ครม. เคาะแผนพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืน

ครม. เคาะแผนพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืน

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและประกาศใช้แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2566 - 2570 ร่างแผนพัฒนาการท่องเที่ยว ฉบับที่ 3 ตามที่คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ท.ท.ช. เสนอ

 โดยมีสาระสำคัญ คือ พระราชบัญญัตินโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งบัญญัติให้ ท.ท.ช. มีหน้าที่และอำนาจในการดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติและประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติมาแล้ว จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ 1. แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ. 2555 - 2559 ฉบับที่ 1 2.แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ. 2560 - 2564 ฉบับที่ 2 และ 3.แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ. 2564 - 2565 (ฉบับปรับปรุง)  

 

 ร่างแผนพัฒนาการท่องเที่ยว ฉบับที่ 3 ที่ ท.ท.ช. ได้เสนอมาจะเป็นการยกระดับและขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวที่สอดคล้องและต่อยอดจากแผนพัฒนาการท่องเที่ยวที่ผ่านมาและจะเป็นกรอบทิศทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวของไทยภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อันเป็นประโยชน์ในการพัฒนาการท่องเที่ยวไทย ตลอดจนแก้ไขฟื้นฟูการท่องเที่ยว รวมถึงเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอุตสาหกรรมให้สอดรับกับภาวะความปกติถัดไป มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาและขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ภายในระยะเวลา 5 ปี คือ “การท่องเที่ยวของประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นคุณค่า มีความสามารถในการปรับตัว เติบโตอย่างยั่งยืนและมีส่วนร่วม (Rebuilding High Value Tourism Industry with Resilience, Sustainability and Inclusive Growth)”

โดยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการสร้างขยะในภาคการผลิตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวลดลง 2 % ในแต่ละปี จำนวนแหล่งท่องเที่ยวและธุรกิจบริการท่องเที่ยวได้รับมาตรฐานความยั่งยืนในระดับสากล (GSTC) เพิ่มขึ้น 30 % ต่อปี ในปี 2570

มูลค่าการลงทุนและสัดส่วนมูลค่าการสะสมทุนถาวรเพื่อการท่องเที่ยวในมิติวัฒนธรรมต่อมูลค่าการสะสมทุนด้านการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 % ต่อปี ในปี 2570 

 

โดยมีกลยุทธ์ เสริมสร้างความสมบูรณ์แก่สิ่งแวดล้อมและแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติส่งเสริมการอนุรักษ์และต่อยอดทรัพย์สินทางวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ความเป็นไทยด้วยการประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัย และส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการนักท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพ

 สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีมติเห็นชอบร่างแผนพัฒนาการท่องเที่ยว ฉบับที่ 3 โดยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ควรให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์บริบทและแนวโน้มการท่องเที่ยวในระยะถัดไป ควรบูรณาการร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อจัดทำแผนการรองรับความเสี่ยงในอนาคตที่จะเกิดขึ้น ส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาในพื้นที่มีส่วนร่วมในการพัฒนา มุ่งเน้นให้คนในพื้นที่เป็นหลักในการจัดกิจกรรมท่องเที่ยว ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว ระบุแนวทางปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวให้ชัดเจน และควรมีแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เปิดกว้างและสอดคล้องความต้องการของนักท่องเที่ยวแต่ละประเภท นับเป็นเรื่องที่ดีที่ได้มีแผนพัฒนาการท่องเที่ยวให้มีความยั่งยืนและใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้นนับเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทยให้มีประสิทธิภาพพร้อมดึงดูดนักท่องเที่ยวภายในประเทศและต่างประเทศ