เทคโนโลยี“เก็บคาร์บอนไว้ใต้ดิน” พลังงาน- ปตท.สผ.-กฟผ.เร่งศึกษาจบม.ค.66

เทคโนโลยี“เก็บคาร์บอนไว้ใต้ดิน”   พลังงาน- ปตท.สผ.-กฟผ.เร่งศึกษาจบม.ค.66

ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ได้เป็นที่รับรู้และเข้าใจในวงกว้างแล้ว ขั้นตอนจากนี้จะเป็นเรื่องของการลงมือปฎิบัติซึ่ง"เทคโนโลยี"จะเป็นเหมือนทางลัดให้เป้าหมายประสบความสำเร็จเร็วขึ้น

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเปิดเผยในโอกาสเดินลงพื้นที่ พร้อมด้วยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ผู้บริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตรวจเยี่ยมและประชุมติดตามการดำเนินงานของกฟผ. แม่เมาะ 

สำหรับกฟผ.แม่เมาะ มีศักยภาพในการพัฒนาไปสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมด้านพลังงานสะอาด รวมทั้งยังมีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Storage : CCS)ซึ่งมอบหมายให้สามหน่วยงานคือกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) ปตท.สผ. และ กฟผ. เร่งดำเนินการศึกษาเบื้องต้นให้แล้วเสร็จ ภายในเดือนม.ค. ปี2566หากสามารถพัฒนาไปสู่การกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ก็จะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน

เทคโนโลยี“เก็บคาร์บอนไว้ใต้ดิน”   พลังงาน- ปตท.สผ.-กฟผ.เร่งศึกษาจบม.ค.66

“อยากให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลที่มีแลกเปลี่ยนกันให้ได้มากที่สุด หากสามารถทำได้จริงด้วยราคาที่เหมาะสมก็จะเป็นโอกาสให้การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะดำเนินต่อไปได้สอดคล้องกับทิศทางและนโยบายหลักของประเทศ”

 นอกจากนี้ ยังให้สามหน่วยงานร่วมกันเตรียมศึกษาโครงการCCSที่โรงไฟฟ้าน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าจะได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ในอนาคต

สำหรับเทคโนโลยี CCS เป็นกระบวนการในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งกำเนิดในภาคอุตสาหกรรม และนำมากักเก็บไว้ในชั้นหินใต้ดินอย่างถาวร โดยไม่ปล่อยกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ มีการบริหารจัดการ การติดตาม และตรวจสอบก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกกักเก็บอย่างเหมาะสม เพื่อความปลอดภัยในทุกขั้นตอน อย่างไรก็ตาม พบว่าเทคโนโลยีดังกล่าวยังไม่ยังมีราคาสูงจึงยังไม่เป็นที่นิยม แต่ต่อมา หลังการให้ความสำคัญกับปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงในช่วงปี 2012 ซึ่งมีการเพิ่มแรงจูงใจเพื่อการลงทุนในเทคโนโลยีCCSทั่วโลก ความเคลื่อนไหวเพื่อลงทุนด้านนี้จึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ที่จีน นำCCS มาเป็นหนึ่งใน 5 ทางเลือกเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด 

สำหรับความเคลื่อนไหวในประเทศไทยนั้นในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 ได้เห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอนของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับประชาคมโลก โดยนำเทคโนโลยีด้านการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน มาประยุกต์ใช้ในภาคพลังงาน และภาคอุตสาหกรรมอย่างแพร่หลาย

(ข้อมูลจาก http://www.tgo.or.th และhttps://www.pttep.com)