ภัยร้ายจาก'โลกร้อน'ความเป็นจริงที่มนุษยชาติต้องเจอ

ภัยร้ายจาก'โลกร้อน'ความเป็นจริงที่มนุษยชาติต้องเจอ

หากติดตามข่าวสารเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆจะเห็นว่า ตอนนี้มนุษย์กำลังรับมือกับภัยร้ายแรงจาปัญหาโลกร้อน ทั้งประชากรสัตว์ป่าโลกที่หดหายไป ภัยธรรมชาติรูปแบบต่างๆ ซูเปอร์พายุ น้ำท่วม ภัยแห้ง สภาพอากาศร้อนจัด หนาวจัดในบางพื้นที่

หากติดตามข่าวสารเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆจะเห็นว่า ตอนนี้ธรรมชาติเริ่มทวงคืนหลายอย่างจากมนุษย์ ทั้งประชากรสัตว์ป่าโลกที่หดหายไป ภัยธรรมชาติรูปแบบต่างๆ ซูเปอร์พายุ น้ำท่วม ภัยแห้ง สภาพอากาศร้อนจัด หนาวจัดในบางพื้นที่ หรือแม้กระทั่งระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นเพราะการละลายของน้ำแข็งในกรีนแลนด์

เริ่มจาก องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ระบุว่า ประชากรสัตว์ป่าโลกลดลงมากกว่า 2 ใน 3 หรือราว 69% นับตั้งแต่ปี 2513 โดย“แอนดรูว์ เทอรี” ผู้อำนวยการฝ่ายอนุรักษ์และนโยบายของสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (ZSL) บอกว่า การลดลงอย่างฮวบฮาบของประชากรสัตว์ป่าโลกบอกเราว่าธรรมชาติกำลังเปลี่ยนแปลง และโลกของเรากำลังว่างเปล่า

รายงานของ WWF ใช้ข้อมูลจากสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (ZSL) เมื่อปี 2561 เกี่ยวกับจำนวนประชากรสัตว์ป่า ซึ่งครอบคลุมมากกว่า 5,000 สายพันธุ์และพบว่า ประชากรสัตว์ป่าลดลงเฉลี่ย 69%

ประชากรสัตว์ป่าในลาตินอเมริกาและแคริบเบียนได้รับผลกระทบหนักหนาสาหัสที่สุด โดยลดลงถึง 94% ในเวลาราว 5 ทศวรรษ โดยประชากรโลมาแม่น้ำสีชมพูในแอมะซอนของบราซิล ลดลง 65% ในช่วงปี 2537-2559 

ขณะที่ในแอฟริกา สถานการณ์ก็ย่ำแย่ไม่ต่างกัน โดยประชากรกอลิลลาในพื้นที่ราบทางตะวันออกของคองโกลดลง 80% ระหว่างปี 2537-2562 เพราะถูกล่าเอาเนื้อ

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชากรสัตว์ป่าทั่วโลกลดลงเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก การตัดไม้ทำลายป่า การแสวงหาประโยชน์ของมนุษย์ รวมถึงมลพิษ

การลดลงเป็นจำนวนมากของสัตว์ป่าทำให้เกิดคำวิงวอนด้วยความสิ้นหวัง ที่จะร้องขอการจัดหาเงินทุนเพื่อสนับสนุนความพยายามในการอนุรักษ์สัตว์ป่าทั่วโลกต่อไป
 

 ขณะที่ผลวิจัยล่าสุดได้รับการตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ ไคลเมท เชนจ์ พบว่า แผ่นน้ำแข็งในกรีนแลนด์ ซึ่งเป็นแผ่นน้ำแข็งที่ยังคงติดอยู่กับบริเวณที่หนากว่าของน้ำแข็ง กำลังละลายลงอย่างรวดเร็ว และจะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นราว 27 เซนติเมตร ซึ่งมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ถึง 2 เท่า

ผลวิจัยนี้ ยังระบุด้วยว่า ระดับน้ำทะเลยังอาจสูงได้มากถึง 78 เซนติเมตร ซึ่งมากเพียงพอที่จะกลืนกินพื้นที่ชายฝั่งทั้งหมด และส่งผลให้เกิดน้ำท่วมและคลื่นซัดฝั่งรุนแรงมากขึ้น

“วิลเลียม คอลแกน” นักธรณีวิทยาที่เป็นหนึ่งในผู้ร่วมเขียนงานวิจัยชิ้นนี้ ระบุว่า หากไม่มีหิมะเข้ามาเติมเต็ม น้ำแข็งที่ถึงวาระจะหลอมละลาย ซึ่งเป็นผลจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง จะทำให้น้ำทะเลหนุนสูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้าน“เจสัน บ๊อกซ์” นักธรณีวิทยา และหัวหน้าทีมวิจัย บอกว่า ดูเหมือนตอนนี้โลกได้ก้าวเท้าข้างหนึ่งเข้าไปในสุสานแล้ว ซึ่งทีมวิจัยไม่มีใครบอกได้ว่าจะเหลือเวลานานเพียงใดที่ก้อนน้ำแข็งทั้งหมดจะละลายลง แต่คาดว่าน่าจะเป็นในช่วงปลายศตวรรษนี้ หรืออย่างช้าคือช่วงปี 2693

แน่นอน ไม่มีใครอยากให้เกิดสถานการณ์แบบนี้ขึ้น เพราะหมายความว่าจะมีความสูญเสียที่ไม่อาจประเมินได้ตามมา ดูอย่างกรณีน้ำท่วมหนักเพราะฝนตกติดต่อกันในออสเตรเลียในขณะนี้  

ล่าสุด สำนักอุตุนิยมวิทยาแห่งออสเตรเลีย (บีโอเอ็ม) คาดการณ์สภาพอากาศรุนแรงในระยะยาว พร้อมทั้งเตือนภัยน้ำท่วม คลื่นความร้อน พายุฝนฟ้าคะนอง และพายุหมุนเขตร้อนตั้งแต่เดือนต.ค.ถึงเม.ย.

บีโอเอ็ม บอกว่า สภาพอากาศรุนแรงที่กำลังมาเยือนนี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงน้ำท่วมเป็นวงกว้างทางตะวันออกและตอนเหนือของประเทศ ขณะพื้นที่ชายฝั่งของรัฐนิวเซาท์เวลส์ และรัฐควีนส์แลนด์อาจเผชิญน้ำท่วมบริเวณชายฝั่ง ขณะเดียวกัน พื้นที่ตอนใต้อาจเผชิญคลื่นความร้อนยาวนานกว่า อากาศช่วงกลางคืนอบอุ่นกว่า และมีความชื้นมากกว่า ซึ่งล้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้คนทั้งสิ้น

พายุฝนฟ้าคะนองรุนแรง มักเกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงเดือนที่อากาศอบอุ่นขึ้น โดยเฉพาะทางตอนเหนือของรัฐนิวเซาท์เวลส์ ทางตอนใต้ของรัฐควีนส์แลนด์ พื้นที่ภายในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย และทั่วพื้นที่เขตร้อนทางตอนเหนือ

บีโอเอ็ม ยังประกาศเตือนการอุบัติของโรคหอบหืดจากพายุฝนฟ้าคะนอง หลังจากการเจริญเติบโตของหญ้าทางตอนใต้ของประเทศระหว่างเดือนต.ค.ถึงธ.ค.ด้วยว่าจะส่งผลให้จำนวนละอองเกสรสูงขึ้น

ออสเตรเลีย มีโอกาสมากกว่า70% ที่จะเผชิญพายุหมุนเขตร้อนอย่างน้อย 11 ลูก ในช่วงฤดูพายุหมุนเขตร้อนของประเทศระหว่างเดือนพ.ย.ถึงเม.ย.ปีหน้า ซึ่งอาจพัดพาลมแรง ฝนตกหนัก และอันตรายอื่นๆ รวมถึงดินถล่มและการกัดเซาะชายฝั่ง

ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นข้อมูลที่น่าสนใจและเป็นเหมือนสัญญาณเตือนที่ดังชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบหรือภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์ที่เป็นผลพวงจากปัญหาโลกร้อน