“เอสซีจี” รุกธุรกิจพลังงานสะอาด ตอบโจทย์เมกะเทรนด์อุตสาหกรรม

“เอสซีจี” รุกธุรกิจพลังงานสะอาด ตอบโจทย์เมกะเทรนด์อุตสาหกรรม

แรงกดดันจากวิกฤติโลกร้อนและแนวโน้มต้นทุนพลังงานสูง ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องเร่งหาโซลูชั่นพลังงานสะอาดและการใช้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เช่นเดียวกับทิศทางของ "เอสซีจี" ที่รุกดำเนินธุรกิจใหม่ด้านพลังงานสะอาดเพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero 2050

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ SCG กล่าวว่า ต้นทุนพลังงานจะคงตัวอยู่ในระดบสูง ทั้งราคาถ่านหิน น้ำมัน และแก๊สธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นปัญหาต้นทุนในระยะยาวของภาคธุรกิจในช่วง 2-3 ปีต่อจากนี้ เนื่องจากต้นเหตุของราคาพลังงานสูงเกิดจากฝั่งผู้ผลิตซึ่งเชื่อมโยงกับความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายในเร็ววัน 

นอกจากนี้ ปัญหาโลกร้อนที่เป็นเรื่องเร่งด่วนซึ่งภาคธุรกิจต้องเร่งเตรียมพร้อมรับมือกับการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามแดน ทำให้ต้องคำนึงถึงการใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานทางเลือก

"โดยเอสซีจี ตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานทางเลือกเป็น 40-50% ในช่วง 2 ปีข้างหน้าทดแทนการใช้ถ่านหินในโรงงานผลิตซีเมนต์ โดยจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 70% ในปี 2030 และขยับสู่เป้าหมายพลังงานสะอาด 100% ภายในปี 2050"

นายอรรถพงศ์ สถิตมโนธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ จำกัด กล่าวว่า เอสซีจีมีการพัฒนาโซลูชั่นพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือกมาอย่างยาวนาน เพื่อรักษาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนของ 3 ธุรกิจหลัก โดยนำความเชี่ยวชาญดังกล่าวต่อยอดสู่การสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ในการเป็น "ผู้ให้บริการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดครบวงจร" หรือ “Private PPA” เสนอโซลูชั่นครบวงจรให้แก่ลูกค้าตั้งแต่การขออนุญาตติดตั้ง การคำนวณงบฯ ลงทุนและการคืนทุน ไปจนถงึการซ่อมบำรุงและดูแลรักษา เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) 

โดยเอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ ผลิตพลังงานสะอาดผ่านพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ ซึ่งสามารถติดตั้งได้ทั้งบนพื้นดิน (Farm) หลังคา (Rooftop) และลอยน้ำ (Floating) เจาะกลุ่มลูกค้ากลุ่มนิคมอุตสาหกรรม โรงงาน บริษัทขนาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้า โรงแรม โรงพยาบาลที่ใช้ไฟฟ้าจำนวนมากแต่ต้องการลดต้นทุนค่าไฟ นอกจากนี้ยังใช้นวัตกรรมระบบเครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ Smart Grid เทคโนโลยีโดรนและหุ่นยนต์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

ทั้งนี้ บริษัทมีฐานลูกค้าซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำขนาดใหญ่ทั้งในไทยและอาเซียน อาทิ โตโยต้าศูนย์ผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสมาศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลเปาโล ล่าสุดติดตั้งแล้วที่กลุ่มบริษัทสหยูเนี่ยน บางปะกง

ปัจจุบัน บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดอยู่ที่ 234 เมกกะวัตต์ แบ่งเป็นผลิตเพื่อใช้เองในโรงงานของเอสซีจี 194 เมกกะวัตต์ และผลิตให้ลูกค้า 40 เมกกะวัตต์ โดยตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 3,000 เมกะวัตต์ ภายใน 5 ปี ขณะที่ปี 2566 ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตสำหรับลูกค้าเป็น 4 เท่า อยู่ที่ 160 เมกกะวัตต์ ด้วยงบลงทุน 5,000 ล้านบาท

นายวิสุทธ จงเจริญกิจ Green Circularity Business Director เอสซีจี กล่าวว่า ประเทศไทยมีเศษวัสดุทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ใบอ้อย เปลือกข้าวโพด ประมาณ 21 ล้านตันต่อปี ซึ่งหากกำจัดด้วยวิธีการเผาจะก่อให้เกิดมลภาวะทั้งหมอกควัน ฝุ่น PM 2.5 และภาวะโลกร้อน เอสซีจีจึงศึกษาความเป็นไปได้ในการนำวัสดุเหล่านี้เพื่อนำมาทดแทนการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินในธุรกิจซีเมนต์ โดยได้พัฒนาเทคโนโลยีการบีบอัดเศษวัสดุให้กลายเป็นเม็ดพลังงานชีวมวล (Energy Pellet) ที่มีคุณสมบัติในการเผาไหม้ได้ดีขึ้น ทั้งยังทำให้สามารถขนย้ายได้ง่ายในปริมาณมากขึ้น 

ทั้งนี้ เอสซีจีได้รับซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรกว่า 300,000 ตัน ทั้งใบอ้อย เปลือกข้าวโพดรากยางพารา ฟางข้าว แกลบ และอื่นๆ จากพื้นที่จังหวัดรอบโรงงานปูนซีเมนต์ในจังหวัดสระบุรีลพบุรี กาญจนบุรี อยุธยา ลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย นครศรีธรรมราช นครราชสีมา และเร่งพัฒนาเม็ดพลังงานชีวมวลในหลายรูปแบบ ทั้งชีวมวลประสิทธิภาพสูง (High Efficiency Renewable Fuel) ทั้งด้านการใช้งาน  และค่าพลังงานอื่นๆ เพื่อขยายเป็นธุรกิจในอนาคตด้วยโดยในปีที่ผ่านมา เอสซีจีได้เพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทดแทนเป็น 34% จาก 26% ของเชื้อเพลิงทั้งหมด

“เอสซีจีเชื่อมั่นว่า การขยายธุรกิจพลังงานสะอาด ทั้งจากการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์และพลังงานชีวมวล จะมีศักยภาพสูง ตอบโจทย์ความคุ้มค่าและความสะดวกของลูกค้าตามเมกกะเทรนด์รักษ์โลก และแนวทาง ESG 4 Plus ที่เอสซีจีและเครือข่ายผู้ประกอบการต่าง ๆ มีส่วนร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ตามเป้าหมายประเทศและโลกด้วย”