“แอร์บัส”พาอนาคตพบปัจจุบัน หนุนอุตฯการบินมุ่งเป้าหมาย“เน็ต ซีโร่”

“แอร์บัส”พาอนาคตพบปัจจุบัน  หนุนอุตฯการบินมุ่งเป้าหมาย“เน็ต ซีโร่”

“โลกเล็กลง" ขณะเดียวกัน "โลกกำลังร้อนขึ้น” ปรากฎการณ์ทั้งสองสิ่งนี้เกิดขึ้น เพราะ“การเดินทาง”ซึ่งทำหน้าที่เป็นเครื่องมือการเชื่อมโยงโลกและผู้คนให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น เพราะ“การบิน”เป็นวิธีการเดินทางระยะไกลที่สำคัญและจำเป็นในปัจจุบันและยิ่งเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

แต่การขนส่งทางอากาศหรือการบินนั้นมีอัตราการปล่อยคาร์บอน ถึง 2.5 % จากกิจกรรมทั้งหมดของมนุษย์ 

ปิแอร์ อังเดร หัวหน้าผู้แทนบริษัท แอร์บัส ประเทศไทย ร่วมปาฐกถาในงานPTT Group Tech & Innovation Day จัด โดย บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ว่า อุตสาหกรรมการบินจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดคล้องกับบทบาทจากนี้ ที่ความจำเป็นของการเดินทางจากซีกโลกหนึ่งไปยังอีกซีกโลกหนึ่งสำคัญมากขึ้น ขณะเดียวกันการบินก็จะต้องเร่งการมีบทบาทลดปัญหา “โลกร้อน”ด้วยการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนจากอุตสาหกรรมการบินลง ซึ่งมีเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์หรือ Net Zero ในปี 2050 

“เครื่องบินที่ทำการบินปัจจุบันส่วนใหญ่ยังมีการปล่อยคาร์บอนค่อนข้างสูง แม้ทุกภาคส่วนทั้งผู้ผลิตอย่างแอร์บัส และพันธมิตรที่สำคัญอย่างการบินไทย หรือแม้แต่ปตท. ซึ่งมีความพยายามร่วมกันที่จะทำการบินในรูปแบบการปล่อยคาร์บอนให้น้อยที่สุด จะทำงานอย่างเต็มที่แล้ว แต่การทำงานควรแบ่งเป็นส่วนๆ เหมือนเมนูลาซานยาที่มีความแตกต่างของส่วนผสมในแต่ละชั้น  เช่น ชีส ซอส และเนื้อสัตว์ สะท้อนการลดคาร์บอนจากการบินที่ต้องทำแต่ละเรื่องควบคู่กันไป ”

ทั้งนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายNet Zero ในปี 2050 จะต้องทำงาน 4 ด้านควบคู่กันไป ได้แก่ 1.การพัฒนาเครื่องบินรุ่นใหม่ๆที่เป้าหมายสูงสุดคือการใช้พลังงานสะอาด ปล่อยคาร์บอนน้อยลง โดยเครื่องบินรุ่นใหม่ล่าสุดตอนนี้ สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ราว 25%  ซึ่งเป้าหมายในอนาคตคือการไม่ปล่อยคาร์บอนเรย นอกจากนี้ การบรรทุกผู้โดยสารได้มากขึ้นก็เป็นอีกแนวทางพัฒนาเครื่องบินรุ่นใหม่ ทำให้เมื่อคำนวนปริมาณคาร์บอนจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงจะลดลงเมื่อเทียบสัดส่วนต่อคนต่อเที่ยวบิน

2. การดิสรัปชั่นทางเทคโนโลยี การพัฒนาด้านเทคโนโลยีเพื่อ การบินในอนาคตมีประสิทธิภาพ 3. พลังงานที่ยั่งยืน การพัฒนาวัตถุดิบ(Feed Stock)เพื่อนำมาใช้ผลิตพลังงานสำหรับอากาศยานเป็นอีกแนวทางที่จะลดการปล่อยคาร์บอนด้วยตัวเอง และ 4. แนวทางที่ใช้อยู่ในปัจจุบันการการวางแผนการบินเพื่อลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในแต่ละเที่ยวบิน ทั้งด้านการวางแผนการบินที่จะใช้พลังงานลดลงในแต่ละเที่ยวบิน เช่น การกำหนดเส้นทางบินตรงหรือหยุดพักเครื่องเพื่อเป้าหมายการประหยัดพลังงาน เป็นต้น  การบิน

สำหรับประเทศไทย ซึ่งมีศักยภาพทั้งเป็นผู้ผลิตและใช้ (ดูดซับ)คาร์บอนรายสำคัญของโลก ด้วยศักยภาพความคับคั่งของเที่ยวบินซึ่งมีปริมาณเที่ยวบินหนาแน่นเป็นลำดับที่ 2 รองจากสิงคโปร์ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งไทยได้เร่งพัฒนาเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการบินอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยพัฒนาFeed Stockที่มีปตท.เป็นหน่วยงานหลักที่ทำงานร่วมกับแอร์บัส การร่วมกันจัดการการบินที่จะลดการปล่อยคาร์บอนซึ่งมีการบินไทย และบางกอกแอร์เวย์ เป็นกำลังสำคัญ ในส่วนของการบินไทยที่เป็นสายการบินขนาดใหญ่หากมีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะสร้างแรงกระเพื่อมต่อการเข้าใกล้เป้าหมายNet Zero ได้มากขึ้น 

“ประเทศไทยมีภูมิศาสตร์ที่จะช่วยการจัดการด้านการบินที่จะทำให้อัตราคำนวนการปล่อยคาร์บอนในแต่ละเที่ยวบินลดลง เพราะไม่ว่าจะเป็นสนามบินสุวรรณภูมิ อู่ตะเภา หรือแม้แต่ดอนเมือง ต่างก็มีสัดส่วนการเดินทางไปยังประเทศเพื่อนบ้านและนอกภูมิภาคในเวลาและเส้นทางการบินที่เหมาะสมสามารถใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า”

สำหรับแอร์บัส มีแผนจะพัฒนาอากาศยานเพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกและตลอดห่วงโซ่อุปทานสามารถบรรลุเป้าหมายลดคาร์บอนได้ ด้วยการพัฒนาเครื่องบินพาณิชย์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ลำแรกของโลกออกสู่ตลาดภายในปี 2035 นอกจากนี้ยัง ปฏิบัติตามโปรแกรมการชดเชยคาร์บอนระดับโลก พร้อมสนับสนุนองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ICAO) ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินมาตรการตามตลาดโลกสำหรับอุตสาหกรรมการบินสู่เป้าหมายการเติบโตของธุรกิจควบคู่กับการลดปล่อยคาร์บอน

“ในอนาคตจะมีการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนเป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพสูงซึ่งมีพลังงานเฉพาะต่อหน่วยมวลที่สูงกว่าเชื้อเพลิงเครื่องบินทั่วไปถึงสามเท่า หากผลิตจากพลังงานหมุนเวียนผ่านกระบวนการอิเล็กโทรลิซิส จะไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เลยตลอดกระบวนการผลิตและการนำไปใช้”

เนื่องจากไฮโดรเจนมีความหนาแน่นของพลังงานเชิงปริมาตรต่ำ ซึ่งจะมีผลต่อรูปร่างหน้าตาของเครื่องบินในอนาคตที่มีแนวโน้มจะเปลี่ยนไป เพื่อรองรับโซลูชันการจัดเก็บไฮโดรเจนที่จะมีขนาดใหญ่กว่าถังเก็บเชื้อเพลิงเครื่องบินที่มีอยู่ปัจจุบันโดยแอร์บัสเป็นสมาชิกของHydrogen Council ซึ่งจะสามารถแบ่งปันประสบการณ์ในอุตสาหกรรมไฮโดรเจนที่มีอยู่มากมาย ก่อนนำมาพัฒนาและกำหนดการใช้ไฮโดรเจนในการบินต่อไป 

“การบิน” กำลังเร่งเครื่องการพัฒนาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันให้สามารถส่งต่อสู่การสร้างอนาคตที่ยั่งยืนเพื่อทำให้การเดินทางไปมาหาสู่กันของทุกคนในทุกมุมโลกเติบโตควบคู่กับความยั่งยืนได้อย่างสมบูรณ์แบบ