COP27 ทุ่มสรรพกำลัง  เร่งเครื่องสู่ Net Zero

สวัสดีครับสิ้นสุดไปแล้วสำหรับการประชุมรัฐภาคี กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP27) ณ เมือง ชาร์ม เอล ชีค ประเทศอียิปต์ ท่ามกลางวิกฤติการเงินเฟ้อที่ยังสร้างแรงกดดันให้กับทุกประเทศทั่วโลก

ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซีย และยูเครนที่ยืดเยื้อมาเกือบหนึ่งปี และไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงโดยง่าย ตลอดจนวิกฤติพลังงาน และก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

 จึงเกิดคำถามขึ้นมากมายว่าวิกฤติที่ถาโถมเข้ามาระลอกแล้วระลอกเล่าจะสร้างความบอบช้ำจนเกินกว่ามนุษย์จะรับไหวหรือไม่

  ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในหลายมิติ อาทิ สภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว น้ำท่วม และภัยแล้งที่ยืดเยื้อ ยิ่งไปกว่านั้น ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) ได้รายงานข้อมูลที่น่ากังวลว่าระหว่างปี ค.ศ. 2035 - 2044 จะมีประชากรไทยกว่า 2 ล้านคน ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และระหว่างปี ค.ศ. 2070 - 2100 คนไทยกว่าอีก 2.4 ล้านคน ต้องเผชิญกับน้ำท่วมพื้นที่ชายฝั่ง (Coastal Flooding)

  แม้เรื่องนี้อาจจะดูไกลตัว แต่เชื่อหรือไม่ว่าแม้ประเทศไทย มีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นเพียง 0.8% ของทั่วทั้งโลก แต่กลับเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอันดับ 9 ของโลก และเป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคอาเซียนถัดจากฟิลิปปินส์ และเมียนมาร์ตามลำดับ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกเร็วที่สุด

 ในการประชุม COP27 ประเทศไทยคือ หนึ่งในกว่าร้อยประเทศที่ได้ประกาศแผนการสู่เส้นทางการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) โดยตอกย้ำว่าเราได้ปฏิบัติตามพันธสัญญาที่ให้ไว้ที่การประชุม COP26 ด้วยการกำหนดยุทธศาสตร์ระยะยาวในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ.2065 ตลอดจนเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution : NDC) เพื่อเพิ่มเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเป็น 40% ภายในปี ค.ศ.2030

แม้การประชุม COP27 จะกำหนดไว้ระหว่างวันที่ 6-18 พ.ย. แต่เนื่องจากประเทศต่างๆ ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ การประชุมจึงยืดเยื้อมาจนถึงวันที่ 20 พ.ย. 2565 และในที่สุด ทุกฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ที่จะก่อตั้งกองทุนเพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Loss and Damage Fund) โดยประเทศที่ร่ำรวยต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องเผชิญกับ “ความสูญเสียและความเสียหาย” จากภัยของพายุ น้ำท่วม ภัยแล้ง และไฟป่า อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นการบรรลุข้อตกลงนี้ถือเป็นย่างก้าวที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับความร่วมมือเพื่อแก้ไขวิกฤติที่กำลังคุกคามมนุษยชาติในเวลานี้

 

 

 

และที่จัดคู่ขนานกับงาน COP27 ในปีนี้คือ งานประชุมสุดยอดผู้นำ APEC โดยผู้นำจากทุกเขตเศรษฐกิจได้ร่วมรับรอง “Bangkok Goals on BCG Economy" หรือเป้าหมายกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจหลักที่มุ่งเน้นไปยังการจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม การขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ และการปรับปรุงประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรเพื่อลดขยะให้เป็นศูนย์ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก รวมไปถึงลดช่องว่างในเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคม

การประชุมสุดยอดทั้งสองงานอาจจะเกิดขึ้นคนละมุมโลก แต่ทว่าได้ฉายภาพความท้าทายที่ชัดเจน พร้อมส่งผ่านความคาดหวังที่เหมือนกันไปยังทุกประเทศทั่วโลก ให้ทำทุกวิถีทางเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทั้งด้านเศรษฐกิจ และความยั่งยืนโดยเร็วที่สุด ผมเห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า ณ เวลานี้ ดูเหมือนเรากำลังเหยียบคันเร่ง และนำพาโลกมุ่งสู่การล่มสลายจากปัญหาสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นเวลาที่เหมาะที่สุดในการลงมือทำคือ ตอนนี้เท่านั้นครับ