กรมส่งเสริมการเกษตร รณรงค์หยุดเผาลดปริมาณฝุ่น

กรมส่งเสริมการเกษตร รณรงค์หยุดเผาลดปริมาณฝุ่น

รายงานคุณภาพอากาศ ค่าฝุ่น PM 2.5 ของไทยมีค่าเกินมาตรฐาน เป็นอันดับต้นๆ ของโลก และกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ ถึง 49 จังหวัด เป็นสถานการณ์ยุ่งยากที่ทุกคนต้องร่วมกันแก้ไข ภาคเกษตรเป็นอีกภาคส่วนที่ให้ความสำคัญกับปัญหาและรณรงค์ไม่เผาอย่างต่อเนื่องเพื่อลดปริมาณฝุ่น

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ในภาคการเกษตรมีสัดส่วนการปล่อย PM 2.5 เพียง 1 %  ซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่องหลังจากที่กระทรวงเกษตรมีการรณรงค์หยุดเผาอย่างต่อเนื่อง  โดยสถานการณ์การเผาในภาคการเกษตร พบยังมีอยู่บ้างใน พื้นที่ทำนา ที่เป็นปัญหามากทั้งภาคกลาง อีสาน และเหนือ คือเผาตอซังฟางข้าวเพื่อความสะดวกในการไถเตรียมดินสำหรับการเพาะปลูกในรอบถัดไป

กรมส่งเสริมการเกษตร รณรงค์หยุดเผาลดปริมาณฝุ่น กรมส่งเสริมการเกษตร รณรงค์หยุดเผาลดปริมาณฝุ่น

               พื้นที่ปลูกอ้อย ส่วนใหญ่ภาคกลาง และอีสาน เผาใบอ้อย เพื่อความสะดวกในการตัดอ้อย เป็นการลดต้นทุนการผลิต หรือในกรณีหลังการเก็บเกี่ยว-กรณีจะรื้อตอปลูกใหม่ เกษตรกรก็จะทำการเผาใบอ้อยเพื่อความสะดวกในการไถเตรียมดินปลูกอ้อยในรอบใหม่ และหากเป็นกรณีอ้อยตอ เกษตรกรจะเผาใบอ้อยเพื่อกันไฟไม่ให้ไหม้ต้นอ้อยที่งอกขึ้นมาใหม่ และ พื้นที่บนที่สูงทางภาคเหนือ ที่เผาพื้นที่เพราะต้องการทำไร่ข้าวโพด และเพื่อความสะดวกในการไถเตรียมดินสำหรับการเพาะปลูกในรอบถัดไป

กรมส่งเสริมการเกษตรได้ใช้ข้อมูลจุดความร้อนสะสม หรือจุด Hotspot จากการรายงานของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เป็นฐานในการส่งเสริมให้เกษตรกรลดการเผาในพื้นที่การเกษตร ซึ่ง Gistda จะสรุปสถานการณ์แต่ละปีในช่วงเดือนมกราคม ถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงวิกฤติของการเกิดปัญหาหมอกควันไฟป่าทางภาคเหนือ รวมทั้งการเผาทางการเกษตรเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกร         

           ทั้งนี้กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร โดยใช้กลไกของ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพกรผลิตสินค้าเกษตร (ศพก) หรือศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) หรือกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ส่งเสริมการทำการเกษตรแปลงใหญ่ หรือเกษตรกร Young smart farmer หรือเกษตรกร Smart farmer หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน หรือเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการ โดยให้มองเป็นเชิงพื้นที่ อำเภอ ตำบล ในการดำเนินการ

               มีเป้าหมายในการอบรมเกษตรกร จำนวน 17,640 ราย เพื่อสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผาเพื่อสร้างกลไกในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร รวม 337 เครือข่าย ในพื้นที่ 62 จังหวัด ประกอบด้วย

- พื้นที่ 10 จังหวัดภาคเหนือตอนบนที่ประสบปัญหาหมอกควันปกคลุมอยู่เป็นประจำทุกปี ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ พะเยา ลำปาง ลำพูน ตาก และอุตรดิตถ์

                   - พื้นที่ 52 จังหวัดที่มีการเผาในภาคการเกษตรสูง (รวม กทม. และปริมณฑล) ประกอบด้วย จังหวัดกาญจนบุรี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครนายก นครพนม นครราชสีมา นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ ร้อยเอ็ด ลพบุรี สกลนคร อุดรธานี กำแพงเพชร พระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก มหาสารคาม ยโสธร ศรีสะเกษ สุโขทัย สุพรรณบุรี สุรินทร์ อุบลราชธานี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ราชบุรี เลย สระแก้ว สระบุรี หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุทัยธานี จันทบุรี บึงกาฬ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี มุกดาหาร หนองคาย อ่างทอง กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร สมุทรปราการ สิงห์บุรี ระยอง และจังหวัดตราด

               โดยส่งเสริมให้มีจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรทดแทนการเผาทำลาย ปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตจากเดิม มุ่งสู่การทำการเกษตรปลอดการเผาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นเพื่อลดพื้นที่การปลูกพืชที่เสี่ยงจะเกิดการเผามีเกษตรกรเป้าหมาย รวม 17,640 ราย ในพื้นที่

                   แยกเป็น พื้นที่นำร่องกลุ่มเดิม 81 เครือข่ายๆ ละ 30 ราย เป็น จำนวน 2,430 ราย  พื้นที่นำร่องกลุ่มใหม่ 251 เครือข่ายๆ ละ 60 ราย เป็น จำนวน 15,060 ราย  พื้นที่ที่รัฐจัดที่ดินทำกิน (คทช.) 5 เครือข่ายๆ ละ 30 ราย เป็น จำนวน 150 ราย

                    สาธิตการบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อทดแทนการเผา โดยจัดกิจกรรมนำร่องสาธิตเทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรทดแทนการเผา หรือส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเพื่อแก้ปัญหาการเผาอย่างยั่งยืน หรือจัดทำแปลงสาธิตการบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อทดแทนการเผา ให้พิจารณาใช้วิทยาศาสตร์ นวัตกรรมและเทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุการเกษตรทดแทนการเผาที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ โดยจัดในพื้นที่ของเกษตรกร

               เช่น  กิจกรรมไถกลบตอซังฟางข้าว หรือเศษซากพืช  กิจกรรมอัดก้อนตอซังฟางข้าว ใบอ้อย หรือเศษซากพืช  กิจกรรมทำปุ๋ยจากเศษวัสดุทางการเกษตร   กิจกรรมส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเพื่อแก้ปัญหาการเผาอย่างยั่งยืน   กิจกรรมสาธิตเทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุการเกษตรทดแทนการเผา

                กิจกรรมรวบรวมเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรส่งโรงไฟฟ้าชีวมวล  กิจกรรมการเพาะเห็ด  กิจกรรมผลิตเฟอร์นิเจอร์ กระถางต้นไม้  กิจกรรมการเลี้ยงแมลงที่มีประโยชน์ต่อการผลิตและระบบนิเวศ และแมลงเศรษฐกิจ  หรือ กิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อทดแทนการเผา เป็นต้น

                  

                   อย่างไรก็ตามการรณรงค์หยุดเผา ยังมีข้อจำกัดและอุปสรรคของการพัฒนาความร่วมมือในการควบคุมการเผาในพื้นที่เพาะปลูก เช่น

                 1. การบังคับใช้กฎหมายมีข้อจำกัด ขึ้นอยู่กับการประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัด (มหาดไทย)

                 2. การเผาในพื้นที่อ้อย ส่วนหนึ่งเกิดจากระยะเวลาจำกัดในการเปิดหีบของโรงน้ำตาล ที่รับซื้ออ้อยจากเกษตรกร ทำให้ต้องเร่งเก็บเกี่ยว และเนื่องจากไม่มีเครื่องจักรกลการเกษตรในการเก็บเกี่ยว จึงใช้วิธีการเผาใบอ้อยเพื่อให้แรงงานเข้าไปตัดอ้อยได้สะดวก และโรงน้ำตาลยังคงรับซื้ออ้อยเผาจากเกษตรกรแม้จะมีการหักราคา แต่เกษตรกรยอมโดนหักค่าใช้จ่ายดังกล่าว เพื่อให้ทันส่งอ้อยในช่วงเปิดหีบ

                 3. การไถกลบตอซังในนาข้าว เกษตรกรทราบถึงประโยชน์ในการเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ปรับโครงสร้างดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ แต่ส่วนหนึ่งยังเข้าใจว่าเป็นการเพิ่มต้นทุนในการเตรียมดิน อย่างไรก็ตาม กรมส่งเสริมการเกษตรได้เร่งสร้างการรับรู้ถึงผลเสียจากการเผา ว่าเป็นการเผาปุ๋ยที่อยู่ในเศษซากพืช หรือจะเปรียบได้ว่า “เป็นการเผาเงิน” เช่น การเผาตอซังฟางข้าว ในพื้นที่ 1 ไร่ เท่ากับการเผาปุ๋ยไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม (N P K) มากกว่า 23 กิโลกรัม คิดเป็นเงิน ไม่น้อยกว่า 260 บาทและยังเป็นการทำลายแมลงและจุลินทรีย์ที่อยู่ในดินและเป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของพืช ทำให้ระบบนิเวศไม่สมดุล เกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ง่าย

 

 

                 “เกษตรกรต้องตระหนักถึงปัญหาที่จะตามมาจากการเผา ทำลายสิ่งแวดล้อม ผลกระทบท้ายสุดจะเกิดผลกระทบกับสุขภาพของตนเอง ครอบครัว ลูกหลาน ซึ่งจะทำให้เค้าจะเกิดการปรับเปลี่ยนการทำเกษตรแบบปลอดการเผาที่เกิดจากความตั้งใจ ใช้วิธีปรับเปลี่ยนตามที่ภาครัฐเข้าไปสาธิต ไปส่งเสริม เมื่อเกิดความต้องการมากขึ้น ก็มีผู้ลงทุนเข้าไปให้บริการมากขึ้นและเพียงพอ เช่น การให้บริการไถกลบตอซัง การให้บริการรถตัดอ้อย”

 

 รวมทั้ง ความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน คือภาคเอกชนที่รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรมีความรับผิดชอบต่อสังคม มีการกำหนดการรับซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตร และหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็เป็นกลไกลหนึ่งในการร่วมหารือแนวทางที่เป็นไปได้กับภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง และหลายองค์กรก็มีการกำหนดเรื่องดังกล่าวแล้วด้วยเช่นกัน

                 และจะฝากถึงเกษตรกรทุกท่าน ในช่วงนี้คือระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี พื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศมักประสบปัญหาไฟป่าและหมอกควัน จึงขอเชิญชวนเกษตรกรทุกท่านทั้งที่อยู่พื้นที่ภาคเหนือตอนบนและพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ ร่วมต้านหมอกควันที่มักจะเกิดขึ้นในภาคเหนือ และภาคอื่นๆ ที่เป็นปัญหาในปัจจุบันนี้ด้วยการหยุดเผา เพราะการเผาทำให้เกิดฝุ่นละอองสะสมในอากาศ มีผลต่อสุขภาพเราโดยตรง