'Lily Pharma' สตาร์ตอัป ม.ขอนแก่น ผลิตปุ๋ยน้ำนาโน N P K ลดปัญหา Climate Change

'Lily Pharma' สตาร์ตอัป ม.ขอนแก่น ผลิตปุ๋ยน้ำนาโน N P K ลดปัญหา Climate Change

สตาร์ตอัปของมหาวิทยาลัยขอนแก่น "Lily Pharma" ผลิตปุ๋ยน้ำนาโน N P K เพื่อลดปัญหา Climate Change ด้านมาเลเซียขอร่วมทุนตั้งโรงงานทันที

นายสุรพล เพชรวรา อุปนายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีนโยบายส่งเสริมการถ่ายทอด Technical Khow How จากมหาวิทยาลัยไปสู่ภาคเอกชน เพื่อนำออกสู่อุตสาหกรรม ด้วยการทำวิจัยและพัฒนาสำหรับอุตสาหกรรมที่ต้องใช้องค์ความรู้ชั้นสูง พร้อมทั้งออกแบบและผลิตเครื่องจักรที่ต้องใช้ในอุตสาหกรรมนั้นให้กับภาคเอกชนที่ต้องการนำไปผลิตและทำการตลาด เพราะเราเชื่อว่าภาคเอกชนมีความชำนาญมากกว่าที่เราจะทำเองทุกอย่าง 

"มากไปกว่านั้น มหาวิทยาลัยได้มุ่งมั่นที่จะถ่ายทอดงานวิจัยและพัฒนาไปสู่ระดับโลก เราจึงได้คัดเลือกผู้ประกอบการประเทศมาเลเซียมาร่วมทุนก่อตั้ง Holding company ปุ๋ยน้ำนาโนซึ่งเป็นการถือหุ้นระหว่าง Lily Pharma จำนวนหุ้น 40% กับ Einstein Nanoscience Sdn. Bhd. จำนวนหุ้น 60% โดยจะตั้งโรงงานผลิตที่รัฐมะละกา ประเทศมาเลเซีย"

แนวคิดนี้จะทำให้ทางเราเน้น R&D ของปุ๋ยน้ำนาโนและผลิตเครื่องจักรเป็นหลัก ส่วนทางมาเลเซียจะเน้นเรื่องการผลิตและขยายการลงทุนไปประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ทั้งนี้เพราะเราเชื่อว่าทีมงานของเขาสามารถพูดและเขียนได้ดีทั้ง มาเลเซีย จีน และอังกฤษ ซึ่งจะทำให้สามารถจัดหาบุคลากรที่มีความพร้อมในการดำเนินงานอย่างรวดเร็ว ผลที่ตามมาก็คือจะทำให้มหาวิทยาลัยนำผลงานวิจัยออกสู่ตลาดโลกได้อย่างจริงจัง

\'Lily Pharma\' สตาร์ตอัป ม.ขอนแก่น ผลิตปุ๋ยน้ำนาโน N P K ลดปัญหา Climate Change

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า เราคัดเลือกบริษัทเอกชนที่มีความสามารถในด้านการจัดการและเข้าใจในเทคโนโลยี เช่น Biotech โดยการจัดตั้ง Holding company ที่บ. มิสลิลลี่ จำกัด ถือหุ้น 51% มหาวิทยาลัยถือหุ้น 49% โดย Holding company นี้ จะไปจัดตั้งบริษัท Startup เพื่อดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์และจัดตั้งห้องปฏิบัติการในมหาวิทยาลัยโดยมีนักวิจัยที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกเป็นผู้ทำงานวิจัยตั้งแต่ต้นจนออกสู่ผลิตภัณฑ์ ส่วนมหาวิทยาลัยมีบทบาทในการสนับสนุน ให้คำปรึกษาพร้อมอำนวยความสะดวกในการใช้เครื่องมือต่างๆ และการทดสอบทางวิชาการ และเมื่อเราจะขยายการผลิตไปสู่อุตสาหกรรม ทางบริษัท Startup จะเป็นผู้วิจัยประดิษฐ์เครื่องจักรในการผลิตพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชนที่ต้องการลงทุนในอุตสาหกรรมนั้นๆ ได้ทันที โดยที่เราเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ทำงานวิจัยสู่อุตสาหกรรมแบบสำเร็จรูป และเข้าร่วมถือหุ้นในโครงการนั้นเพื่อสร้างความมั่นใจในการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องให้กับภาคเอกชน

รศ.นพ.ชาญชัย ยังกล่าวต่ออีกว่า ความสำเร็จในโครงการปุ๋ยน้ำนาโน ปัจจัยหนึ่งมาจากเครื่อง Nano Homogenizer แบบอุตสาหกรรม ซึ่งถูกนำมาทำให้ Chitosan มีขนาดต่ำกว่า 100 นาโนเมตร โดยครั้งนี้เราได้สร้าง Nano Homogenizer ขนาด 2,000 ลิตร ซึ่งเป็นขนาดใหญ่สุดในอุตสาหกรรมที่มีอยู่ นอกจากนี้โครงการปุ๋ยน้ำนาโน ยังสนับสนุนนโยบาย BCG Economy ซึ่งเป็นการผลิตปุ๋ยน้ำนาโนที่ไม่มีของเสียหรือขยะ และช่วยปรับปรุงและลดความเป็นพิษในดิน ทำให้ปลูกพืชได้อย่างยั่งยืน

ดร.นพรัตน์ อินทร์วิเศษ Chief R&D Officer ของ Lily Pharma กล่าวถึงเรื่องการใช้ปุ๋ยเม็ดมีการสูญเสียธาตุอาหารไปในอากาศ น้ำ และดิน ซึ่งธาตุไนโตรเจน (N) ประมาณ 60-70% ส่วนฟอสฟอรัส (P) และโพแทสเซียม (K) สูญเสียถึง 80% ซึ่งทำให้เกิดผลเสียต่ออากาศ น้ำ และดิน นอกจากนี้ในการผลิตปุ๋ยยูเรียจำเป็นต้องใช้แอมโมเนีย ในการผลิตต้องใช้พลังงานสูงและมีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จำนวน 1.8% ของปริมาณทั้งโลก (Royal Society) และการใส่ปุ๋ยยูเรีย จุลินทรีย์ในดินจะทำการย่อยแล้วทำให้เกิดก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) ปล่อยขึ้นสู่อากาศประมาณ 312 ล้านเมตริกตันต่อปี (EPA greenhouse gas explorer) และทั่วโลกมีนโยบายที่จะลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง 20% 

"เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เราจึงมีแนวคิดที่จะผลิตตปุ๋ยน้ำนาโนที่ลดการใช้ธาตุ N P Kและอยู่ในดินได้นานแม้อยู่ในสภาวะที่อากาศร้อนมาก โดยมี Nano Chitosan เป็นตัวอุ้มธาตุอาหารไว้ และพืชสามารถนำปุ๋ยน้ำนาโนไปใช้เมื่อต้องการ เราเรียกว่า On Demand Fertilizer ซึ่งจะแตกต่างกับปุ๋ยเม็ดแบบ Slow release ที่ปล่อยออกมาอย่างช้าๆ ตลอดเวลา แม้พืชไม่ได้ต้องการก็ตาม ดังนั้นเราจึงเป็นประเทศแรกของโลกที่ใช้เทคโนโลยีนี้"

ผศ.ดร.จิรวัฒน์ สนิทชน อาจารย์สาขาพืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำการวิจัยเพื่อทดสอบการเจริญเติบโตของข้าวพันธุ์ มข-60-1 ระหว่างปุ๋ยน้ำนาโน Nitrogen ของ Lily Pharma และปุ๋ยเม็ดยูเรียในแปลงทดลอง พบว่า การใช้ปุ๋ยน้ำนาโน Nitrogen ในอัตรา 0.66 Kg N/ไร่ สามารถส่งเสริมศักยภาพด้านลักษณะทางการเกษตร เช่น จำนวนหน่อต่อต้น ความสูงต้น ความยาวรวง ค่าดัชนีการเก็บเกี่ยว น้ำหนัก 1000 เมล็ด ขนาดเมล็ด และความหอมของข้าวไม่แตกต่างจากการใช้เม็ดปุ๋ยยูเรียที่ 9.2 Kg N/ไร่ ซึ่งเป็นการใช้ปุ๋ยน้ำนาโน Nitrogen น้อยกว่าปุ๋ยเม็ดยูเรียถึง 14 เท่า

ผศ.ดร.ชานนท์ ลาภจิตร หัวหน้าภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ทำการทดสอบปุ๋ยน้ำนาโน Nitrogen ของ Lily Pharma ต่อการเจริญเติบโตของต้นกล้ากัญชง พบว่า การใช้ปุ๋ยน้ำนาโน Nitrogen ที่ความเข้มข้นของไนโตรเจน น้อยกว่าปุ๋ยเม็ด สูตร 21-0-0 ที่ 0.5 เท่าหรือครึ่งหนึ่ง ทำให้ต้นกล้ากัญชงมีความสูง ความกว้างของใบ ความยาวใบ เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้น ค่าเฉลี่ยปริมาณคลอโรฟิลล์สูงกว่าการฉีดพ่นด้วยปุ๋ยเม็ดละลายน้ำ

นอกจากนี้ยังได้ทำการทดลองในผักสลัดเรดโอ๊คโดยใช้ระบบน้ำหยด ปลูกกลางแจ้งในเดือนมีนาคม 2567 พบว่าการใช้ปุ๋ยน้ำนาโน Nitrogen ที่ความเข้มข้นต่ำกว่าปุ๋ยเม็ดสูตร 21-0-0 ละลายน้ำ 15 เท่า ยังทำให้ต้นสลัดเรดโอ๊คมีอัตราการเจริญเติบโตได้ดีกว่าปุ๋ยเม็ดละลายน้ำ

Ng Kim Yun CEO บริษัท Einstein Nanoscience Sdn Bhd ผู้ร่วมทุนจากประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า รัฐบาลมาเลเซีย "มาดานิ" ภายใต้นายกรัฐมนตรี Datuk Seri Anwar เสนอความช่วยเหลือให้กับนักลงทุนด้านเทคโนโลยีชั้นสูงอย่างเต็มที่ ซึ่งผลิตภัณฑ์ปุ๋ยน้ำนาโนนี้จะช่วยให้เกษตรกรสร้างรายได้ที่มากขึ้นเนื่องมาจากประสิทธิผลที่ดีและในราคาที่คุ้มค่า

Ng Kim Yun อธิบายเพิ่มเติมว่า บริษัทของเราซื้อ Khow how และร่วมลงทุนกับ Lily Pharma ซึ่งเราจะใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรทั้งหมดจาก Lily Pharma ส่วนวัตถุดิบเกือบทั้งหมดจัดหาในประเทศมาเลเซีย เราจะผลิตปุ๋ยน้ำนาโน N P K ครบวงจร รวมถึงธาตุอาหารเสริมที่ช่วยทำให้พืชแต่ละชนิดให้ผลผลิตที่ดีขึ้น โดยมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 10,000 ลิตรต่อวัน และสามารถเพิ่มได้ถึง 20,000 ลิตรต่อวัน

"เราตกลงกับทางฝ่ายไทย ให้มาเลเซียเป็นบริษัทแม่หรือสำนักงานใหญ่ของธุรกิจนี้ ดังนั้นทางมาเลเซียต้องมีหน้าที่ขยายการลงทุนไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โดยทางฝ่าย Lily Pharma ทำหน้าที่ R& D และพัฒนาเครื่องจักรอย่างต่อเนื่อง การลงทุนโดยรวมในครั้งนี้ อยู่ที่ประมาณ MYR 10 ล้าน และภายใน 3 ปี การลงทุนของกลุ่มเราจะอยู่ที่ประมาณ MYR 30 ล้าน"