“สินเชื่อสีเขียว”เงื่อนไข เปลี่ยนอุปสรรคเป็นโอกาส

“สินเชื่อสีเขียว”เงื่อนไข  เปลี่ยนอุปสรรคเป็นโอกาส

โมเดลเศรษฐกิจ BCG ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green) คือโมเดลธุรกิจใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลโลกและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นทักษะทางธุรกิจที่ผู้ประกอบการทั้งหน้าเก่าและใหม่

ไม่เพียงแค่รู้จัก แต่ต้องเข้าใจ และใช้ให้เป็นเพราะโมเดลนี้สามารถใช้ประกอบการขอสินเชื่อได้ 

ทัฬห์ สิริโภคี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายลูกค้าธุรกิจรายปลีก ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)  ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ผู้ประกอบการรายย่อยที่ทำเกี่ยวกับการทำ โครงการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ลดสารเคมีโดยมีสินเชื่อบัวหลวงกรีน วงเงินสูงสุด 50 ล้านบาท แล้วแต่ขนาดธุรกิจ ดอกเบี้ย -1% ซึ่งเป็นดอกเบี้ยที่ถูก โดยเงื่อนไขธนาคารสำหรับ ‘สินเชื่อบัวหลวงกรีน’ ซึ่งเป็นการสนับสนุนด้านเงินทุนสำหรับธุรกิจที่ต้องการลงทุนด้านพลังงานทดแทน (Renewable) ไม่ก่อมลพิษทางอากาศหรือปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลงทุนเพื่อนำวัสดุใช้แล้วกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) การลงทุนกับผลิตผลที่ใช้สารชีวภาพทดแทนการใช้สารเคมี ลงทุนพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ

กรณีของโซลาร์เซลล์จะประหยัดการใช้พลังงาน และทำให้คาร์บอนเครดิตดีขึ้น ธนาคารให้สินเชื่อในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ 100% ดอกเบี้ย -1.5% ระยะเวลายาว ในแง่ของการอนุมัติต้องมีตัวเลขอย่างชัดเจน อย่างกรณีของโซลาร์เซลล์ต้องมีตัวเลขว่าใช้แล้วประหยัดไปเท่าไร การลงทุนคือ นำเอารายได้ที่ลดลงไปชำระแทน ลงทุน 7-8 ปี ชำระหนี้หมดที่เหลือก็ประหยัดในระยะยาว

“สินเชื่อสีเขียว”เงื่อนไข  เปลี่ยนอุปสรรคเป็นโอกาส

ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวยังไม่มีผลที่จะทำให้ธุรกิจสีเขียวเติบโตช้าลงเพราะเป็นเทรนด์ที่กำลังเติบโตอย่างมากในปัจจุบันเป็นทั้งประเทศไทย และทั่วโลก ธุรกิจที่มีศักยภาพเป็นแนวทางของรัฐบาลที่จะสนับสนุนการให้สินเชื่อไม่ใช่แค่ธนาคารกรุงเทพ ทุกธนาคารก็พยายามสนับสนุนสินเชื่อสีเขียวเพื่อรองรับธุรกิจสีเขียวมากขึ้น ในปัจจุบันมีการปล่อยสินเชื่อสีเขียวประมาณ 3,500 ล้านบาท สำหรับสินเชื่อ SME 

การส่งเสริมธุรกิจสีเขียวของธนาคารกรุงเทพ สอดคล้องกับข้อมูลส่วนหนึ่งจากบทความที่เผยแพร่โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่อ้างอิงข้อมูลจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ชี้ว่า จำนวนบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจสีเขียว มีสัดส่วนน้อยเพียง 0.4% ของบริษัทจดทะเบียนนิติบุคคลทั้งหมด (ซึ่งไม่นับรวมธุรกิจโรงไฟฟ้า) มีจำนวน 12,322 บริษัท ในปี 2560  เพิ่มขึ้นจาก 9,632 บริษัท ในปี 2550  ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมประหยัดพลังงาน (Energy Efficiency) เช่น ธุรกิจผลิตมอเตอร์ไฟฟ้า ธุรกิจรับติดตั้งฉนวนกันความร้อน เป็นต้น

แม้ทิศทางการส่งเสริม และเดินหน้าสู่แนวทางธุรกิจสีเขียวเพื่อสินเชื่อสีเขียวจะมีทิศทางเติบโตสูงแต่หากมองภาพใหญ่จะเห็นว่าธุรกิจเพื่อความยั่งยืนนี้ยังมีสัดส่วนที่น้อยมากการส่งเสริม และดำเนินงานร่วมกันจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อไป

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์