4 กุมภาพันธ์ "วันมะเร็งโลก" ทำอย่างไรให้คนไทยเข้าถึงการรักษามะเร็งอย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพ?

4 กุมภาพันธ์ "วันมะเร็งโลก" ทำอย่างไรให้คนไทยเข้าถึงการรักษามะเร็งอย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพ?

สมาพันธ์ควบคุมโรคมะเร็งสากล ได้กำหนดให้ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น "วันมะเร็งโลก" ซึ่งปีนี้มีเสวนา ว่าด้วยเรื่อง Close the care gap ลดวิกฤติปัญหาผู้ป่วยมะเร็ง สู่ความเท่าเทียมด้านการรักษา

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ของทุกปี สมาพันธ์ควบคุมโรคมะเร็งสากล (Union for International Cancer Control : UICC) ได้กำหนดให้เป็น วันมะเร็งโลก หรือ World Cancer Day เพื่อสร้างความตระหนักถึงภัยของโรคมะเร็ง อันเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประชากรทั่วโลก และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งผลักดันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสิทธิการรักษาโรคมะเร็งได้อย่างเท่าเทียม

รายงานประจำปีขององค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง (IARC) เผยว่า ในปี พ.ศ. 2561 พบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เพิ่มขึ้น 18.1 ล้านคนทั่วโลก และอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งพุ่งสูงขึ้นถึง 9.6 ล้านคน โดยเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่อยู่ในทวีปเอเชีย ทั้งนี้ สาเหตุการเกิดมะเร็งมีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายประการ เช่น พฤติกรรมการใช้ชีวิต อาหาร มลภาวะ รวมถึงการกลายพันธ์ุของยีน ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการแพทย์ในปัจจุบันช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งมีตัวเลือกนวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งหลากหลายกว่าในอดีต โดยการเข้าถึงการวินิจฉัยและการรักษาอย่างทันท่วงที ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ผลลัพธ์การรักษาดียิ่งขึ้น ลดผลกระทบด้านจิตใจและด้านค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและผู้ดูแล รวมถึงลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและกำลังการผลิตของประเทศไทยลงได้

ผู้ป่วยโรคมะเร็งส่วนใหญ่ในประเทศไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค การรักษา และความคุ้มครองด้านสุขภาพจาก 3 กองทุน ได้แก่ สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ สิทธิประกันสังคม และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดังนั้น งานเสวนาเนื่องในวันมะเร็งโลก 4 กุมภาพันธ์ "Close the care gap ลดวิกฤติปัญหาผู้ป่วยมะเร็ง สู่ความเท่าเทียมด้านการรักษา" จึงจัดขึ้นเพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาชนทราบถึงภัยของโรคมะเร็ง ตระหนักถึงสิทธิการรักษาของตนเอง และร่วมมือกันเพื่อเสวนาหาแนวทางยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งให้ดียิ่งขึ้น

งานดังกล่าวได้รับเกียติจาก ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวเปิดงาน รวมถึง Mr.Omar Akhtar, HEOR Director APAC, Ipsos นำเสนอรายงานการศึกษา เพื่อแนะแนวทางเพิ่มการเข้าถึงการรักษาเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วยมะเร็ง หรือ Modernization of Thai HTA-Identifying Alternative Approaches in Thai HTA to Improve Cancer Patient Outcomes และกล่าวสรุปโดย รศ.ภญ.ดร.ร.ต.ท.หญิง ภูรี อนันตโชติ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.นพ.ธีรภัทร อึ้งตระกูล ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และพญ.จอมธนา ศิริไพบูลย์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ก่อนจะเข้าสู่การบรรยายโดย ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานกรรมการมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง เกี่ยวกับความพร้อม และความต้องการเชิงลึกของผู้ป่วยมะเร็งและบุคลากรการแพทย์ในประเทศไทย

เวทีเสวนา "ทำอย่างไรให้คนไทยเข้าถึงการรักษามะเร็งอย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพชีวิตที่ดี" มีตัวแทนจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ศ.ดร.พญ.จิรายุ เอื้อวรากุล คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.), รศ.นพ.เอกภพ สิระชัยนันท์ นายกสมาคมมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย, ผศ.พญ.เอื้อมแข สุขประเสริฐ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงพยาบาลศรีนครินทร์ และศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานกรรมการมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง

ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมรับชม งานเสวนาเนื่องในวันมะเร็งโลก 4 กุมภาพันธ์ “Close the care gap ลดวิกฤติปัญหาผู้ป่วยมะเร็ง สู่ความเท่าเทียมด้านการรักษา” ได้ในวันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 10.30 – 12.30 น. ผ่านช่องทาง Facebook: โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และ Facebook: กรุงเทพธุรกิจ / Spring News / Nation Online และ คมชัดลึก 

4 กุมภาพันธ์ \"วันมะเร็งโลก\" ทำอย่างไรให้คนไทยเข้าถึงการรักษามะเร็งอย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพ?