“ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด”ชู ESG โมเดล ดึงรายได้กลุ่มท่องเที่ยวคุณภาพ

“ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด”ชู ESG โมเดล   ดึงรายได้กลุ่มท่องเที่ยวคุณภาพ

ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ย.2565) ประเทศไทยมีโอกาสต้อนรับนักท่องเที่ยวแล้วกว่า 5.6 ล้านราย สร้างรายได้กว่า 2 แสนล้านบาท ในกลุ่มดังกล่าวรวมถึงผู้ถือบัตรสมาชิก ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด

โดยปัจจุบันสมาชิกผู้ถือบัตรสมาชิกพิเศษ ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด มีจำนวนกว่า 20,200 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงมีความต้องการพำนักระยะยาว และกลุ่มนักลงทุน คาดว่าจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในอนาคตจะผลักดันสมาชิกใหม่ ตั้งเป้า 1 หมื่นรายในปี 2566

อภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว ททท. รักษาการแทนผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด กล่าวว่า การขยายไปยังกลุ่มชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงและกลุ่มที่พำนักระยะยาว ได้วางกลยุทธ์ในการพัฒนาบริการควบคู่ไปกับการเติบโตอย่างยั่งยืน ตามแนวคิด ESG :  Environmental (สิ่งแวดล้อม) Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล)

พร้อมกับการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม โดยมีเป้าหมายในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับชุมชน เป็นการวางรากฐานให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน การดูแลสิ่งแวดล้อมให้ฟื้นฟูควบคู่กับการท่องเที่ยว และรักษาระบบนิเวศ 

จากนโยบายเพิ่มสัดส่วนกลุ่มลูกค้าคุณภาพ คือกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพใช้จ่ายและร่วมฟื้นฟูชุมชนตามนโยบายเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาล ซึ่งทางบริษัทฯ เล็งเห็นความสำคัญของการส่งมอบโอกาสและการต่อยอดเพื่อสังคมที่ยั่งยืน 

"ได้จุดประกายการดำเนินการสนับสนุนเงินทุนที่ได้จากกำไรของการขายบัตรสมาชิกที่ผ่านมา ให้กับหน่วยงานที่ดำเนินการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่และการพัฒนาในเชิงสังคม เพื่อก่อให้เกิดการต่อยอด นำสู่การวางรากฐานการเติบโตของชุมชนและสังคมในประเทศที่เข้มแข็ง ภายใต้แนวคิด The Network of Inclusive Growth and Sustainable Society "

สำหรับเครือข่ายแห่งการให้สู่สังคมที่ยั่งยืน โดยผสานความร่วมมือกับ 3 องค์กรพันธมิตรหลัก ได้แก่ มูลนิธิฮักเมืองน่าน จัดกิจกรรมโครงการรณรงค์ปลูกจิตสำนึก โครงการ “กล้าดี” ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 7 ปี เพื่อเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาที่เหมาะสม รวมถึงสร้างจิตสำนึกที่ดีแก่เยาวชนให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตท้องถิ่น อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต

มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม (Operation Smile Thailand) สำหรับโครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้การผ่าตัดภายในหนึ่งสัปดาห์ (Weeklong Medical Missions) ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลที่ไม่แสวงหาผลกำไร มีพันธกิจในการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ รวมถึงแผลไฟไหม้ และความผิดปกติบนใบหน้าอื่น ๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งในปี 2565 มูลนิธิฯ มีแผนการดำเนินงานในการผ่าตัดให้ผู้ป่วยจำนวน 120 ราย ที่โรงพยาบาลแม่สอด จังหวัดตาก

โครงการพัฒนาโรงเรียนต้นแบบ Dynamic School Thailand มีจุดมุ่งหมายและอุดมการณ์ที่จะพัฒนาด้านการศึกษาให้กับโรงเรียนขนาดเล็กที่มีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ตลอดจนปัญหางบประมาณในการพัฒนาโรงเรียน โดยนำเสนอโมเดลต้นแบบโครงการ “หนึ่งโรงเรียนหนึ่งแปลงเกษตรอินทรีย์ (One School One Organic Farm)” ซึ่งโมเดลดังกล่าวถือเป็นนวัตกรรมที่เข้ามาช่วยบูรณาการในเรื่องการจัดการพื้นที่ การจัดการการเรียนรู้ และจัดการกลไกธุรกิจ ซึ่งจะเป็นการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กให้มีความเข้มแข็ง จนสามารถพึ่งพาตนเองได้

  นอกจากนั้น ยังได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เช่น โครงการ TPC Community Care 2022 มุ่งเน้นเรียนรู้วิถีชีวิตชาวสวนตาลของชุมชนถ้ำรงค์ จ.เพชรบุรี โดยร่วมปลูกต้นตาลกับชาวบ้าน เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าให้ชุมชน ทาสีทางเข้าโรงเรียนถ้ำรงค์ เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ร่วมกับนักเรียน ตลอดจนการระดมพลังความคิด พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกัน เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้ไปพัฒนาต่อยอดการท่องเที่ยวของชุมชนให้ยั่งยืน หรือโครงการ TPC Impact Day 2022 ณ ชุมชนไทรน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ที่สร้างความแตกต่างจากการทำ CSR ในรูปแบบเดิม โดยการระดมจิตอาสาไปให้ความรู้ สอบถามความต้องการของชาวชุมชนเป็นหลัก และนำมาดัดแปลงเพื่อให้เข้ากับทักษะของคนในชุมชน และต่อยอดเพื่อให้ชุมชนอยู่ได้และเติบโตอย่างยั่งยืน

      การผสานความร่วมมือในครั้งนี้ คาดว่าจะเป็นการสร้างเครือข่ายของการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อสร้างสังคมและชุมชนที่เข้มแข็งในการพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศให้เติบโตขึ้นเป็นผู้นำในระดับภูมิภาค และดึงดูนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพควบคู่กับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน