TCAC :ปฎิบัติการสู้เปลี่ยนโลก สู่เป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์

TCAC :ปฎิบัติการสู้เปลี่ยนโลก      สู่เป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดึงทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อน มุ่งบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065

เมื่อเร็วๆนี้ คณะรัฐมนตรี รับทราบตามที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอผลการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (Thailand Climate Action Conference: TCAC) ซึ่งเป็นการประชุมที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

TCAC :ปฎิบัติการสู้เปลี่ยนโลก      สู่เป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศที่เน้นการมีส่วนร่วมจากหลากหลายภาคส่วน เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักรู้ เข้าใจ และให้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนเพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065

ในส่วนการเสวนาเชิงวิชาการในห้องประชุมใหญ่ สาระสำคัญ เพื่อขับเคลื่อนไทยไปสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน เช่น ภาครัฐ โดย สผ.จัดทำเครื่องมือเชิงนโยบายและกลไกสนับสนุน เช่น กลไกทางการเงินและกฎหมาย และ รัฐวิสาหกิจและเอกชนโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมปรับกลยุทธ์องค์กรและการดำเนินธุรกิจเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน โดยใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาดและเพิ่มแหล่งกักเก็บดูดซับคาร์บอน นอกจากนี้ มีการบูรณาการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสู่การดำเนินงานระดับจังหวัด

ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ ไทยร่วมดำเนินการกับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Thai Rice NAMA) โดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน ประจำประเทศไทยในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวให้กับเกษตรกรและปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 4 ด้าน คือ การปรับพื้นที่นาให้ราบเรียบด้วยระบบเลเซอร์ การจัดการน้ำในนาแบบเปียกสลับแห้ง การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และการจัดการฟางในนาข้าวอย่างถูกวิธี

ส่วนผลการเสวนาเชิงวิชาการในห้องประชุมกลุ่มย่อย ว่าด้วย ป่าไม้และการกักเก็บคาร์บอนนำเสนอแลกเปลี่ยนนโยบายและการขับเคลื่อนการดำเนินงานในการกักเก็บคาร์บอนในภาคป่าไม้ โดยต้องบูรณาการจากทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อน เช่น การปลูกป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าทั้งในพื้นที่ของภาครัฐ การป้องกันการบุกรุกป่าและควบคุมไฟป่า

เกษตรกรเท่าทันภูมิอากาศนำเสนอสาระสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาคเกษตรและความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการข้าวยั่งยืนที่เน้นการจัดการน้ำในนาแบบเปียกสลับแห้ง เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

การบริการข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศและการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในภาคเมือง นำเสนอในเรื่องต่าง ๆ เช่น (1) การพัฒนาข้อมูลด้านภูมิอากาศ (2) การประยุกต์ใช้ข้อมูลจากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ และ (3) แนวทาง/แนวคิดการออกแบบภูมิสถาปัตย์ที่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อนำมาใช้ในการจัดการเมืองให้มีการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ

พลังงานและการขนส่งที่ยั่งยืน ผ่านนโยบายและทิศทางการดำเนินงานภายใต้แผนพลังงานชาติ พ.ศ. 2565 เช่น การเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน การส่งเสริมให้ระบบรางเป็นโครงข่ายหลักของประเทศในการเดินทางและขนส่งสินค้าระหว่างเมือง การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะ เช่น EV-Bus EV-Boat EV-Bike สำหรับภาคเอกชนได้สะท้อนถึงข้อจำกัดของการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเด็นราคาและความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน โดยจะต้องครอบคลุมพื้นที่ใช้งานและพัฒนาให้ผู้ใช้งานสามารถใช้ได้ทุกค่ายรถยนต์

ตลาดคาร์บอนเครดิต ตอบโจทย์ธุรกิจรักษ์โลกด้วยกลไกราคาเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานในการใช้กลไกราคา

บนพื้นฐาน คาร์บอนเครดิต หมายถึง สิทธิที่บุคคลหรือองค์กรได้รับจากการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละปีซึ่งหากปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ปริมาณคาร์บอนที่เหลือจะถูกนำมาตีราคาและสามารถนำไปจำหน่ายในรูปแบบคาร์บอนเครดิต ให้กับองค์กรอื่น ๆ ที่ต้องการได้ส่วนตลาดคาร์บอนเครดิต  คือพื้นที่กลางสำหรับแลกเปลี่ยนซื้อ-ขาย คาร์บอนเครดิต ถือเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่กระตุ้นให้ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม