"EV พลังงานทดแทน ไบโอพลาสติก"หนุน BCG ไทยคืบหน้า 30%

"EV พลังงานทดแทน ไบโอพลาสติก"หนุน BCG ไทยคืบหน้า 30%

BCGไทยคืบหน้าแล้ว30% กระแสรถอีวี พลังงานทดแทน ไบโอพลาสติก ขยายตัวเร็วส่งเสริมสินค้าBCG ไร้พรมแดน รักษาสิ่งแวดล้อม

ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากเป้าหมายของไทยที่จะลดการปล่อย 'ก๊าซเรือนกระจก' ให้ได้ 20-25% หรือ 111-139 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี 2573 เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน ผลักดันเป้าหมายกรุงเทพฯ สู่แนวการพัฒนาเศรษฐกิจBCGอย่างเข้มข้น

ภาพรวมของการพัฒนา BCGหรือ Bio-Circular-Green Economy เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียวในประเทศไทยมีความคืบหน้าไปกว่า30%แล้ว ในระยะต่อไป70% ที่เหลือคาดว่าจะบรรลุเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีการขยายผลไปอย่างกว้างขวาง โดยจะเห็นได้จากการประยุกต์ใช้แนวทางBCG ในครัวเรือน การแยกขยะ ทำโรงเรือนปลูกผัก การทำปุ๋ยจากเศษอาหาร ไปจนถึงเปลี่ยนพืชพันธุ์เกษตรเป็นพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECI โรงกลั่นชีวภาพที่สามารถแยกสารต่างๆออกจากผลิตภัณฑ์การเกษตรต่างๆ สร้างมูลค่าเพิ่มนำไปต่อยอดได้ โดยปัจจุบันมีบางโรงงานพลาสติกชีวภาพ หรือไบโอพลาสติกในเมืองไทยเกิดขึ้นแล้ว

 

หากมีความสำเร็จในการผลักดันโดยพร้อมเพรียงกันจะใหญ่ที่สุดในโลก โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ไทยเป็นรายแรกๆของโลกที่เอาโซล่าเซลล์ไปวางบนแผ่นน้ำ ไม่ต้องเปลืองที่ดิน ที่เห็นผลทันทีคือกระแสตื่นตัวซื้อยานยนต์ไฟฟ้าหรือรถ EV และการลงทุนจากผู้ผลิตทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งรถขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯที่เป็นรถไฟฟ้า 

ข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก​ระบุว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยกำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 มีรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามาจดทะเบียนจำนวน 14,816 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ในช่วงเวลาเดียวกันถึง 156.86% 

"รัฐบาลจึงยกประเด็น BCGเป็นเป้าหมายกรุงเทพฯในการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) เอเปค2022 เพื่อให้สินค้า BCG เป็นสินค้าที่ไร้พรมแดน สามารถขายได้ทุกประเทศ โดยที่ไม่มีข้อต่อรองทางการค้ามากจนเกินไป เป็นการยกระดับ BCG ให้เป็นวัตถุประสงค์ร่วมกันของคนทั้งโลก จะเห็นได้ว่า แนวทางBCGได้เกิดขึ้นในประเทศไทยแล้วมีความก้าวหน้าไปอย่างมาก "

สอดคล้องกับรายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อเร็วๆนี้ ได้รับทราบผลการดำเนินงานผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการกำกับกิจการพลังงาน ระยะที่ 4 (พ.ศ. 2563 – 2565) และผลการดำเนินงาน การจัดเก็บรายได้ และการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2565 ในส่วนของการส่งเสริมพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด ได้มีกำกับการส่งเสริมการแข่งขันกิจการก๊าซธรรมชาติเพื่อให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ
การออกหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดทำข้อกำหนดการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (TPA Framework Guideline) เพื่อเตรียมการรองรับนโยบายการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการไฟฟ้าในอนาคต
การกำกับการดำเนินงานกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เช่น จัดเก็บเงินเพื่อชดเชยและอุดหนุนผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า ซึ่งได้ให้บริหารไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาสหรือการให้บริการไฟฟ้าอย่างทั่วถึง เป็นเงิน 13,882 ล้านบาท
 ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เห็นชอบกรอบวงเงินรวมจำนวน 1,920 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการ เช่น โครงการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบมุ่งเป้า
พัฒนากฎระเบียบว่าด้วยประมวลหลักการปฏิบัติงานในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับกิจการไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตติดตั้งต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ ให้ครบทุกเชื้อเพลิง
พัฒนาระบบการปฏิบัติการและการให้บริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ได้แก่ การบริการอนุญาตการประกอบกิจการพลังงานและการบริหารงานกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
พัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มสำหรับบริหารจัดการและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการเรื่องร้องเรียน และพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อการกำกับกิจการพลังงาน “ERC Data Sharing Platform” อย่างต่อเนื่อง