ถอดรหัส "ดิทโต้" รุกธุรกิจ "คาร์บอนเครดิต" แบบเต็มสูบ

ถอดรหัส "ดิทโต้" รุกธุรกิจ "คาร์บอนเครดิต" แบบเต็มสูบ

ถอดรหัส "ดิทโต้" เดินหน้ารุกธุรกิจ "คาร์บอนเครดิต" มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมตั้งเป้าผลิตคาร์บอนเครดิต ป้อนบริษัทส่งออก

โครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จาก คาร์บอนเครดิต หรือ Carbon Credit โดย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เปิดให้เอกชนขออนุญาตดูแลรักษาป่า นับเป็นโครงการหนึ่งที่มีความสำคัญในการช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งทางบริษัท สยาม ทีซี เทคโนโลยี จำกัด บริษัทย่อยของ บริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DITTO ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมโครงการ โดยได้รับจัดสรรพื้นที่ปลูกป่าชายเลน จำนวน 11,448 ไร่ เป็นเวลา 30 ปี เพื่อใช้ประโยชน์ทางคาร์บอนเครดิต 

ทำไม DITTO ลุยธุรกิจ Carbon Credit? 

ฐกร รัตนกมลพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DITTO เปิดเผยว่า ธุรกิจของ DITTO มีส่วนช่วย ลดโลกร้อน มาตลอด โดยเฉพาะธุรกิจระบบการจัดการเอกสารในรูปแบบ Digital ครบวงจร หรือ Document Management Solutions ซึ่งช่วยลดการใช้กระดาษมากกว่า 800 ล้านแผ่น เท่ากับกว่า 1.6 ล้านรีม หรือกว่า 4 พันตัน และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 16,000 ตัน ซึ่งปริมาณกระดาษที่ใช้ลดลง นำไปคำนวณคาร์บอนเครดิตได้ด้วย ขณะเดียวกัน บริษัท สยาม ทีซี เทคโนโลยี มีโครงการคัดแยกขยะด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง และยังจัดสร้างระบบการคัดแยกขยะขึ้นมาเพื่อมาบริหารจัดการ สามารถนำมาคำนวณคาร์บอนเครดิตได้ ปัจจุบันได้เข้าไปคัดแยกขยะให้กับ อบจ. แห่งหนึ่ง มีปริมาณขยะ 160 ตันต่อวัน คำนวณคาร์บอนเครดิต 0.5 - 0.6% ต่อตันต่อวัน รวมทั้งปีจะได้คาร์บอนเครดิต 30,000 - 40,000 ตันต่อปี

ตั้งเป้าผลิต Carbon Credit ป้อนบริษัทส่งออก 

ฐกร กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้ DITTO สนใจโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์ คาร์บอนเครดิต เพราะมีผลการศึกษาพบว่า ป่าชายเลน สามารถดูดซับคาร์บอนเครดิตได้ 8 - 10 ตันต่อไร่ต่อปี ดังนั้น พื้นที่ที่ DITTO ได้รับ 11,448 ไร่ ระยะเวลา 30 ปี คาดว่าจะได้คาร์บอนเครดิตไม่น้อยกว่า 3.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดย DITTO ได้ส่วนแบ่ง 90% อีก 10% เป็นของ ทช.

"พื้นที่ป่าชายเลนที่ ดิทโต้ เข้าไปปลูกและดูแล ถูกจัดว่าเป็นบลูคาร์บอน (BLUE Carbon) คือคาร์บอนไดออกไซด์ที่สะสมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง โดยระบบนิเวศชายฝั่ง รวมทั้งป่าชายเลน หญ้าทะเล และลุ่มน้ำเค็ม ดูดซับกักเก็บคาร์บอนฯ สูงเมื่อเทียบกับป่าบก นอกจากนี้ป่าชายเลนยังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญ เป็นเกราะป้องกันห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ เป็นที่หลบภัยสัตว์ใกล้สูญพันธ์ ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง จึงทำให้มูลค่าบลูคาร์บอนจากป่าชายเลนสูงกว่าป่าประเภทอื่น"

สำหรับการลุยธุรกิจดังกล่าว ฐกร กล่าวเพิ่มเติมว่า มีหลายปัจจัยหนุนด้วยกัน เริ่มจากปัจจัยแรก เนื่องจากบริษัทเอกชนไทยที่ส่งสินค้าออกไปยังตลาดยุโรปจะได้รับผลกระทบจากระเบียบ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) หรือการบังคับใช้ภาษีคาร์บอนฯ กับประเทศคู่ค้าสำหรับการส่งออก/นำเข้า ที่ทางยุโรปจะบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ผู้ส่งสินค้าออกไปยุโรปจะต้องซื้อใบรับรอง CBAM ซึ่งราคาใบรับรองอ้างอิงตามราคาซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกในตลาดคาร์บอนของอียู ยิ่งทำให้ความต้องการคาร์บอนเครดิตของผู้ประกอบการมีมากขึ้น ส่งผลให้ราคาของคาร์บอนเครดิตปรับตัวขึ้นตามไปด้วย 

ตามมาด้วย ปัจจัยที่ 2 แม้ว่าปัจจุบันการมีส่วนร่วมช่วยลดการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก ยังเป็นภาคสมัครใจ (T-VER) แต่ภายใน 2 ปีนี้ รัฐบาลจะผลักดันให้ใช้เป็นภาคบังคับไม่ใช่วิธีสมัครใจอย่างในปัจจุบัน ถึงตอนนั้นความต้องการ คาร์บอนเครดิต จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน เพราะจะเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการจำนวนมาก และปัจจัยสุดท้าย ล่าสุด ครม. มีมติตาม ที่กรมสรรพากรได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร จำนวน 2 ฉบับ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการภาษี ทั้ง 2 มาตรการ ดังนี้

  1. มาตรการเพื่อส่งเสริมโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่เกิดจากการขายคาร์บอนเครดิตในประเทศ มีผลตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2570
  2. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการดำเนินโครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชน ลดโลกร้อน โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีของบุคคลธรรมดา ให้สามารถหักลดหย่อนเงินที่บริจาคให้แก่กรมป่าไม้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2570 

บัวหลวงฟันธง อนาคตไปได้สวย

บริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง ประเมินว่า หาก ดิทโต้ เริ่มดำเนินโครงการในปี 2566 จะใช้เวลา 3 ปี ที่จะเริ่มรับรู้คาร์บอนเครดิตในปี 2569 โดยคาดเงินลงทุนเริ่มต้นในปีแรกจะอยู่ที่ราว 160 - 170 ล้านบาท และค่าดูแลรักษาตั้งแต่ปีที่ 2 เป็นต้นไป จะอยู่ที่ 30 ล้านบาทต่อปี โดยตั้งแต่ปี 2569 คาดว่า DITTO จะได้รับคาร์บอนเครดิตต่อปีอยู่ที่ราว 1 แสนตันต่อปี (สัดส่วน 90%) 

หากอิงจากตลาดในต่างประเทศอย่างยุโรป ราคาตอนนี้อยู่ที่ราว 70 ยูโร หรือ 2,600 บาทต่อตัน จะสามารถสร้างกำไรในปี 2569 ได้ราว 230 ล้านบาท สร้างกำไรส่วนเพิ่มได้มากกว่า 50% ต่อปี จะครอบคลุมต้นทุนทั้งหมดที่ลงทุนไปใน 3 ปีแรก และจะสร้างกำไรอย่างต่อเนื่องไปอีก 26 ปีที่เหลือ ซึ่งคาดว่าในอนาคตราคาคาร์บอนเครดิตจะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องอย่างแน่นอน 

ทั้งหมดนี้ คือคำตอบว่า ทำไม ดิทโต้ ลุยธุรกิจ คาร์บอนเครดิต ชนิดเต็มสูบเลยทีเดียว