BCG Model สู่ BCG Tourism แนวคิดชุบชีวิตการท่องเที่ยวเชิงเกษตรไทย

BCG Model สู่ BCG Tourism แนวคิดชุบชีวิตการท่องเที่ยวเชิงเกษตรไทย

BCG Model สู่ BCG Tourism แนวคิดชุบชีวิตการท่องเที่ยวเชิงเกษตรไทย มุ่งฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมสู่ความอย่างยั่งยืน

เมื่อสถานการณ์ Covid-19 เกิดขึ้น ธุรกิจต่างๆ ถูกบีบบังคับให้ขับเคลื่อนไม่ได้ ส่งผลให้การดำเนินชีวิตเปลี่ยนไป นอกจากความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นแล้ว วิกฤตการณ์นี้ยังทำให้มองเห็น "ธรรมชาติ" หนึ่งในต้นทุนที่ใช้ไปกับการท่องเที่ยวจะได้โอกาสฟื้นฟูให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

BCG Tourism คืออะไร ? แนวคิด BCG Tourism เป็นการนำองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์กับการท่องเที่ยวให้เกิด ความยั่งยืน หรือ Sustainability มากขึ้น ในการพัฒนาเศรษฐกิจ เน้นความร่วมมือจากผู้ประกอบการให้ดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ ลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม แบ่งปันประโยชน์เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

ประเทศไทยเต็มไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งในเรื่องอาหาร วิถีชีวิต วัฒนธรรม สังคมเกษตรกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนภายในประเทศ ถือว่าเป็นต้นทุนที่แข็งแรงต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยว BCG Tourism ไปสู่ความยั่งยืน หากเข้าใจที่จะต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ 

การใช้แนวคิด ความยั่งยืน คือความใส่ใจในทุกมิติที่ไม่ใช่แค่เพียงมิติด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ต้องประกอบไปด้วย 3 มิติ คือ ผู้คน (People) ผลกำไร (Profit) และโลก (Planet) หรือที่เรียกว่า 3P ที่มุ่งเน้นการรักษาสมดุลและนำมาปรับใช้กับธุรกิจโดยครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม สมัยก่อนเน้นแต่เรื่องผลกำไรอย่างเดียว โดยไม่ได้ใส่ใจกับสิ่งต่างๆ รอบด้าน กระบวนการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้แบรนด์และธุรกิจต่างๆ หันมาให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้ที่มากกว่าเรื่องของผลกำไร ซึ่งจะกลายเป็นตัวสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจยุคใหม่ เพื่อเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรของชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการใช้พลังงานและวัตถุดิบท้องถิ่นอย่างสิ้นเปลือง หลีกเลี่ยงการสร้างมลภาวะให้สถานที่ท่องเที่ยวและพัฒนา หรือแปรรูปผลผลิตด้วยเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ จึงสามารถนำแนวคิด BCG Model มาประยุกต์ใช้ในการท่องเที่ยวเชิงเกษตรวิถีอินทรีย์ในไทยได้

BCG Model สู่ BCG Tourism แนวคิดชุบชีวิตการท่องเที่ยวเชิงเกษตรไทย

ทั้งนี้การดำเนินงานภายใต้ BCG Model และยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเชิงเกษตรจะมีส่วนผลักดันให้เกิดรายได้ทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวไทย เป็นกลุ่มที่มีคุณภาพ และมีความพร้อมทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นผู้มีจิตสำนึกที่ดีต่อส่วนรวม และเต็มใจใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่มีคุณภาพสะท้อนภูมิปัญญาไทย ผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าด้วยนวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์ และผ่านกระบวนการผลิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม 

สำหรับแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้ BCG Model เพื่อส่งเสริมธุรกิจสีเขียว มีแนวทางผสมผสานความยั่งยืน ได้แก่

1. การท่องเที่ยววิถีชีวิตชุมชน

ไทยมีรูปแบบการท่องเที่ยวชุมชนที่หลากหลาย เช่น เกษตรกรรม ปศุสัตว์ ประมง เป็นต้น สามารถประยุกต์องค์ความรู้และเทคโนโลยีในการสอดแทรกแนวคิดความยั่งยืน เช่น เกษตรอินทรีย์ การคัดแยกขยะ การรีไซเคิลของเสีย ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบ 

ยกตัวอย่าง "ไร่รื่นรมย์" ฟาร์มเกษตรอินทรีย์ ที่ ต.งิ้ว อ.เทิง จ.เชียงราย บนพื้นที่กว่า 500 ไร่ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอินทรีย์ สร้างคาเฟ่ และฟาร์มสเตย์ ที่มีทั้งร้านอาหารออร์แกนิกใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่น สด ใหม่ สะอาด ปลอดภัย พร้อมที่พักท่ามกลางธรรมชาติล้อมรอบด้วยภูเขา สามารถชมวิวได้ 360 องศา พร้อมทั้งจำหน่ายสินค้าออร์แกนิก เช่น ข้าว ผัก ผลไม้ รวมถึงสินค้าเกษตรแปรรูปในแบบต่างๆ เช่น เครื่องดื่มธัญพืช และยังมีศูนย์การเรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์และ พลังงานสะอาด โดยจัดอบรมทุกเดือน เช่น การทำเกษตร ทำนา และทำอาหาร อีกด้วย

BCG Model สู่ BCG Tourism แนวคิดชุบชีวิตการท่องเที่ยวเชิงเกษตรไทย

อีกหนึ่งตัวอย่าง ในการพัฒนาเศรษฐกิจการท่องเที่ยวสู่แนวทาง BCG Tourism คือ "บันดาหยา" แห่งเกาะหลีเป๊ะ เมื่อนักท่องเที่ยวมายังเกาะหลีเป๊ะจะเกิดการใช้ทรัพยากรค่อนข้างเยอะ มองเห็นถึงความสำคัญในการทำธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม จึงมีการสร้างระบบบ่อบำบัดน้ำเสียแบบครบวงจร โดยใช้พื้นที่ประมาณ 1 ไร่ และยังมีระบบการจัดการแยกขยะ มีการนำเศษอาหารมาทำแก๊สชีวภาพ ตอบโจทย์การใช้พลังงานซักผ้า-อบผ้า รีสอร์ทยอมลงทุนในส่วนนี้เพื่อให้สภาพแวดล้อมมีความยั่งยืน 

นอกจากนี้ยังมีการทำโปรเจกต์ "เซฟหลีเป๊ะ" ทุกปี เนื่องจากอยากให้นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวได้ซึมซับธรรมชาติ แล้วสร้างกลับคืนให้กับเกาะหลีเป๊ะ เช่น บันดาหยาจะมีทริปสำหรับนักท่องเที่ยว มีกิจกรรม อาทิ ปลูกปะการัง แล้วมาดูพัฒนาการเติบโตในปีหน้าว่าปะการังที่เราปลูกเป็นอย่างไรบ้าง

BCG Model สู่ BCG Tourism แนวคิดชุบชีวิตการท่องเที่ยวเชิงเกษตรไทย

2. การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 

หลังเผชิญวิกฤติโควิด-19 มนุษย์หันมาสนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ผู้ประกอบการท่องเที่ยว จึงควรต่อยอดและยกระดับมาตรฐานด้านความสะอาด ความปลอดภัย และบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพให้ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ และร่วมมือกับชุมชนเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเท่าเทียม เช่น โรงแรมนำเสนออาหารสุขภาพโดยอุดหนุนผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์โดยตรงจากเกษตรกร หรือส่งเสริมกิจกรรมทางสุขภาพ เช่น ปั่นจักรยาน เดินป่า ซึ่งเจ้าของธุรกิจร่วมมือกับชุมชนเพื่อสนับสนุนพื้นที่ นักท่องเที่ยวจะได้มีโอกาสเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนและเป็นการกระจายรายได้แก่ชุมชนอีกด้วย

ยกตัวอย่าง "พบสนุกม่อนแจ่ม" สถานที่ท่องเที่ยวที่มาพร้อมกิจกรรมท่ามกลางธรรมชาติตอบแทนสังคมด้วยการพัฒนาชุมชนโดยรอบในพื้นที่ บ้านถวาย ต.ขุนคง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ปัจจุบันการท่องเที่ยวในพื้นที่บ้านถวาย ซึ่งเป็นแหล่งแกะสลักไม้ของเชียงใหม่ แต่ซบเซา จึงคิดอยากจะตอบแทนคนในท้องถิ่น ด้วยการทุ่มทุนเนรมิตพื้นที่กลางทุ่งนาของตนเองให้เกิดเป็นรีสอร์ท และร้านกาแฟ มีกิจกรรมเพื่อให้ผู้มาท่องเที่ยวได้ทำกิจกรรม ได้ออกกำลังกายกัน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กลับมาท่องเที่ยวในพื้นที่บ้านถวาย เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับชุมชนอีกครั้ง

BCG Model สู่ BCG Tourism แนวคิดชุบชีวิตการท่องเที่ยวเชิงเกษตรไทย

จะเห็นได้ว่าการท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยเล่าเรื่องที่ทำให้นักท่องเที่ยวเห็นคุณค่าของสินค้าและบริการได้ ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จะต้องนำเสนอสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ที่ดี พร้อมทั้งต้องต่อยอดความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อทำให้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ในมิติด้านการท่องเที่ยวมีศักยภาพมากขึ้น

ใช้ BCG Model พัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน

การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้วย BCG Model จะช่วยให้ชุมชนและนักท่องเที่ยวมีบทบาทร่วมกันในการดูแลแหล่งท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน เชื่อว่ามีหลายชุมชนที่ต้องการทำแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นวิถีอินทรีย์ผ่านแนวคิด BCG Model ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อผลิตภัณฑ์และสินค้าต่างๆ ในชุมชน อาทิ ส่งเสริมโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปรู้จักกับผลิตภัณฑ์ OTOP และสินค้า GI ซึ่งจะทำให้เกิดกระจายรายได้สู่ภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ในพื้นที่ และยังสามารถเพิ่มมูลค่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวให้สูงขึ้นอย่างยั่งยืนตลอดไป

การผลักดันแนวทางในการส่งเสริมเมืองรองและชุมชน เพื่อกระจายรายได้สู่จังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง โดยนำเสนอ Local Experience เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาสัมผัสประสบการณ์จากพื้นที่โดยตรง ชูจุดเด่นโดยใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นและส่งเสริมภาพลักษณ์ของแต่ละจังหวัด หรือพื้นที่ในแง่มุมที่ต่างกันไป ต่อยอดความเข้มแข็งไปพร้อมๆ จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ลดของเสียให้มากที่สุด (Zero Waste) เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

แหล่งอ้างอิง

BCG Model สู่ BCG Tourism แนวคิดชุบชีวิตการท่องเที่ยวเชิงเกษตรไทย