เปิดรายงานการจัดการความยั่งยืนอาเซียน

เปิดรายงานการจัดการความยั่งยืนอาเซียน

เปิดรายงานการจัดการความยั่งยืนอาเซียน ระบุ หากไม่ขยับแก้ปัญหา climate change  คาดปี 2070 อาเซียนจะมีต้นทุนกระทบเศรษฐกิจถึง 28 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ กลับกันหากแก้ไขทำจีดีพีโตอยู่ที่ 3.5% ไทยยังด้อยเรื่อง “การจัดการของเสีย” เร่งภาคเอกชนร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว

            เมื่อวันที่ 29 ก.ย.2565  ดีลอยท์แถลงข่าวเปิดเผยรายงาน “SEA Sustainability Ambitions ผลสำรวจศักยภาพ และความพร้อมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการพัฒนาการจัดการด้านความยั่งยืนทั้ง 5 ด้าน ที่ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค” ผ่านระบบ Zoom โดย มร.ดุลีชา กุลสุรียา กรรมการผู้จัดการ Center for the Edge Deloitte Southeast Asia กล่าวว่า แม้ว่าส่วนสำคัญของปัญหาเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะมาจากส่วนของซีกโลกตะวันตก แต่ความเป็นจริงภูมิภาคเอเชียมีส่วนที่สำคัญมากเช่นเดียวกัน เนื่องจากมีประชากรมากถึง 60% ของโลก และสร้างจีดีพีมากถึง 40% ของการบริโภคของโลก  ประมาณ 3 ใน 4  ของผลผลิตทางเศรษฐกิจ และประมาณครึ่งหนึ่งของแรงงานทั้งโลกอยู่ในเอเชีย

จึงมีความเสี่ยงรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือไคลเมทเชนจ์อย่างมาก  อีกทั้ง ประชากรส่วนใหญ่อายุราว 32 ปี และ 50% อาศัยอยู่ในเขตเมือง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวบอกว่าประเทศในเอเชียมีความท้าทายที่จะเปลี่ยนแปลงในเรื่องการใช้พลังงาน การจัดการขยะ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และมีโอกาสที่สำคัญมากๆ ในการสร้าง Eco system หรือสิ่งแวดล้อมไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

  สำหรับผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน  คาดว่าในปี 2040  คาดจะต้องการใช้พลังงานเติบโตขึ้นประมาณ 60% ขณะที่ปัจจุบันใช้พลังงานหมุนเวียนเพียง 15% เท่านั้น ในส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบน่าจะมีราว 5 อุตสาหกรรมซึ่งปัจจุบันมีผลผลิตทางเศรษฐกิจสูงถึง 83% ของอาเซียน อย่างไรก็ตาม อาเซียนมีโอกาสพัฒนาที่ยั่งยืน เนื่องจากมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก มีเศรษฐกิจรวมกันถึง 3.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีประชากรราว 660 ล้านคนโดย 60% เป็นผู้ที่มีอายุ 35 ปี

      “ถ้าไม่มีการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พบว่าภายในปี 2070 อาเซียนจะมีต้นทุนสูงถึง 28 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับแรงงานที่ไม่สามารถมีกำลังการผลิตได้ดีขึ้น มีการสูญเสียพื้นที่ ที่จะสามารถใช้ในการผลิตต่างๆ ความสามารถในการผลิตการลงทุนที่หยุดชะงักลงเพราะได้รับผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ว่าถ้าสู้หรือมีการดำเนินการ พยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำเรื่องไคลเมทเชนจ์ให้ดีขึ้น จะได้มูลค่าเศรษฐกิจกลับมาถึง 12.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ” มร.ดุลีชา กล่าว

           มร.ดุลีชา  กล่าวอีกว่า เชื่อว่าอาเซียนการเติบโตของจีดีพีจะอยู่ที่ 3.5% ถ้าทำอะไรเกี่ยวกับไคลเมทเชนจ์ ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่จะดำเนินการเรื่องเศรษฐกิจสีเขียว โดยประเทศบรูไน ลาว สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนามได้ตั้งเป้าว่าจะไปถึงการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็น 0 หรือ Net 0 ประมาณปี 2050 ส่วนอินโดนีเซีย ปี 2060 และประเทศไทยปี 2065-2070 ทั้งนี้ ภาคเศรษฐกิจมีส่วนอย่างมากในการที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างเศรษฐกิจสีเขียว และงานที่มากับพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว

     สำหรับรายงาน  ความมุ่งมั่นด้านการจัดการด้านความยั่งยืนของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2022 ซึ่งจัดทำขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่าง Deloitte Center for the Edge และสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (US-ASEAN Business Council) มุ่งให้ความสำคัญกับข้อมูลเชิงลึกของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน 5 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1.พลังงานและสภาพภูมิอากาศ 2.ความหลากหลายทางชีวภาพ 3.น้ำ 4.ของเสีย และ 5.ความเท่าเทียมกันทางเพศ โดยข้อมูลเชิงลึกดังกล่าวสามารถใช้เป็นแหล่งข้อมูลแบบครบวงจรสำหรับบริษัทต่างชาติ และนักลงทุนในการระบุประเด็นด้านความยั่งยืนที่อาจส่งผลกระทบมากที่สุด

     ด้าน นายกษิติ เกตุสุริยงค์ Sustainability & Climate Leader ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวว่า  จากรายงานฉบับนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทย พบว่า เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค ประเทศไทยดำเนินการได้ค่อนข้างดีใน 4 ด้าน คือ พลังงาน และสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ น้ำ และความเท่าเทียมกันทางเพศ  แต่ในเรื่องการจัดการของเสียยังต้องพัฒนาต่อไป โดยประเทศไทยในการดำเนินการเรื่องไคลเมทเชนจ์ สู่เป้าหมาย Net 0 ในปี 2065 ยังมี gap อยู่มาก จึงเป็นความท้าทายในหลายประเด็นที่จะพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยมีส่วนที่ยังไม่เพียงพอ เช่น นโยบาย การแผนปฏิบัติการ การได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ อีกทั้ง จำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างเป็นธรรม โดยทุกคนทุกส่วนในสังคมได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียม

 

         “โมเดล Bio-Circular-Green Economy (BCG) ของประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการร่วมมือกันระหว่างภาคเอกชน และภาครัฐ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เราเริ่มเห็นการริเริ่มของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่ายเพื่อขับเคลื่อนวาระ BCG ไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ แต่เราจำเป็นต้องมีการลงทุนมากขึ้น และระบบนิเวศน์ที่เข้มแข็งขึ้นสำหรับการพัฒนาแนวทางการแก้ปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ และเทคโนโลยี เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการดำเนินการตามแนวทางการลดคาร์บอนของเราเป็นไปตามเป้าหมาย” นายกษิติ กล่าว

 

    นายกษิติ กล่าวอีกว่า  ในการดำเนินการสอดคล้องกับโมเดล BCG และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล สำรวจทางเลือกการประเมินค่าเศษอาหารให้มีมูลค่าสูงขึ้น และขยายเครือข่ายน้ำเสียผ่านโครงการสาธารณูปโภค และขีดความสามารถทางเทคนิคของอาคาร ดังนั้นจึงมีโอกาสอีกมากมายที่ภาครัฐ และเอกชนจะร่วมมือกันเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน และประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย

 

      อนึ่ง ภาพรวมการจัดการด้านความยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) สิ่งเหล่านี้แสดงถึงความมุ่งมั่นในการจัดการความยั่งยืนของประเทศต่างๆ ให้ประสบผลสำเร็จได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยในการดำเนินการ 5 ประการที่ระบุไว้ในรายงาน ดังต่อไปนี้

 

  • มีกลไกการติดตามและบังคับใช้หรือไม่
  • ตอบสนองความต้องการของกลุ่มเปราะบาง (ผู้หญิง เด็ก ชนกลุ่มน้อย ผู้มีรายได้น้อย) หรือไม่
  • การพัฒนาเป็นการวางแผนโดยยึดหลักฐานเป็นหลักหรือไม่
  • มีการลงทุนหรือจัดสรรงบประมาณตามเป้าหมายหรือไม่
  • มีความพยายามสร้างการรับรู้เกี่ยวกับเป้าหมายที่กำหนดหรือไม่

 

ในด้านพลังงาน และสภาพอากาศ ภูมิภาคนี้ดำเนินการได้ดีเพื่อให้มีไฟฟ้าเพียงพอสำหรับประชากร 660 ล้านคน โดยประเทศต่างๆ ได้ 4 หรือ 5 คะแนนจากคะแนนเต็ม 5 คะแนน อย่างไรก็ตาม การรักษาสิ่งนี้ไว้ในขณะที่ความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงสองทศวรรษข้างหน้า และในขณะเดียวกันก็ดำเนินการตามเป้าหมายการลดคาร์บอนอีกด้วย ถือเป็นความท้าทายครั้งสำคัญ

 

ภูมิภาคนี้มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ประกอบด้วยพื้นที่ ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสี่แห่ง อย่างไรก็ตาม ยังมีความจำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนอย่างเร่งด่วนเพื่อมองหาแนวทางการเติบโตที่ยั่งยืนโดยไม่สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนี้ยังพบว่าความคืบหน้าในปัจจุบัน และเป้าหมายของประเทศที่มีการวิเคราะห์ในแง่ของการอนุรักษ์มหาสมุทร ระบบนิเวศน์บนบก และป่าไม้ ไม่เชื่อมโยงกันอีกด้วย

 

การจัดการทรัพยากรน้ำ และของเสียยังคงเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับบางประเทศ อย่างไรก็ตาม เศษอาหารเป็นปัญหาใหม่ซึ่งรัฐบาลทั่วทั้งภูมิภาคเพิ่งจะเริ่มสามารถจัดการได้อย่างมีเป้าหมายมากขึ้น

 

ในประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ มีความคืบหน้าอย่างมากในการยุติการเลือกปฏิบัติ ความรุนแรง และการกระทำที่เป็นอันตรายทุกรูปแบบ นอกจากนี้ยังมีพัฒนาการในด้านการให้โอกาสที่เท่าเทียมกัน และการส่งเสริมด้านการศึกษา สุขภาพ และเศรษฐกิจมากขึ้น แม้ว่าบทบาทในการเป็นตัวแทนทางการเมืองจะยังมีความคืบหน้าในระดับต่ำ

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์