“ผึ้ง-ชันโรง" เปลี่ยน "พื้นที่สีแดง" สู่เกษตรปลอดสาร ชุมชนปลอดหนี้

“ผึ้ง-ชันโรง" เปลี่ยน "พื้นที่สีแดง" สู่เกษตรปลอดสาร ชุมชนปลอดหนี้

“การพัฒนาความยั่งยืน” ไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ยังรวมไปถึงการยุติความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ประเด็นเหล่านี้ เป็นโจทย์ใหญ่ที่ "ผู้ใหญ่แจ็ค" นำมาแก้ปัญหาชุมชนซึ่งเต็มไปด้วยสารเคมีและหนี้สิน ด้วยการเลี้ยง "ผึ้งและชันโรง"

เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว พื้นที่บ้านคา เรียกได้ว่า เป็นหนึ่งในพื้นที่สีแดงที่ขึ้นชื่อเรื่อง “การใช้ยาฆ่าแมลงอย่างเข้มข้น” เนื่องจากชาวบ้านมีอาชีพทำเกษตร ปลูกสับปะรดเป็นอาชีพหลัก  ชาวบ้านต้องเจอกับ “ความทุกข์” 3 ประการ ทั้งปัญหาสารเคมี ความแห้งแล้ง และปัญหาใหญ่คือ “หนี้สิน” เกษตรกรส่วนใหญ่พบสารเคมีในกระแสเลือดเนื่องจากยาฆ่าแมลงจากการทำไร่สับปะรด 

 

กลายเป็นโจทย์ที่ “ผู้ใหญ่แจ็ค” แมนรัตน์ ฐิติธนากุล หาทางให้ชาวบ้านหลุดพ้น 3 วังวน

 

"แจ็ค” ทิ้งความฝัน “ทนาย” ในวัย 30 ปีกลับมาทำหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 11 ตำบลบ้านคา อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี แทนคุณพ่อที่เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อในกระแสเลือด เนื่องจากยาฆ่าแมลงจากการทำไร่สับปะรด พร้อมกับเป็นประธานกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งพื้นเมืองและชันโรงอำเภอบ้านคา

 

ซึ่งโจทย์ยากที่สุดของเขา คือ ทำอย่างไรที่จะแก้ 3 ปัญหาใหญ่ คือ “ปัญหาสารเคมี” ซึ่งเคยให้สาธารณสุขมาตรวจเลือดคนในหมู่บ้านพบว่าเข้าขั้นอันตราย ถัดมา คือ “หนี้สิน” แค่หมู่ 11 หมู่เดียว ประชากร 140 หลังคาเรือน อยู่ในภาคเกษตร 90 % เฉพาะหนี้ในระบบรวมกว่า 23 ล้านบาท สุดท้าย คือ “ความแห้งแล้ง” เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ปลูกสับปะรด ทำให้ไม่มีต้นไม้อื่นๆ กลายเป็นที่โล่ง แห้งแล้ง และร้อนมาก

 

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ที่มีทั้งหมด 17 ข้อ โดยนานาประเทศรวมถึงประเทศไทยได้เรียกร้องให้มีการดำเนินการเพื่อยุติความยากจน สนับสนุนการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ ดูแลสิ่งแวดล้อม ปกป้องโลก ทำให้ทุกคนมีความสงบสุข และความมั่งคั่ง ด้วยความคาดหวังให้โลกดีขึ้นภายในปี 2573 ซึ่ง “การพัฒนาความยั่งยืน” ไม่ใช่เป็นเพียงเทรนด์ หรือกระแสที่ทั่วโลกต้องดำเนินการ แต่ทุกภาคส่วนในทุกประเทศ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคมต้องขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวให้เกิดขึ้นในทางปฎิบัติอย่างแท้จริง

 

“ผึ้ง-ชันโรง" เปลี่ยน "พื้นที่สีแดง" สู่เกษตรปลอดสาร ชุมชนปลอดหนี้

 

 

แจ็ค เล่าว่า ความฝันพ่อของเขาอยากสร้างศูนย์เรียนรู้เพื่อช่วยชาวบ้านได้ 100% เพราะการทำไร่สับปะรด 3 วันดี 4 วันไข้ บางปีสับปะรดก็ไม่ได้ราคา ทำสวนสับปะรด 300 ไร่ ทำผัก 60 ไร่ มีเงินหมุนเวียนปีละกว่า 10 ล้านบาท แต่พอเช็กยอดบัญชีพบว่าเป็นหนี้ 10 กว่าล้านบาท ที่ดินเกือบทุกแปลงอยู่ในธนาคารหมด รายได้ทั้งหมดหมุนเวียนไปกับปุ๋ยและยาฆ่าแมลง สุขภาพก็ย่ำแย่ จึงจำเป็นต้องหาทางช่วยเหลือให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ดีขึ้น 

 

“ผึ้ง-ชันโรง" เปลี่ยน "พื้นที่สีแดง" สู่เกษตรปลอดสาร ชุมชนปลอดหนี้

 

เกษตรปลอดสารเคมีสู่เลี้ยงผึ้ง-ชันโรง

 

ดังนั้นหลังจากมาทำหน้าที่ผู้ใหญ่บ้าน สิ่งแรกที่เขาทำคือการทำเกษตรแบบปลอดสารเคมี 100 % โดยใช้พื้นที่ของเขา  25 ไร่เป็นแปลงสาธิตปลูกพืชทุกอย่างที่ว่าดี เป็นเวลา  10 ปีแต่เจ๊งทุกตัวเพราะไม่ตอบโจทย์ จึงไปอบรมทฤษฎีการ "เลี้ยงผึ้ง-ชันโรง" ที่ศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมืองและแมลงผสมเกสร มจธ.ราชบุรี ซึ่ง"รศ.ดร.อรวรรณ ดวงภักดีและอาจารย์ปรีชา รอดอิ่ม" มาทำวิจัยผึ้งในพื้นที่ ครั้งแรก 18 ก.พ. 2561 จากนั้นกว่า 8 เดือนครึ่ง ไปเรียนซ้ำ

 

และตัดสินใจ ไถไร่สับปะรดทิ้งทั้งหมด มาเลี้ยง ผึ้งและชันโรง เพราะเป็นสิ่งที่มีมากในพื้นที่เขตบ้านคา จากที่อบรมมองว่าการตลาด มจธ. มีแนวทางชัดเจน ภายใต้ Beesanc Model เป็นรูปแบบการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม การตลาดนำการผลิตไปไกลมองว่า เป็นโอกาส และสามารถลดการใช้สารเคมีในชุมชนได้ด้วย แรกเริ่มนำ กล้วย ต้นไผ่ ต้นมะพร้าว มาปลูก เพื่อเป็นพืชอาหาร  นำชันโรงไปตั้งให้ฟรีรอบหมู่บ้าน ชวนชาวบ้านเข้าร่วม 

 

“ผึ้ง-ชันโรง" เปลี่ยน "พื้นที่สีแดง" สู่เกษตรปลอดสาร ชุมชนปลอดหนี้

 

“เลี้ยง 1 รังรายได้ 1,000 บาทต่อปี ไม่ได้ลงทุน ไม่ต้องดูแล แค่ปล่อยให้มันดูแลตัวเองได้ ทำให้ชาวบ้านได้เห็นผลลัพธ์ หลังจากนั้น ชาวบ้านเริ่มมาจริงจังในช่วง 2 ปีนี้ และคาดว่า 5-6 ปี เราจะสามารถแก้หนี้สินของชาวบ้านที่มีกว่า 23 ล้านบาทได้”

 

ส่งต่อความรู้ สู่ความยั่งยืน

 

ศูนย์เรียนรู้ผึ้งแห่งนี้ มีอีกชื่อ คือ “ไร่ฐิติ ธ. อรุณ” ชันโรงที่เก็บได้ปีละ 2 รอบเฉลี่ยรังละ 1,000 บาทต่อปี ทั้งหมดราว 400 รัง และผึ้ง 4,000 บาทต่อรัง มีอยู่ราว 100 กว่ารัง รายได้ราว 800,000 ต่อปี

 

ปัจจุบัน กลุ่มเลี้ยงผึ้งพื้นเมืองไทยและชันโรง มีสมาชิกเฉพาะอำเภอบ้านคา 693 คน ใน 41 หมู่บ้าน มีต้นแบบทั้ง 41 หมู่บ้าน ที่สามารถเป็นตัวอย่างให้คนในหมู่บ้านได้ สมาชิกนอกอำเภอบ้านคา 334 คน รวมแล้วกว่า 1,027 คน ขณะที่สมาชิกใน จ.ราชบุรี มีทุกอำเภอที่ช่วยส่งเสริม สามารถเข้าอบรมฟรี ไม่คิดค่าใช้จ่าย รวมถึงจัดตั้งธนาคารชันโรงในโรงเรียน 6 แห่ง

 

ส่วน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งพื้นเมืองและชันโรง อำเภอบ้านคา มีสมาชิกกว่า 300 คน ได้รับการถ่ายทอดเองค์ความรู้จากศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมืองและแมลงผสมเกสร มจธ.ราชบุรี และรวบรวมน้ำผึ้งจากสมาชิกเพื่อส่งขายต่อให้กับศูนย์ฯ นำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์แบรนด์ Beesanc น้ำผึ้งโพรงรับซื้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 500 - 600 บาท น้ำผึ้งชันโรงรับซื้อที่กิโลกรัมละ 1,000 บาท

 

“ผึ้ง-ชันโรง" เปลี่ยน "พื้นที่สีแดง" สู่เกษตรปลอดสาร ชุมชนปลอดหนี้