลายโลกมากกว่ากัน

สนพ. เผยปริมาณการปล่อยคาร์บอน ปี 2565 จากการใช้พลังงานของประเทศไทยอยู่ที่ 247.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 1.5% จากปัจจัยเศรษฐกิจประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยภาคการขนส่ง มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงสุดที่ 79.6 ล้านตัน 

Key Points 

  • การปล่อยคาร์บอนปี 2565 จากการใช้พลังงานของประเทศไทยอยู่ที่ 247.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.5%
  • เศรษฐกิจประเทศฟื้นดันภาคการขนส่งปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงสุด 79.6 ล้านตัน
  • การปล่อยคาร์บอนไทยปี 2563 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ภูมิภาคเอเชีย ประเทศสหรัฐ จีน 

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากการใช้พลังงาน ปี 2565 พบว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการใช้พลังงานของประเทศไทยอยู่ที่ระดับ 247.7 ล้านตันคาร์บอน ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยในภาคขนส่งและภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ในขณะที่ภาคการผลิตไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรมมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนลดลง 

ทั้งนี้ สอดคล้องกับการใช้พลังงานของประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) คลี่คลายลง ทำให้เกิดความต้องการสินค้าและการเดินทางที่มากขึ้น อีกทั้งจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและบริการหลังการผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดฯ ในช่วงต้นปี 2565 และการประกาศยกเลิกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ก็เป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้เกิดการพลังงานเพิ่มขึ้น

นายวัฒนพงษ์ กล่าวว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 พบว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยในไตรมาสที่ 4 ขยายตัว 1.4% ซึ่งชะลอตัวลงจากการขยายตัว 4.6% ในไตรมาสก่อน เมื่อรวมทั้งปี 2565 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.6% โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 1.5% ในปี 2564 

ทั้งนี้ ด้านการผลิตในสาขาเกษตรกรรมและสาขาก่อสร้างกลับมาขยายตัว ส่วนในสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาการขายส่ง ขายปลีก และการซ่อมแซมยานยนต์และจักรยานยนต์ รวมถึงสาขาขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าขยายตัวในเกณฑ์ดี ในขณะที่สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง โดยปัจจัยดังกล่าวได้ส่งผลต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการใช้พลังงาน ดังนี้  

  • ภาคการขนส่ง มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนอยู่ที่ 79.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 14.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน 
  • ภาคอุตสาหกรรม มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนอยู่ที่ 66.5 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อน 6.7% 
  • ภาคการผลิตไฟฟ้า มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนอยู่ที่ 87.9 ล้านตัน ลดลง 3.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน 
  • ภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ได้แก่ ภาคธุรกิจและครัวเรือน จะมาจากการใช้น้ำมันสำเร็จรูปเพียงอย่างเดียว มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ รวม 13.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.4%

นายวัฒนพงษ์ กล่าวว่า สำหรับการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการใช้พลังงานแยกรายชนิดเชื้อเพลิงในปี 2565 พบว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนจากน้ำมันสำเร็จรูปมีสัดส่วนการปล่อยสูงที่สุดอยู่ที่ 42% รองลงมาคือ ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน/ลิกไนต์ มีสัดส่วน 30% และ 28% ตามลำดับ 

ทั้งนี้ การปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.2% ในขณะที่การปล่อยก๊าซคาร์บอน จากการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ และก๊าซธรรมชาติ ลดลง 9.0% และ 3.1% ตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ และก๊าซธรรมชาติของประเทศไทยในปี 2565 ที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน 

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบการปล่อยก๊าซคาร์บอน ต่อการใช้พลังงานของประเทศไทยเทียบกับต่างประเทศ จากข้อมูลของ International Energy Agency (IEA) ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ในปี 2563 ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซ คารบอนต่อการใช้พลังงานเฉลี่ยอยู่ที่ 2.03 พันตัน ต่อการใช้พลังงาน 1 KTOE ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ภูมิภาคเอเชีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศจีน ซึ่งอยู่ที่ 2.29  2.28  2.11 และ 2.90 พันตัน ต่อการใช้พลังงาน 1 KTOE ตามลำดับ 

"ประเทศไทยมีนโยบายด้านพลังงานที่คำนิงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่าง ๆ ที่เป็นพลังงานสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงทำให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ซึ่งจะช่วยทำให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการลดปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนตามเป้าหมายของการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศได้"