BTS หนุน วิน E-Bike เสริม Door to Door Operation

BTS หนุน วิน E-Bike เสริม Door to Door Operation

ตามหลักภาษา ในหนึ่งประโยค จะต้องประกอบด้วย ประธาน กริยา และกรรม หากนำหลักการเดียวกันนี้ มาอธิบายการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่อย่าง กรุงเทพมหานคร เราสามารถบอกได้ว่า ประธาน คือ ผู้กระทำ และกรรม คือ ผลของการกระทำ สองสิ่งนี้อาจเกิดขึ้นกับคนคนเดียวกันได้

หากเทียบว่าเราทุกคนในเมือง คือ “ประธาน” ในรูปประโยคสามัญ   “การเดินทาง” เป็น“กริยา” ซึ่งกริยานี้หากไม่ตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว “กรรม” ก็อาจจะเป็น “คนในเมือง” นั่นเอง  

การเชื่อมโยงดังกล่าว สามารถอธิบายได้ว่าการใช้รถยนต์พลังงานฟอสซิลจะปล่อยก๊าซคาร์บอน ทำให้อากาศเป็นพิษ คนในเมืองเองก็ต้องสูดอากาศเป็นพิษ นอกจากนี้ ยังไม่รวมผลสะสมจากการปล่อยคาร์บอนที่ไปทำลายชั้นบรรยากาศจนทำให้เกิดปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอีก  ดังนั้น การใช้รถไฟฟ้าสาธารณะน่าจะเป็นการแก้สมการคนเมืองได้ แต่ในความเป็นจริงมีบางสิ่งที่ซ่อนอยู่ที่ทำให้สมการ การเดินทางที่ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมนี้ ยังไม่ใช่ทางออกทั้งหมดของปัญหา   

ขอเล่าถึงบทสนทนาในงาน Climathon BKK ซึ่งเป็นกิจกรรมที่หลายภาคส่วนร่วมมือกัน เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยการระดมสมองแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ในส่วนของ Session: Climathon Hacker Networking Night Talk: Sustainable Mobility & Transport Solutions โดยผู้แทนจาก บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) (BTS) มาร่วม ประกาศโจทย์ Bangkok Climate Challenge ด้าน Transport & Mobility 

โดย นรศิรา ศรีสันต์ ที่ปรึกษากลยุทธ์สื่อสารองค์กร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และพนา อังกาบ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มาร่วมแบ่งปันบทสนทนาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับการขนส่งในกรุงเทพฯ ให้ฟัง ว่า  บีทีเอส ดำเนินธุรกิจรถไฟฟ้ามานานถึง 23 ปี สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ 2 ล้านตันคาร์บอน แต่หากเทียบกับปัจจุบัน ทั่วโลกปล่อยคาร์บอน ประมาณ 4 หมื่นล้านตัน ส่วนในประเทศไทย ประมาณ 300 ล้านตัน  

 

จะเห็นว่าสิ่งที่บีทีเอสทำได้ยังน้อยมาก แม้ว่า รถไฟฟ้าจะเป็นระบบขนส่งที่ปล่อยคาร์บอนน้อย แต่เมื่อเทียบสัดส่วนกับระบบขนส่งอื่นๆ โดยเฉพาะรถยนต์นั่งส่วนบุคคล โดยรถไฟฟ้า 1 ขบวน 4 ตู้ จุ 6 คนต่อ 1 ตารางเมตร ดังนั้น 1 ขบวนจะขนส่งคนได้ ได้ 1,148 คน ใช้พลังงานไฟฟ้าต่อ 1 กิโลเมตร (กม.) ต่อ 1 Car หรือ ตู้ ไม่เกิน 2.8 KW ซึ่งถือว่าน้อยมาก และบีทีเอส มีความพยายามจะร่วมทำให้เป้าหมายประเทศไทย ที่ประกาศในการประชุม COP 26 เมื่อปี 2564 ที่จะลดการใช้ไฟฟ้าลง 40% ในปี 2030 ประสบผลสำเร็จ ดังนั้น ต้องร่วมกันแก้ไขจุดอ่อนที่เป็นสาเหตุคนใช้รถไฟฟ้ายังมีปริมาณน้อย

 

 

เรากำลังพูดถึงปัญหา “Door to Door Operation”  เช่น คนที่อยู่ในซอยการจะเข้าถึงรถไฟฟ้า ต้องเดินจากซอยหรือนั่งวินมอเตอร์ไซค์ หรือรถเมล์ ทำให้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะยังใช้รถยนต์ส่วนตัวเหมือนเดิมมากกว่าจะนั่งรถไฟฟ้า 

ก่อนหน้านี้ กลุ่ม บีทีเอส ได้พิจารณา แผน “BTS-E Bike” เพื่อแก้ปัญหา D to D  ด้วยมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่มาเชื่อมระบบโครงข่ายรถไฟฟ้ามีสถานะเป็นขนส่งที่ไม่ปล่อยคาร์บอนด้วย ขณะเดียวกัน การเข้าร่วมโครงการจะต้องตรวจสอบผู้ขับขี่เพื่อสร้างความมั่นใจถึงความปลอดภัยการรับ-ส่งถึงหน้าบ้าน อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า เรื่องดังกล่าวมีเงื่อนไขหลายด้านที่ยังเป็นอุปสรรค  เช่น เงินทุนจัดหารถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า การบริหารจัดการที่จะไม่กระทบกับการดำเนินธุรกิจวินมอเตอร์ไซค์ในปัจจุบัน และที่สำคัญคือ ความเข้าใจและตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวร่วมกัน  

“เรื่องสิ่งแวดล้อม หากเป็นเรื่องไกลตัว คนก็จะไม่สนใจ แต่ปัจจุบัน น้ำท่วม อากาศร้อนจัด หนาวจัด ทำให้คนเริ่มตระหนักปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว นั่นเพราะมีผลกระทบกับชีวิตประชาชน ในส่วนของบริษัท พยายามประชาสัมพันธ์ รณรงค์ ลดใช้รถยนต์ และใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น ”

นอกจากนี้ เราจะนำองค์ความรู้ซึ่งได้รับการยอมรับจากหน่วยงานระดับโลก อย่าง DJSI (Dow Jones Sustainability Index)

ซึ่งบีทีเอสได้รับรางวัล 4 ปีซ้อน และได้เป็นอันดับที่ 1 ด้านคมนาคม และโครงสร้างพื้นฐานของโลก 2 ปีซ้อน องค์ความรู้เหล่านี้ จะร่วมกันนำไปถ่ายทอดเพื่อสร้างเมืองที่น่าอยู่ เพราะเมื่อเราทุกคนเป็น ‘ประธาน’ ในประโยค ‘กริยา’ ของเราก็ต้องเป็นสิ่งที่ดี เพื่อ ‘กรรม’ ในตอนจบของประโยคจะเป็นสิ่งที่ดีต่อตัวเราด้วย 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์