“เทรนด์ภาษีพลาสติก”โอกาสตลาดบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก"

“เทรนด์ภาษีพลาสติก”โอกาสตลาดบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก"

เมื่อภาษีและการรักษาสิ่งแวดล้อมกำลังมาบรรจบพบเจอกัน เหมือนคู่ต่างที่ไม่มีใครอยากให้พบกัน แต่ในเมื่อสิ่งแวดล้อมคือปัญหาใหญ่และเร่งด่วนตัวช่วยอย่าง"ภาษี"คือเครื่องมือสำคัญที่่ต้องนำมาใช้ ภาษีพลาสติกเพื่อลดขยะจึงเป็นเทรนด์ที่ต้องสนใจ

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)กระทรงพาณิชย์ ได้เผยแพร่ "รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการบูรณาการผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อเชื่อมโยงเข้าสู่ห่วงโซ่คุณค่าโลก"จัดทำโดย ศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สาระสำคัญส่วนหนึ่งเล่าถึงโอกาสของบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมซึ่งจะเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้นท่ามกลางเศรษฐกิจที่ส่อว่าจะถดถอย 

โดยรายงานชี้ว่า ผู้บริโภคเกิดความตระหนักด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้บริโภคทั่วไปกว่า 20%  ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ หรือบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติมากขึ้น 

“ในหลายประเทศทั่วโลกได้ออกมาตรการลดขยะพลาสติก และการรณรงค์รีไซเคิลขยะเพื่อลดขยะพลาสติกในทะเล และลดมลภาวะจากขยะล้นเมือง เช่น ประเทศสวีเดน ต้นแบบของการกำจัดขยะ และนำขยะกลับมาใช้เป็นพลังงานภายในประเทศ ได้ถึง 96%  ของขยะในประเทศ” 

นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างที่ประเทศ สหรัฐ เดนมาร์ก อินโดนีเซีย และจีน ซึ่งกำหนดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจากผู้ผลิตถุงพลาสติกภายในประเทศ และมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมจากถุงพลาสติก ในประเทศอังกฤษ อินโดนีเซีย กัมพูชา และมาเลเซีย และการรณรงค์เลิกใช้ถุงพลาสติกจากหลายประเทศ 

รายงานยังชี้ ถึงทางออกการดูแลสิ่งแวดล้อมให้ปลอดจากภัยพลาสติก โดยชี้ว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมในปัจจุบันที่ก้าวหน้า ก่อให้เกิดงานวิจัยเรื่องบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกเป็นจำนวนมาก เช่น บรรจุภัณฑ์บริโภคได้ (edible packaging) ผลิตจากสาหร่ายสีน้ำตาล กับสารประกอบแคลเซียม ใช้สำหรับน้ำเปล่า หรือน้ำหวาน ทดแทนขวดและแก้วพลาสติก ทดลอง ใช้ในงานวิ่งมาราธอนในกรุงลอนดอน บรรจุภัณฑ์ชีวภาพ (bio packaging) ผลิตจากอ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง สามารถย่อยสลายได้ใน 180 วัน บรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายด้วยวิธีทางชีวภาพ(biodegradable packaging) สามารถใช้แทนกระดาษและโฟมพอลิสไตรีนได้ บรรจุภัณฑ์ดังกล่าวผลิตจากปูนขาว แป้งมันฝรั่ง และเส้นใยพืช ซึ่งอาจเป็นเส้นใยใหม่หรือจากกระดาษรีไซเคิล ผ่านการทำให้พองโดยใช้ไอน้ำแล้วอบในอุปกรณ์คล้ายกับอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตโคนไอศกรีม บรรจุภัณฑ์รีไซเคิล (recycle packaging) ผลิตจากพลาสติกชนิดเดียวกัน เช่น พอลิพรอพิลีน (polypropylene: PP) เนื่องจากรีไซเคิลง่าย ใช้ต้นทุนต่ำ และสามารถผลิตได้จริงในเชิงพาณิชย์ บรรจุภัณฑ์วัสดุชนิดเดียว (mono-material) เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้วัสดุพลาสติกประเภทเดียวกันทั้งหมด ที่มีจุดประสงค์หลัก เพื่อการรีไซเคิลที่ไม่ต้องทำการจำแนกชนิดของขยะพลาสติก เป็นต้น (สมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย, 2558)

ทั้งนี้ สนค.ร่วมกับศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานในการให้บริการด้านวิชาการ การวิจัย และพัฒนานวัตกรรมด้านอาหารและบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรของภาคเหนือแก่ผู้ประกอบการทั้งเกษตรกร SMEs วิสาหกิจชุมชน ภาครัฐ ภาคเอกชน จนถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ในปี พ.ศ. 2559-2563 แล้ว มากกว่า 1,000 ราย ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา มากกว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาศักยภาพของธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ สนับสนุนและเชื่อมโยงให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน โดยอาศัยความรู้ ความเชี่ยวชาญในการวิจัย พัฒนา และสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร 

ความพยายามเพื่อรักษ์โลกและการทำให้ธุรกิจและอาชีพยั่งยืนกำลังเป็นเรื่องเดียวกันที่หากร้อยเรียงอย่างเหมาะสมและจริงจังกฎระเบียบใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นก็เป็นแค่เงื่อนไขที่มีไว้สำหรับผู้ที่ไม่รู้จักปรับตัวนั่นเอง