เครือซีพี และกลุ่มเทเลนอร์ จับมือตั้งบริษัทเทคโนโลยี หวังดันไทยเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีระดับภูมิภาค

เครือซีพี และกลุ่มเทเลนอร์ จับมือตั้งบริษัทเทคโนโลยี หวังดันไทยเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีระดับภูมิภาค

เครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) และกลุ่มเทเลนอร์ ประกาศการพิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน สนับสนุนให้ ทรู คอร์ปอเรชั่น และ โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด ปรับโครงสร้างธุรกิจสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี

“สิ่งที่เราทำในวันนี้ ไม่ได้เพียงแค่เกี่ยวกับว่าเราต้องการให้บริษัทของเราเติบโตไปในทิศทางไหนในปีข้างหน้า แต่สิ่งที่เราทำ ยังเกี่ยวกับว่าเราต้องการให้ประเทศไทยของเราก้าวไปได้ไกลในทศวรรษข้างหน้านี้ สิ่งที่เราทุกคนลงมือทำในตอนนี้ จะมีส่วนช่วยกำหนดเจริญรุ่งเรืองของประเทศในทศวรรษข้างหน้า เพราะว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ จะเปลี่ยนแปลงวิธีการใช้ชีวิต การทำงาน การสื่อสาร การพักผ่อน การเดินทาง การขนส่ง การจับจ่ายซื้อของ และการผลิต นี่จึงเป็นเวลาแห่ง ‘ความเปลี่ยนแปลง’”

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 เครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) และกลุ่มเทเลนอร์ ประกาศการพิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) โดยการสนับสนุนให้บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC) ตั้งเป้าปรับโครงสร้างธุรกิจสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี (Technology Company) ภายใต้ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีฮับ พร้อมเสริมธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ การสร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็ม และกองทุนสตาร์ทอัพ เพื่อสอดรับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีระดับภูมิภาค 

ในระหว่างการศึกษาและพิจารณาการปรับโครงสร้างครั้งนี้ ธุรกิจของทรู และดีแทค จะยังคงดำเนินไปตามปกติของแต่ละบริษัท ในขณะที่เครือซีพี ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของทรู และกลุ่มเทเลนอร์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของดีแทค ตั้งเป้าที่จะหาข้อสรุปในรายละเอียดของความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) ซึ่งจะส่งผลให้ เครือซีพีและกลุ่มเทเลนอร์ ถือหุ้นเท่าเทียมกันในบริษัทใหม่ที่จะร่วมกันสร้างขึ้น นอกจากนี้ ทรูและดีแทคจะดำเนินการตามเงื่อนไขต่าง ๆ ทั้งการตรวจสอบกิจการของอีกฝ่ายหนึ่งแล้วเสร็จเป็นที่พอใจ (Due Diligence) การขออนุมัติที่เกี่ยวข้องจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทและผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัท ตลอดจนการดำเนินขั้นตอนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ให้แล้วเสร็จ

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาพรวมของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (Telecom Landscape) ได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากเทคโนโลยีใหม่ และตลาดที่เปิดกว้างต่อการแข่งขัน โดยผู้ประกอบการจากอุตสาหกรรมดิจิทัลขนาดใหญ่ในระดับภูมิภาคเข้ามาเสนอรูปแบบบริการดิจิทัลมากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคม ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว นอกเหนือจากการพัฒนาการให้บริการเครือข่าย (Connectivity) ให้เป็นอัจฉริยะแล้ว ยังต้องเสริมศักยภาพและความรวดเร็ว ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) จากโครงข่ายการสื่อสารและส่งมอบเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ให้กับลูกค้า ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้การปรับโครงสร้าง (Transformation)  ของบริษัทไทยสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี ให้สามารถแข่งขันกับผู้เล่นชั้นนำระดับโลกได้นั้น ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง”

“การปรับโครงสร้างสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0  ที่จะก้าวเป็นฮับของเทคโนโลยีในระดับภูมิภาค โดยโทรคมนาคม (Telecom) จะยังคงเป็นธุรกิจหนึ่งของโครงสร้าง และจะต้องพัฒนาธุรกิจเพิ่มเติมในส่วนที่มุ่งเน้นด้านเทคโนโลยี รวมไปถึงปัญญาประดิษฐ์ ระบบคลาวด์เทคโนโลยี ไอโอที อุปกรณ์อัจฉริยะ เมืองอัจฉริยะ ดิจิทัลมีเดียโซลูชั่น และปรับโครงสร้างเพื่อให้สนับสนุนการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยี (Tech Startup) โดยการจัดตั้ง Venture Capital ที่มุ่งเน้นลงทุนในสตาร์ทอัพไทย และสตาร์ทอัพต่างประเทศ ที่ตั้งในประเทศไทย นอกจากนี้ เรายังมีแผนที่จะศึกษาด้านเทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology) เพื่อนำมาปรับใช้กับธุรกิจ ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดกว้างกรอบความคิดในการทำนวัตกรรมใหม่เพิ่มเติมด้วยเช่นกัน”

“การก้าวสู่บริษัทเทคโนโลยี คือกุญแจสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าการพัฒนาแบบก้าวกระโดด และสร้างความเจริญรุ่งเรืองกระจายไปทั่วประเทศได้ ซึ่งในฐานะบริษัทไทย เรามุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยปลดล็อกศักยภาพที่มีอยู่อย่างมหาศาลของธุรกิจไทยและผู้ประกอบการดิจิทัลไทย รวมทั้งยังจะสามารถดึงดูดคนที่เก่งที่สุดและธุรกิจล้ำสมัยจากทั่วโลกให้มาทำธุรกิจในประเทศไทยได้อีกด้วย”

แหล่งข่าวซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ และมีความใกล้ชิดกับการเจรจาในครั้งนี้ กล่าวว่า บริษัทใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นนี้ จะมองไปที่การศึกษาโอกาสด้านเทคโนโลยีอวกาศอย่างจริงจัง เนื่องจากเล็งเห็นว่าเรื่องนี้จะ สามารถช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้าไปสู่การเป็นฮับเทคโนโลยีของภูมิภาคได้ สอดรับกับคาดการณ์ที่ว่า ต่อไปในยุคของเทคโนโลยีเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เจเนอเรชั่นใหม่ที่จะเกิดขึ้นนั้น การสื่อสารโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมจะเป็นตัวสำคัญที่มาเสริมการส่งสัญญานและการเชื่อมต่อการสื่อสารผ่านระบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน 

นายซิคเว่ เบรกเก้ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทเลนอร์ กล่าวว่า “เรามีประสบการณ์ในการขับเคลื่อนโลกดิจิทัลในประเทศต่าง ๆ ในเอเชียมาแล้ว ดังนั้น ขณะที่เรายังพัฒนาต่อไป ทั้งผู้บริโภคและธุรกิจต่างคาดหวังบริการที่ล้ำสมัยและการเชื่อมต่อที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เราเชื่อว่า บริษัทใหม่นี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอด ยกระดับประเทศไทย ไปสู่การเป็นผู้นำในโลกดิจิทัลได้ ด้วยการผนวกความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ากับการบริการที่ดึงดูดลูกค้า พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีเยี่ยม”

นายเยอเก้น โรสทริป รองประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารภูมิภาคเอเซีย

กล่าวว่า “ข้อตกลงในครั้งนี้จะช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในการเสริมสร้างฐานของเราในเอเชียให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ตลอดจนสร้างคุณค่า และพัฒนาตลาดในภูมิภาคนี้ต่อไปในระยะยาว เรามีความมุ่งมั่นและพันธกิจต่อทั้งประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียมาอย่างยาวนาน และความร่วมมือครั้งนี้ก็จะเสริมความมุ่งมั่นและพันธกิจนี้ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น การที่เราสามารถเข้าถึงทั้งเทคโนโลยีใหม่ ๆ และทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพดีที่สุด จะเป็นปัจจัยเสริมที่สำคัญสำหรับบริษัทใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นในครั้งนี้”

นายเยอเก้นกล่าวว่า “บริษัทใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้น จะตั้งกองทุนมูลค่าประมาณ 100 – 200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3,250 – 6,500 ล้านบาท) ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพบนแพลตฟอร์มดิจิทัล เน้นการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ เพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภคในประเทศไทย” 

ถ้ามีการตกลงและทุกอย่างดำเนินการไปจนเสร็จสิ้นได้ บริษัทใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้น จะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยผู้ถือหุ้นทั้งหมดของดีแทค และทรู คอร์ปอเรชั่น มีทางเลือกในการที่จะรับคําเสนอซื้อหุ้นโดยสมัครใจ (Voluntary Tender Offer หรือ VTO) พร้อมกับส่วนต่างเพิ่มเติมในระดับที่น่าดึงดูดใจที่จะนำเสนอให้ด้วย หรือเลือกที่จะร่วมลงทุนเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทใหม่ต่อไปได้ 

ถ้ามีการตกลงและเดินหน้าความร่วมมือในครั้งนี้ จะมีการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์โดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไข (Conditional VTO) ภายใต้การดำเนินการครบตามเงื่อนไข เสนอให้กับผู้ถือหุ้นของดีแทค และทรู คอร์ปอเรชั่น หลังจากนั้นจึงจะเป็นการผนึกความร่วมมือระหว่างดีแทค และทรู คอร์ปอเรชั่น จัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้น ทั้งนี้ ราคา VTO ของหุ้นดีแทค จะอยู่ที่ 47.76 บาทต่อหุ้น คิดเป็นส่วนต่าง 25% ของราคาเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักโดยปริมาณ (Volume Weighted Average Price หรือ VWAP) ของหุ้นดีแทคในช่วงหนึ่งเดือน และราคา VTO ของหุ้นทรู คอร์ปอเรชั่น จะอยู่ที่ราคา 5.09 บาทต่อหุ้น คิดเป็นส่วนต่าง 25% ของราคา VWAP ของหุ้นทรูในช่วงหนึ่งเดือน โดยอัตราแลกเปลี่ยนหุ้นที่ตกลงกันคือ หุ้นทรู 10.221 หุ้น เท่ากับหุ้นดีแทค 1 หุ้น และเปอร์เซ็นต์การแบ่งสัดส่วนความเป็นเจ้าของในบริษัทใหม่ของผู้ถือหุ้นหลักทั้งสองราย จะถูกกำหนดโดยผลลัพธ์ของ VTO

ทั้งเครือซีพีและกลุ่มเทเลนอร์ ต่างมั่นใจว่า การพิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกันในครั้งนี้จะสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภคและประชาชนไทย  ซึ่งจะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของภูมิภาคตามยุทธศาสตร์ของประเทศไทยได้สำเร็จตามเป้าหมาย