"อรุณ พลัส" ดันไทยศูนย์กลางยานยนต์สีเขียว ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม EV ครบวงจร

"อรุณ พลัส" ดันไทยศูนย์กลางยานยนต์สีเขียว ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม EV ครบวงจร

"อรุณ พลัส" หนึ่งในแนวร่วม Green Heroes For Life ของ "ชไนเดอร์ อิเล็คทริค" พร้อมดันไทยศูนย์กลางยานยนต์สีเขียว ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม EV ครบวงจร ตั้งเป้าสู่สังคมพลังงานสะอาดยั่งยืน

จากแนวโน้มของผู้บริโภคที่ต้องการลดการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเทรนด์โลกในปัจจุบันที่ผู้บริโภคเริ่มหันมาให้ความสำคัญเรื่อง พลังงานสะอาด มากขึ้น กำลังส่งผลให้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle) หรือ EV มีบทบาทสำคัญมากขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้

กระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกยานยนต์ดังกล่าว ยังทำให้ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมให้เกิดการผลิตการใช้ ยานยนต์ไฟฟ้า ในประเทศ โดย คณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้กำหนดนโยบาย 30@30 ส่งเสริมการตั้งเป้าการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ในประเทศไทยให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี พ.ศ. 2573 หรือเฉลี่ยประมาณ 725,000 คัน

หากจะนำพาประเทศไทยไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ ยังคงจำเป็นต้องมีภาคธุรกิจที่มาร่วมเป็น "ส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน" จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง บริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด (Horizon+) บริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (Arun+) และบริษัท หลินยิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล อินเวสเมนท์ (Foxconn) เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยเทคโนโลยี MIH platform ครบวงจรระดับสากล และให้บริการเต็มรูปแบบแห่งแรกในประเทศไทย ตั้งเป้าส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่อย่างยั่งยืน

ปรเมษฐ์ ห้อยสังวาลย์ Head of Product Platform Development Department บริษัท อรุณ พลัส จำกัด กล่าวว่า ในฐานะองค์กรชั้นนำของประเทศที่มีวิสัยทัศน์ "Powering Life with Future Energy and Beyond" บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) มองเห็นแนวโน้มธุรกิจในอนาคตว่าโลกกำลังก้าวเข้าสู่ Energy Transition เกิดการเปลี่ยนยุครถยนต์ที่ใช้พลังงานฟอสซิลและน้ำมัน ไปสู่รถไฟฟ้า รวมถึงจากนโยบายภาครัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมให้เกิด EV Ecosystem ในประเทศไทย แต่วันนี้ประเทศไทยยังไม่มีการผลิตรถเต็มรูปแบบ ยังคงมีแต่การนำเข้า ปตท. จึงตอบสนองนโยบายและทิศทางการส่งเสริม EV ของภาครัฐในการสนับสนุนประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของภูมิภาค ขณะเดียวกันปตท. ยังมีเป้าหมายความต้องการส่งเสริมให้สังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) อีกด้วย

"เรามองความยั่งยืนเป็นเป้าหมายหลักสำคัญหนึ่งในการทำธุรกิจ บริษัทฯ ตั้งเป้าเป็นธุรกิจ Go Green Go Electric คือการผลิตรถไฟฟ้า เพื่อช่วยลดการปล่อยมลพิษในภาคขนส่ง จากการที่เราตั้งเป้าหมายเป็นผู้ผลิตรถอีวี จึงมองหาบริษัทที่มีศักยภาพ เพราะ อรุณ พลัส มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจในเชิงการสรรหาพันธมิตร สร้างความร่วมมือกับบริษัทที่มีความชำนาญหรือมีจุดเด่นในด้านต่างๆ ซึ่งหลังจากที่สรรหาอยู่นาน เราเชื่อว่า ฟ็อกซ์คอนน์ มีศักยภาพและความพร้อมที่จะเป็นพันธมิตร ร่วมถ่ายทอดโนว์ฮาวให้กับเรา ที่จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศได้ในระยะยาวอีกด้วย"

ปรเมษฐ์ ให้ข้อมูลว่า การใช้ รถอีวี ช่วยเรื่องความยั่งยืนในหลายด้าน ทั้งด้านเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ลดการปล่อยของเสียหรือมลพิษ ไม่ว่าจะเป็นควันพิษคาร์บอนมอนอกไซด์ หรือ PM 2.5 ที่ส่งผลเสียต่ออากาศและสุขภาพ รวมถึงช่วยลดมลพิษทางเสียง อีกทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง

"รถอีวีมีประสิทธิภาพในการดึงพลังงานไฟฟ้ามาใช้ถึง 90% ขึ้นไป จึงยั่งยืนในแง่พลังงาน เพราะพลังงานที่ใช้ไปไม่สูญเปล่า หากเราเติมน้ำมัน เราได้ใช้เต็มประสิทธิภาพเพียง 30% ที่เหลือคือสูญเสียไปจากการเผาไหม้ ที่สำคัญรถอีวีหนึ่งคัน หากใช้งานเป็นเวลาประมาณ 1 ปี สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 500-600 ตันโดยประมาณ ซึ่งเทียบเท่ากับการต้องปลูกต้นไม้ เพื่อนำมาดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 500 ต้น แต่การใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะช่วยหยุดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ตั้งแต่ต้น"

ปรเมษฐ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความใส่ใจต่อกระบวนการผลิตและการบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยมีความต้องการสนับสนุนสินค้าและบริการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวในการเปลี่ยนกระบวนการผลิตและพัฒนาสินค้าโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

"อีกเทรนด์หนึ่งที่เกิดขึ้นชัดเจนทั่วโลกคือ ผู้บริโภคต้องการมองหาสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้บริโภคก็จะกลับมาถามผู้ผลิตว่าสิ่งที่เราผลิตออกมา นอกจากไม่สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว การจะได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์นี้ ใช้พลังงานแบบไหน กระบวนการผลิตเป็นแบบไหน เขามองลึกไปถึงต้นทาง ซึ่งภาคธุรกิจก็ต้องปรับตัว เราจะคิดแค่การผลิตสินค้าให้ได้ราคาถูกอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมีการจัดการอย่างครบถ้วนด้วย"

จากการตั้งเป้าหมายเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืน อรุณ พลัส จึงมุ่งสู่การเป็น Green Contract Manufacturer โดยในกระบวนการผลิตมุ่งเน้นเรื่อง Zero waste นั่นก็คือ การไม่ปล่อยของเสียและมลพิษจากกระบวนการผลิตออกไปสู่ภายนอก ในด้านการจัดการพลังงานซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิต ในโรงงานผลิตยังมีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาโรงงาน และมีการนำพลังงานไฟฟ้าจากระบบแสงอาทิตย์มาใช้บริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อไม่ให้เกิดของเสียจากการผลิตอย่างสูญเปล่า ไปจนถึงการดูแลเรื่องคุณภาพและความปลอดภัย พร้อมการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อลูกค้า

สำหรับกระบวนการผลิตรถอีวี ยังเป็นการผลิตอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่มีการออกแบบกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม อาทิ มีการนำเทคโนโลยีต่างๆ เช่น เทคโนโลยีไอโอที (IoT) เอไอ (AI) หรือออโตเมชัน (Automation) มาใช้ในการบริหารจัดการทั้งด้านข้อมูลและการผลิตสินค้า ระบบสินค้าคงคลัง ซึ่งเหล่านี้เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้มีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม ทำให้ได้ประโยชน์คือ ต้นทุนการผลิตที่ลดลง และการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และไม่สร้างผลกระทบเช่นในอดีต

"ต้องยอมรับว่า โจทย์ความยั่งยืนทุกวันนี้มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ เรียกว่าเมื่อก่อนแค่โลกร้อน แต่ตอนนี้โลกถึงขั้นรวนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม มลพิษต่างๆ ถูกสะสมมาเป็นเวลานาน ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากการใช้เทคโนโลยีที่ขาดประสิทธิภาพในอดีต แต่วันนี้เรามีเทคโนโลยีที่สูงขึ้น เราจึงต้องนำมาใช้ประโยชน์ให้ครบวงจรและสูงสุด ใช้ทรัพยากรน้อยลง และยังปล่อยมลพิษน้อยลง เพราะสุดท้ายแล้วประเด็นความยั่งยืน ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือผู้บริโภค"

ปรเมษฐ์ กล่าวด้วยว่า ทุกวันนี้โลกกำลังได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและโรคระบาดที่ทุกคนไม่เคยคาดคิดมาก่อน สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเริ่มใกล้ตัวมากขึ้นทั้งภาคประชาชน ภาคผลิต ภาคธุรกิจและส่งผลเสียหายต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวม

"เมื่อก่อนผู้บริโภคอาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ปัจจุบันเราได้พบแล้วว่าใกล้ตัวเรามาก มีผลกระทบมากขึ้น นี่คือเรื่องจำเป็นที่เราต้องลุกขึ้นมาทำในทันที และที่สำคัญ ความยั่งยืนทางธุรกิจและความยั่งยืนของโลกมีความสอดคล้องเป็นเรื่องเดียวกัน ในการจะทำให้ธุรกิจยั่งยืนได้ เราจำเป็นต้องส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดี เพราะเชื่อว่าหากผู้บริโภคได้อยู่ในสภาพแวดล้อมดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี ก็ย่อมส่งผลกลับมาในภาคธุรกิจในแง่การบริโภค"

แน่นอนว่า การผลักดันอุตสาหกรรมรถอีวี ไม่เพียงช่วยขับเคลื่อนทิศทางการใช้ พลังงานสะอาด ของประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำในอนาคต แต่ยังช่วยยกระดับอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนโดยรวม เพราะนอกจากโรงงานที่จะเป็นฐานการผลิตอีวีที่กำลังเร่งก่อสร้างแล้ว อรุณ พลัส ยังมีแผนที่จะจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในประเทศไทยควบคู่กับการลงทุนด้านการผลิต เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมให้บุคลากรมีความรู้ ความสามารถ รองรับทิศทางของอุตสาหกรรมที่จะมุ่งสู่นวัตกรรมแห่งอนาคตได้อย่างยั่งยืนต่อไป 

การดำเนินธุรกิจดังกล่าว ได้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการสร้างความยั่งยืนเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ Green Heroes For Life ของ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค 

\"อรุณ พลัส\" ดันไทยศูนย์กลางยานยนต์สีเขียว ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม EV ครบวงจร

สเตฟาน นูสส์ ประธานกลุ่มคลัสเตอร์ ดูแลประเทศไทย เมียนมา และลาว ชไนเดอร์ อิเล็คทริค กล่าวว่า การร่วมกันต่อสู้กับ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสร้างความยั่งยืน นับเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับทุกธุรกิจในปัจจุบัน และเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือกันในทุกระดับ ทุกองค์กรไม่ได้จำกัดเฉพาะบริษัทใหญ่ๆ จะเป็นองค์กรขนาดกลางและขนาดย่อม หรือสถาบันต่างๆ เราก็สามารถมาร่วมแบ่งปันเรื่องราวด้านความยั่งยืนร่วมกัน เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดกระแสและการปฏิบัติไปสู่ความยั่งยืนของโลกได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

"เราได้รับการตอบรับที่ดีจากองค์กรและหน่วยงานต่างๆ ในการมาร่วมเล่าถึง เป้าหมายด้านความยั่นยืนและวิธีดำเนินการขององค์กรนั้นๆ ในโครงการ Green Heroes For Life ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญที่แต่ละองค์กรมาร่วมกันแบ่งปันประสบการณ์และความเป็นผู้นำในการก้าวสู่องค์กรที่ยั่งยืน มาร่วมเป็น Green Heroes For Life ด้วยกัน เพื่อสร้างองค์กรที่ยั่งยืน และเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมาย Net Zero ในอนาคตร่วมกัน" สเตฟาน นูสส์ กล่าวทิ้งท้าย 

สนใจเข้าร่วมโครงการ Green Heroes For Life โดย คลิกที่นี่