ส่อง “ธุรกิจบิวตี้” ทำอย่างไรให้ "ยั่งยืน" ตลอดวงจรการผลิต

ส่อง “ธุรกิจบิวตี้” ทำอย่างไรให้ "ยั่งยืน" ตลอดวงจรการผลิต

Climate Change ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นหลักในการดำเนินธุรกิจ ไม่เว้นแม้แต่ ธุรกิจความงาม ที่นอกจากจะต้องพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ตรงตามความต้องการผู้บริโภคแล้ว การคำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมยังมีความสำคัญไม่แพ้กัน

ไบเออร์สด๊อรฟ ในฐานะผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ดูแลผิวอย่าง “นีเวีย” และ “ยูเซอริน” เป็นหนึ่งในบริษัทที่ดำเนินการโครงการและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสังคมมา ตั้งแต่ปี 2554 ภายใต้กลยุทธ์ C.A.R.E.+ (Care Beyond Skin) ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานทดแทน บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาคุณภาพและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและผืนป่าในแหล่งวัตถุดิบ เป็นต้น โดยมี 3 แกนหลัก ของกลยุทธ์ธุรกิจเพื่อความยั่งยืน C.A.R.E.+ (Care Beyond Skin) ได้แก่ ผู้บริโภค สังคม และ สิ่งแวดล้อม

 

เป็นกลางทางคาร์บอน ปี 73

 

“สเตฟานี แบร์โรล” รองประธานกรรมการอาวุโส ภูมิภาคอาเซียน บริษัท ไบเออร์สด๊อรฟ กล่าวในโอกาส เปิดบ้านพาชมกระบวนการผลิตรักษ์โลก โดยระบุว่า การดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่แหล่งที่มาของวัตถุดิบที่จะต้องปลูกและเก็บเกี่ยวโดยไม่ทำลายผืนดิน การใช้น้ำมันปาล์มที่มาจากการผลิตแบบยั่งยืน การรักษาผืนป่าและต้นน้ำ

 

การจ้างงานและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้มีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดี ตลอดจนโรงงานผลิตที่เลือกใช้พลังงานทดแทน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงเลือกบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม การกำจัดของเสียในกระบวนการผลิต และการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

“ไบเออร์สด๊อรฟ (ประเทศไทย)” กระบวนการผลิตรักษ์โลกเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การกำจัดกากหรือของเสียโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม (Zero Waste Landfill) ตั้งแต่ปี 2559 ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 43% จากการใช้นวัตกรรมพลังงานลูกผสมอย่าง Mobile Energy เทียบกับข้อมูลฐานด้านพลังงาน (Baseline) ในปี 2561

 

ขณะเดียวกัน 100% ของพลังงานที่ใช้มาจากแหล่งพลังงานทางเลือก รวมทั้งการพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์สีเขียวที่เริ่มในผลิตภัณฑ์ดูแลและทำความสะอาดผิว โดยเลือกใช้พลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือส่วนผสมที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ

 

ส่อง “ธุรกิจบิวตี้” ทำอย่างไรให้ "ยั่งยืน" ตลอดวงจรการผลิต

 

ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ฐานการผลิตทั่วโลกของไบเออสด๊อรฟ รวมถึงที่ประเทศไทย ได้เปลี่ยนมาใช้พลังงานสีเขียวอย่างเต็มรูปแบบ 100% เป้าหมายต่อไป คือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่อุปทานลง 30% ในปี 2567 และ เดินหน้ามุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2573

 

“สุเรขา วันเพ็ญ” Production Center Director บริษัท ไบเออร์สด๊อรฟ (ประเทศไทย) แผนงานและพันธกิจในการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงงาน ไบเออร์สด๊อรฟ (ประเทศไทย) ซึ่งตั้งอยู่บางพลี สมุทรปราการ เป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดที่อยู่นอกยุโรป กำลังการผลิต 300 ล้านชิ้นต่อปี แบ่งเป็น

  • นีเวีย 99%
  • ยูเซอรีน 1%

โดยผลิตภัณฑ์ที่ออกจากโรงงานเป็นในกลุ่ม Personal care 62% ในจำนวนนี้เป็น “โรลออน” กว่า 60% และ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้า 40%

 

ผลิตภัณฑ์ทั้ง 300 ล้านชิ้นที่ออกจากโรงงาน ซึ่งก่อให้เกิดขยะ จึงต้องดีไซน์ “บรรจุภัณฑ์” ให้ใช้วัสดุพลาสติกและแก้วให้น้อยที่สุด โดยที่ลูกค้ายังสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยและมีคุณภาพ หรือการนำเอาวัสดุรีไซเคิลมาใช้ เช่น โรลออน ใช้ขวดแก้วเป็นบรรจุภัณฑ์ มีการพูดคุยกับซับพลายเออร์ทำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แก้วจากกระบวนการรีไซเคิล 31% ทำให้ 1 ปี สามารถลดปริมาณแก้วได้ถึง 98 ตันเทียบกับช้าง 20 ตัว

 

“กระดาษ” ซื้อกระดาษจากป่าเชิงพานิชย์ที่ได้รับการรับรองจาก องค์การจัดการด้านป่าไม้ (Forest Stewardship Council หรือ FSC) 100% ขณะที่กล่องลังใช้กระดาษรีไซเคิล 100% ลดกระดาษได้ 93 ตันต่อปี 

“พลาสติก” นำขวดพลาสติกรีไซเคิลมาใช้ในการผลิตขวด สามารถลดพลาสติกได้กว่า 57 ตันต่อปี

ขณะที่ “สเปรย์” กระป๋องทำจากอลูมิเนียม แต่เดิมใช้อลูมิเนียมบริสุทธิ์ ได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อปรับใช้วัสดุทดแทนให้ Eco Friendly มากขึ้น สามารถย่อยสลายได้เร็วขึ้น 99.5% ลดการใช้อลูมิเนียม 31 ตัน และ “ครีมกันแดด” ทุกตัวปลอดภัยต่อระบบนิเวศใต้น้ำ 100%

 

ส่อง “ธุรกิจบิวตี้” ทำอย่างไรให้ "ยั่งยืน" ตลอดวงจรการผลิต

 

หมุนเวียนพลังงาน เพื่อความยั่งยืน 

 

กระบวนการผลิตที่ส่วนใหญ่ใช้ “พลังงานแสงอาทิตย์” โดยติดตั้งโซลาร์เซลล์ เป้าหมาย 40% ขณะที่ “การใช้น้ำ” เป็นสิ่งสำคัญในกระบวนการผลิต และยังเป็นส่วนประกอบสำคัญในการล้างเครื่องจักรในกระบวนการเปลี่ยนสูตรโลชั่น มีการนำเทคโนโลยีนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ โดยผ่านการประเมินความเสี่ยงขั้นสูงสุดเพื่อให้มั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ ขณะที่ “ระบบทำความร้อน ความเย็น” เลือกที่ประหยัดพลังงานมากที่สุดและปรับปรุงทุกปี

 

“การขนส่ง” เปลี่ยนรถขนส่ง จากใช้น้ำมันมาใช้รถแก๊ส และ เริ่มพิจารณาวางแผนนำรถไฟฟ้ามาใช้เป็นรถรับส่งพนักงาน “เชื้อเพลิง” เปลี่ยนมาใช้ก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas) ลดการใช้เชื้อเพลิงลงไปได้ 30% จากปี 2561 รวมถึงการแยกขยะในโรงงาน และใช้เทคโนโลยีเพื่อลดการใช้กระดาษ (Paperless) และมีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ 40% ภายในโรงงาน

 

ส่อง “ธุรกิจบิวตี้” ทำอย่างไรให้ "ยั่งยืน" ตลอดวงจรการผลิต

 

“ไบเออร์สด๊อรฟ มองถึงอนาคต การลงทุนไม่ได้มองแค่การคุ้มทุนแต่มองเรื่องระยะยาวว่าจะสามารถดีไซน์เครื่องจักร อาคาร ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดได้อย่างไร ครอบคลุมไปถึงวงจรผลิตภัณฑ์ แม้จะเป็นไปได้ยากที่จะเป็น Zero waste แต่ต้องมั่นใจว่าของเสียที่ออกจากโรงงานถูกกำจัดในรูปแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยไม่อนุญาตให้ฝังกลบ หรือ Zero Waste Landfill” สุเรขา กล่าว

 

ล่าสุด “นีเวีย” ได้รับรางวัล “สุดยอดแบรนด์ทรงพลังแห่งปี” The Most Powerful Brand of Thailand 2022 ในกลุ่ม “Facial and Skin care” จากการสำรวจผู้บริโภคชาวไทย 18-69 ปี กว่า 24,000 คนทั่วประเทศ จัดโดย ภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ส่อง “ธุรกิจบิวตี้” ทำอย่างไรให้ "ยั่งยืน" ตลอดวงจรการผลิต