“ความยั่งยืน”ต่อยอดมูลค่า พรีเมี่ยมสินค้ายางพาราไทย

“ความยั่งยืน”ต่อยอดมูลค่า  พรีเมี่ยมสินค้ายางพาราไทย

“ความยั่งยืน”โจทย์ทางการค้าที่ผู้ซื้อนำมาเป็นเงื่อนไข การตอบโจทย์การค้านี้ได้ก่อนถือเป็นการสร้าง“พรีเมียม”ของสินค้านั้นๆ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มีแผนนำการตรวจสอบย้อนกลับยางพารา มาใช้เป็นอีกมาตรการที่ผลักดันยางของไทยให้มีราคาสูงกว่าผู้ผลิตอื่นๆ 6-10 %

ณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการกยท. เปิดเผยว่า ประเทศผู้นำเข้ายางรายใหญ่ เช่น ยุโรป สหรัฐ ให้ความสำคัญกับวัตถุดิบที่ต้องผลิตมาจากสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ ถูกกฎหมายของประเทศผู้ผลิตต้นทาง และระบบ Due Diligence สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้

 

ดังนั้น กยท.จึงส่งเสริมสวนยางไทยให้เข้าสู่ระบบการรับรองป่าไม้ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ยางพารา ระยะ 20 ปี ตั้งแต่กระบวนการปลูกสร้างสวนยาง เก็บเกี่ยว แปรรูป โดยกำหนดเป้าหมายพื้นที่สวนยาง 5 แสนไร่ ในปี 2565 และ 15 ล้านไร่ ภายใน 5 ปี รวมทั้ง ผลักดันให้เกิดการซื้อ - ขายผลิตภัณฑ์จากยางพารามาตรฐานสากลผ่านระบบตลาดกลางยางพาราของ กยท. ซึ่งราคาขายจะสูงกว่าราคายางทั่วไป 6-10 %

“ความยั่งยืน”ต่อยอดมูลค่า  พรีเมี่ยมสินค้ายางพาราไทย “ความยั่งยืน”ต่อยอดมูลค่า  พรีเมี่ยมสินค้ายางพาราไทย

ทั้งนี้ กยท. โดยฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจยางจะทำหน้าที่รวบรวมคำสั่งซื้อ ชนิดยาง ปริมาณ ที่ตั้งของตลาดผู้ซื้อ ประสานไปยังตลาดกลางฯ ของ กยท. เพื่อหาผลผลิตยางพรีเมียมจาก กยท.เขตและจังหวัด ซึ่งมีข้อมูลสวนยางที่ผ่านมาตรฐานและผลผลิตยางตรงตามที่ผู้ซื้อต้องการ

ปัจจุบัน กยท. ได้รับมาตรฐานการจัดการป่า ( FSC-CoC )สำหรับการดำเนินงานของหน่วยธุรกิจ และตลาดกลางยางพารา พร้อมรองรับการซื้อขายยางพรีเมียมจากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งมีภาคเอกชนหลายแห่งสนับสนุน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางด้านธุรกิจภายใต้ระบบมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนด้านยางพารากับ กยท. และมีออร์เดอร์ยางพรีเมียมในระยะ 1-5 ปี แล้ว

 

การซื้อขายยางพรีเมียมผ่านตลาดกลาง กยท. จะช่วยให้เกษตรกรที่ทำสวนยางตามมาตรฐานสากลมีตลาดรองรับ ขายยางได้ในราคาสูงกว่ายางทั่วไป ด้านผู้ซื้อจะได้รับยางที่มีคุณภาพและมาตรฐานรับรอง ลดความเสี่ยงของปัญหาในกระบวนการผลิต และเพิ่มคุณภาพของสินค้าที่นำยางไปเป็นวัตถุดิบ

 

“ผู้ประกอบการคุยกับไทยก่อนประเทศผู้ผลิตรายอื่นๆ เพราะไทยมีผลผลิตยางคิดเป็น 30 % ของโลก หากไทยเริ่มทำเรื่องตรวจสอบย้อนกลับก่อนจะเร่งให้ผู้ผลิตรายอื่นๆ ทำตามและยังเป็นการยกระดับราคายางสูงขึ้น เป็นกลยุทธนำการตลาดอีกด้านนึง ”

สำหรับกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับยางพารา ของไทยนั้นเริ่มจากพื้นที่ปลูกยางที่ขึ้นทะเบียนกับเกษตรกรก่อน ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 1,476,566 ราย จำนวน 20 ล้านไร่ แยกออกเป็น 3 ประเภท คือ ชาวสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ์  1,177,476 ราย พื้นที่15,225,013 ไร่  หรือ 80 %  ชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์  299,090 ราย พื้นที่ 4,709,967 ไร่  และชาวสวนยางที่มีและไม่มีเอกสารสิทธิ์  54,743 ราย  โดยยางในพื้นที่ที่มีเอกสารจะส่งออกได้ ส่วนยางที่มาจากพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์จะใช้ในกิจกรรมอื่นๆในประเทศ

                 ขั้นตอนการจำหน่ายยางพาราตามการตรวจสอบย้อนกลับ เกษตรกรต้องนำยางไปขายให้กับตลาดกลางกยท.เพื่อส่งเข้าโรงงานแปรรูปยางขึ้นต้น รวบรวมและส่งออก ซึ่งขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้จะถูกบันทึกข้อมูลไว้ทั้งหมด ดังนั้นเมื่อผู้ประกอบการนำยางไปผลิตเป็นล้อยางจะทำให้ทราบว่ายางล๊อตใดใช้ยางจากใครบ้าง ทำได้มั่นใจได้ว่าล้อยางทุกเส้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับการทำลายสิ่งแวดล้อม

 

อีกทั้งขั้นตอนการตรวจสอบย้อนกลับนี้ ยังช่วยตัดกลุ่มยี่ปั๊วออกจากกลไกการตลาดด้วย ซึ่งที่ผ่านมาราคายางที่ผันผวนต้องยอมรับว่ากลุ่มยี่ปั๊วที่เข้าไปรับซื้อยางพารานั้นมีส่วนที่กดราคารับซื้อจากเกษตรกร และกลายเป็นภาระของรัฐบาลที่ต้องเข้าไปแก้ไขปัญหา

 

“ ในงาน dinner rubber ที่สิงคโปร์ ที่จะจัดโดยสภาธุรกิจยางอาเซียน (ARBC) ในเดือน ก.พ. นี้ ผมจะไปยืนยันดำเนินโครงการตรวจสอบย้อนกลับยางพารานี้อีกครั้ง ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ ต้องการแผนงานที่ชัดเจนจากไทย “

 

 เพื่อให้การขับเคลื่อนความยั่งยืนในกระบวนการผลิตยางพาราเร็วขึ้น กยท. ได้ ลงนามบันทึกข้อตกลงกับRUBBERWAYPTEเปิดแอปพลิเคชั่นRUBBERWAY เป็นการวางแนวทางในการพัฒนายางพาราสู่ความยั่งยืน ลดความเสี่ยงเรื่องผลผลิต รวมถึงการปรับปรุงการทำงานของเกษตรกรรายย่อยในประเทศไทย ให้ผลิตยางตามแนวทางที่เหมาะสมควบคู่ไปกับการตระหนักรู้ในเรื่องสิ่งแวดล้อมซึ่งถือเป็นประเด็นระดับโลกที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์

 

ซึ่งโครงการความร่วมมือนี้จะดำเนินการในช่วงปี พ.ศ.2564 - 2566ผ่านระบบแอปพลิเคชัน“RUBBERWAY”ในการประเมินและจัดทำแผนที่บริหารจัดการความเสี่ยงอของห่วงโซ่อุปทานยาง ผ่านการสนับสนุนจากบริษัท ผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุด2รายของโลก คือมิชลิน และ คอนทิเน็นทัล ซึ่งมีเป้าหมายร่วมกันผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุด 2 รายของโลก

 

เมื่อความยั่งยืน เท่ากับ ความพรีเมียม  ความพิเศษที่สินค้ายางพารา โดยกยท.กำลังพัฒนาอยู่นี้ ผลที่ได้รับกลับมาคือราคาและการผลิตที่พรีเมียม ซึ่งหากเกษตรกรใส่ใจและถือปฏิบัติติได้ก็จะสร้างความพรีเมียมในอาชีพชาวสวนยางได้ด้วยเช่นกัน