“CBAM” จุดเริ่มโจทย์ใหม่การค้า แรงกระตุ้นตลาดคาร์บอนเครดิต

“CBAM” จุดเริ่มโจทย์ใหม่การค้า แรงกระตุ้นตลาดคาร์บอนเครดิต

ปี 2523 UN ได้จัดตั้งกลไกการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) คือ กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) มีวัตถุประสงค์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ไม่เกิน 2 องศา

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์  ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบาย และยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า 

สหภาพยุโรป (EU) ประกาศนโยบาย European Green Deal โดยปรับปรุง และออกข้อเสนอกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องด้านสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ ได้ออกข้อเสนอ Fit for 55 มีร่างระเบียบการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการความเสี่ยงการรั่วไหลของคาร์บอนที่เกิดจากความแตกต่างของนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศของประเทศนอก EU ซึ่ง EU มีกลไกการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในระบบ Emission Trading Scheme (ETS)ด้วยการบังคับให้บริษัทผู้นำเข้าต้องซื้อใบรับรอง CBAM เพื่อชำระส่วนต่างระหว่างราคาคาร์บอนในประเทศที่ผลิต และราคาในระบบ ETS ซึ่งจะทำให้ประเทศนอก EU เพิ่มความรับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่ากับยุโรป โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 (ค.ศ. 2023) ซึ่งเป็นระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน (Transition period) ที่ผู้นำเข้าต้องรายงานปริมาณก๊าซเรือนกระจกเท่านั้น สำหรับช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน และการบังคับใช้จริงจะมีการหารือต่อไป

“หากมาตรการ CBAM มีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบ จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าภายใต้มาตรการ CBAM ของไทยไป EU โดยจะทำให้สินค้าไทยมีราคานำเข้าสูงขึ้น ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาลดลง อาจส่งผลให้ปริมาณ และมูลค่าส่งออกไปยัง EU ลดลง และผู้นำเข้าจาก EU อาจเปลี่ยนไปนำเข้าจากประเทศผู้ผลิตที่มีการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า แต่เนื่องจากสินค้าในมาตรการ CBAM มีสัดส่วนการค้าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับการส่งออกไป EU ในภาพรวม ผลกระทบจึงอยู่ในวงจำกัด”

อย่างไรก็ตาม ไทยต้องเร่งปรับตัวให้สอดคล้องกับมาตรการดังกล่าว เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดในตลาด EU และยกระดับความสามารถในการแข่งขันในตลาดการค้าโลก เนื่องจาก EU มีแนวโน้มที่จะขยายกลุ่มสินค้าที่ครอบคลุมมากขึ้น และประเทศอื่นๆ ก็มีแนวโน้มที่จะมีมาตรการที่คล้ายคลึงกันออกมา

พูนพงษ์ กล่าวอีกว่า ไทยมีโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) สามารถนำปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้น (Carbon credit) ไปขายในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจในประเทศได้ ดังนั้น หากไทยสามารถเจรจาทำความตกลงกับ EU ให้ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้คาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VERs จะสามารถช่วยลดภาระการซื้อใบรับรอง CBAM ได้ทางหนึ่ง “CBAM” จุดเริ่มโจทย์ใหม่การค้า แรงกระตุ้นตลาดคาร์บอนเครดิต

มาตรการ CBAM ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านรูปแบบการค้าโลกไปสู่การค้ารูปแบบสีเขียว เป็นการกดดันให้ผู้ผลิตสินค้าต้องหันมาพัฒนา และปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อให้สามารถรักษาตลาดหรือเข้าสู่ตลาด EU ได้ โดยมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมจะเป็นมาตรฐานหนึ่งที่สำคัญของการค้าระหว่างประเทศในอนาคต

ผลกระทบของ CBAM คล้ายกับผลกระทบจากการเรียกเก็บภาษีนำเข้า เนื่องจากผู้นำเข้าสินค้าจากประเทศที่มีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมต่ำกว่า EU จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการซื้อใบรับรอง CBAM ซึ่งราคาใบรับรองอ้างอิงตามราคาซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกในตลาดคาร์บอนของอียู (ราคา ณ วันที่ 1 ธ.ค. 2565 อยู่ที่ประมาณ 85 ยูโรต่อ 1 ตันคาร์บอน)

นอกจากนี้ มาตรการ CBAM ทำให้สินค้านำเข้าจากต่างประเทศมีราคาแพงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าดังกล่าวหรือสินค้าทดแทนที่ผลิตเองในประเทศมากขึ้น ทำให้สินค้าจากต่างประเทศขายได้น้อยลง ในส่วนของผลกระทบต่อผู้ผลิต และผู้ส่งออกสินค้าไป EU จะต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น อาทิ ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงกระบวนการผลิต การติดตั้งระบบหรือเครื่องมือการวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การตรวจประเมิน และการพัฒนาทักษะแรงงาน เป็นต้น

ไม่เพียงแต่ EU เท่านั้น ฝั่งสหรัฐได้เสนอร่างกฎหมาย Clean Competition Act (CCA) มีมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนสำหรับสินค้านำเข้า (Carbon Border Adjustment Mechanism: US-CBAM) ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าว ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะวุฒิสภาคาดว่าจะมีผลบังคับใช้เร็วๆ นี้ 

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า CBAM นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้แต่ละประเทศออกกฎระเบียบด้านการค้าเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศให้มีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่สูงกว่าประเทศคู่ค้า และป้องกันการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีมาตรฐานสิ่งแวดล้อมต่ำกว่า ดังนั้นการเข้าใจ และใช้ประโยชน์จาก CBAM จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับภาคการค้าไทยอย่างมาก 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์