‘โควิด-19’ ทำบริษัทหนัง-ทีวีจีนปิดตัว 5 พันแห่ง

‘โควิด-19’ ทำบริษัทหนัง-ทีวีจีนปิดตัว 5 พันแห่ง

โควิดพ่นพิษ บริษัทหนังแดนมังกรปิดตัวลงในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ มากกว่ายอดรวมของทั้งปี 2562 เสียอีก

ตัวเลขทางการถึงผลกระทบที่อุตสาหกรรมบันเทิงจีนได้รับจากไวรัส ‘โควิด-19’ เริ่มทยอยออกมาให้เห็นแล้ว

 

ล่าสุดเป็นตัวเลขบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับภาพยนตร์และโทรทัศน์ต้องระงับการทำธุรกิจหรือเพิกถอนการจดทะเบียนทำธุรกิจไปแล้วถึงกว่า 5,000 แห่งในปีนี้

 

ข้อมูลดังกล่าวมาจากการรายงานของนิตยสารการเงิน Economic Weekly ซึ่งเป็นสื่อภายใต้การควบคุมของรัฐบาลจีน โดยสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ตัวเลขธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับหนังหรือทีวีที่ปิดตัวลงในช่วงต้นปี 2563 นี้ มากกว่าตัวเลขโดยรวมของทั้งปี 2562 ถึงเกือบสองเท่าเลยทีเดียว

 

สะท้อนให้เห็นว่าผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์แดนมังกรนั้นหนักหนาสาหัสขนาดไหน

 

การที่ต้องหยุดทำธุรกิจมาตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม ในขณะที่มีค่าใช้จ่ายมหาศาล แต่ไม่มีรายได้เข้ามาเลย ทำให้อุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์เป็นภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดย Economic Weekly รายงานว่าตอนนี้เริ่มมีการเลย์ออฟพนักงานกันแล้ว โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ เครือโรงหนังยักษ์ใหญ่อย่าง CGV ได้ปลดพนักงานออกไปมากถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานทั้งหมด

 

หนังสือพิมพ์ Economic Daily ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากคณะมุขมนตรี (State Council) องค์กรบริหารสูงสุดของจีน ระบุว่า มีบริษัทภาพยนตร์และโทรทัศน์ 5,328 แห่งที่ต้องปิดตัวลงในปี 2563 นี้ โดยตัวเลขนี้มากกว่ายอดรวมของทั้งปี 2562 อยู่ 1.78 เท่า

 

นอกจากนี้ยังมีบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมโรงหนังเข้าจดทะเบียนทำธุรกิจใหม่ไม่ถึง 8,000 บริษัทในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ถึง 25 เปอร์เซ็นต์

 

ตัวเลขบ็อกซ์ ออฟฟิศของจีนเกือบเป็นศูนย์ พนักงานโรงหนังจำนวนมากต้องหยุดงาน แล้วยังมีโปรเจกต์ที่กำลังดำเนินงานอยู่อีกจำนวนมากที่ต้องชะลอขั้นตอนการทำพรีโปรดักชั่น และโพสต์โปรดักชั่นออกไป” รายงานข่าวระบุ พร้อมเสนอทางออกเอาไว้ว่าในระยะใกล้นี้คงต้องเปลี่ยนไปฉายแบบดิจิทัลแทนก่อน

 

เพื่อรับมือกับความเสี่ยงในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และโทรทัศน์ในปัจจุบัน จำเป็นที่จะต้อง….พยายามสร้างประสบการณ์เสมือนจริงออนไลน์ (online virtual) ขึ้นมาเพื่อให้เกิดความพึงพอใจและมีส่วนร่วมทางออนไลน์ที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง แล้วในอนาคตก็ไม่มีข้อสงสัยว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์และโทรทัศน์จะต้องเร่งฝีเท้าเพื่อเข้าสู่ความเป็นดิจิทัล และเปลี่ยนไปเป็นออนไลน์…ด้วยวิถีทางที่รวมเอาหน่วยงาน บุคคลต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมเข้าไว้ด้วยกันทั้งหมด แล้วเปลี่ยนโฉมหน้าวิธรการผลิต ตลอดจนโครงสร้างองค์กร และคุณค่าของอุตสาหกรรมใหม่”

 

ทั้งนี้ ในการแถลงข่าวล่าสุด คณะมุขมนตรีจีน (State Council) ยังได้ตอกย้ำสิ่งที่แถลงไปก่อนหน้านี้อีกครั้ง นั่นคือ สถานที่ให้ความบันเทิงและสถานที่สันทนาการอย่าง โรงภาพยนตร์ และร้านเกม จะยังต้องปิดให้บริการต่อไปอีกระยะหนึ่ง

 

Economic Weeklyได้ไปสัมภาษณ์นักลงทุนโรงหนังรายหนึ่งที่บอกมาว่า “กระแสเงินสด (cash flow) ของเครือข่ายโรงหนังรายใหญ่บางแห่งทำให้พวกเขาสามารถเลี้ยงตัวเองไปได้ราว 5 เดือน แต่เงื่อนเวลาที่เราจะกลับมาเปิดให้บริการได้อีก ดูจะเป็นอนาคตที่ไม่มีกำหนด เราเลยต้องลดพนักงานและหั่นค่าใช้จ่าย”

 

ขณะที่พนักงานโรงหนังจำนวนหนึ่งได้เปิดเผยว่าเครือโรงภาพยนตร์ใหญ่ ๆ ของจีนอย่าง Hengdian และ Dadi ยังสามารถจ่ายเงินเดือนสำหรับเดือนมกราคมให้กับพนักงานส่วนใหญ่ได้ แต่หลังจากนั้น พนักงานจะได้รับเงินเดือนกันราว 70 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศเท่านั้น

 

ให้เช่าโรงหนังถ่ายพรีเวดดิ้ง

000_1QP0NJ

 credit : AFP

อย่างไรก็ตาม บรรดาเจ้าของโรงหนังต่างก็พยายามหาทางรอดให้กับตัวเองด้วยการหันไปทำธุรกิจเสริมอย่างอื่น สังเกตได้จากช่วงไม่กี่วันมานี้จะมีโฆษณาให้เช่าโรงหนังว่าง ๆ เป็นสถานที่ถ่ายภาพพรีเวดดิ้งออกกระจายทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ

 

มาถ่ายภาพแต่งงานในธีมถ่ายหนังกันเถอะ ถ่ายแบบไหนก็ได้ที่คุณต้องการ ทุกอย่างที่คุณต้องการ” คือตัวอย่างของคำโปรยโฆษณา

 

ทั้งนี้ ธุรกิจถ่ายรูปพรีเวดดิ้งได้รับความนิยมสูงในจีน จนถึงขนาดที่นักทำหนังชาวออสเตรเลียชื่อ Olivia Martin-McGuire ทำสารคดีเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมาในชื่อ China Love

การสัมภาษณ์คู่แต่งงานหลายคู่ในหนังเรื่องนี้ก็ทำให้พบเหตุผลที่คนจีนรุ่นใหม่นิยมถ่ายรูปพรีเวดดิ้งกัน

 

ข้อแรกเลยคือมันทำให้ความฝันของพวกเขาเป็นจริง การแต่งตัวสวย ๆ มาถ่ายรูปหน้าตึกสไตล์ยุโรปอย่าง เดอะ บันด์ (Bund) ในเซี่ยงไฮ้ เป็นการชดเชยความฝันที่ไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศ ขณะที่เจ้าสาวจำนวนมากบอกว่ามันทำให้ความฝันที่จะได้เป็นเจ้าหญิงหรือดาราซักวันหนึ่งเป็นจริงขึ้นมา

 

นอกจากนี้ การแต่งงานยังเป็นเรื่องของครอบครัว แต่การถ่ายภาพแต่งงานทำให้พวกเขาได้ทำตามใจตัวเองอย่างแท้จริง ไม่ใช่ทำไปตามประเพณีเท่านั้น

 

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือลูกค้าร้านพรีเวดดิ้งในจีนไม่ได้มีแต่คู่แต่งงานใหม่เท่านั้น แต่คนรุ่นพ่อแม่ก็หันมาใช้บริการด้วยเช่นกัน เพราะในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม (.. 1966-1976) การใส่ชุดแต่งงานสีขาวถ่ายรูปถือเป็นเรื่องผิดมหันต์ ภาพถ่ายแต่งงานของคนรุ่นนั้นจึงมีเพียงรูปถ่ายขนาดที่ใช้ในพาสปอร์ตเพียงรูปเดียว เพื่อเป็นหลักฐานการสมรสเท่านั้น

 

สำหรับราคาเหมาโรงหนังถ่ายรูปแต่งงานนั้น สื่อท้องถิ่นรายงานว่าถ้าเป็นเมืองรอง ค่าเช่าโรงหนังเพื่อถ่ายภาพจะอยู่ที่ 100 หยวนต่อชั่วโมง (ราว 450 บาท) หรือ 600 หยวน (ราว 2,700 บาท) ต่อวัน

 

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่าทิศทางการทำธุรกิจแบบใหม่นี้แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ “ไม่มีทางเลือกอื่นอีกในตอนนี้ นอกเสียจากต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอด”