"เชาว์ สตีล อินดัสทรี้" ขึ้นแท่นองค์กรโปร่งใส ชูหลักธรรมาภิบาล คืนประโยชน์สู่สังคม

"เชาว์ สตีล อินดัสทรี้" ขึ้นแท่นองค์กรโปร่งใส ชูหลักธรรมาภิบาล คืนประโยชน์สู่สังคม

"เชาว์ สตีล อินดัสทรี้" คว้ารางวัลองค์กรโปร่งใส ครั้งที่ 10 ขยับขึ้นจากรางวัลชมเชยในปีก่อน ชูหลักธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน พร้อมคืนประโยชน์สู่สังคม

"เราทำองค์กรให้มีความภูมิใจ พนักงานมีความภูมิใจ เวลาออกไปโรดโชว์ หรือคุยเล่าผ่าน Opportunity day เรามีความภูมิใจมากๆ ที่บอกทุกคนถึงรางวัลองค์กรโปร่งใสนี้" ความรู้สึกของ ปรมัตถ์ จุฬวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท เชาว์ สตีล อินดัสทรี้ จำกัด (มหาชน) ที่กล่าวถึง ความภาคภูมิใจหลังจากองค์กรได้รับ รางวัลองค์กรโปร่งใส (NACC Integrity Awards) ครั้งที่ 10 จาก สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ สำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งถือเป็นปีแรกที่คว้ารางวัลนี้ หลังจากเคยได้รับรางวัลชมเชยในปีก่อนหน้ามาแล้ว

เบื้องหลังรางวัลอันน่าภาคภูมิใจคือ การดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล ทั้งมิติของการดำเนินธุรกิจ และการสร้างวัฒนธรรมภายในองค์กรที่แข็งแกร่งมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตัดสินใจเข้าร่วมคัดเลือกรางวัลองค์กรโปร่งใสในครั้งนี้

"เชาว์ สตีล อินดัสทรี้" ขึ้นแท่นองค์กรโปร่งใส ชูหลักธรรมาภิบาล คืนประโยชน์สู่สังคม

สำหรับการดำเนินธุรกิจของ กลุ่มเชาว์ มีหัวใจสำคัญคือ การดูแลสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อกฎระเบียบและสังคม โดยธุรกิจหลัก เชาว์สตีล คือ การรีไซเคิลเศษเหล็กเพื่อนำกลับมาใช้โดยทำเป็นเหล็กเส้นรูปแบบต่างๆ ด้วยเทคโนโลยีอินดักชัน (Induction) ที่มีจุดเด่นคือ มีฝุ่นในกระบวนการผลิตน้อยกว่า อีกทั้งยังมีตัวกรองฝุ่นซ้ำอีกครั้ง เพื่อให้ชุมชนไม่ได้รับผลกระทบ ขณะที่องค์กรลูกที่ทำธุรกิจด้านพลังงานเดินหน้า พลังงานสะอาด (Renewable) ที่ไม่สร้างภาระให้โลก

"สิ่งที่เราภูมิใจว่าธุรกิจพลังงานสะอาด นอกเหนือจากการสร้างรายได้ที่มั่นคงแล้ว เรายังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลด CO2 มันเป็นแพสชัน และแนวทางที่เราอยากทำ" ปรมัตถ์ กล่าว

นอกจากแนวทางในการดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ต้น ด้าน ธรรมาภิบาล ในการบริหารธุรกิจ บริษัทฯ ก็ได้ให้ความสำคัญในมิติผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) เช่น ผู้ถือหุ้น พนักงาน และสังคมส่วนรวมจนสะท้อนออกมาเป็นที่ประจักษ์ และทำอย่างต่อเนื่อง ดังนี้ 

  • ผู้ถือหุ้น : มองเรื่องการให้ข้อมูลที่โปร่งใส แจ้งข้อมูลสู่ตลาดหลักทรัพย์เสมอ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นทุกคน ได้เข้าถึงข้อมูลได้อย่างเท่าเทียมกัน 
  • คู่ค้า : เน้นความชัดเจนเรื่องความโปร่งใส ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดหา วิธีการจ่ายเงินตรงไปยังคู่ค้า ตรวจสอบตัวตนได้ก่อนทำการซื้อขาย ขณะที่เรื่องการขาย และมีการควบคุมคุณภาพสินค้าจะต้องเป็นไปตาม ISO 9001 
  • พนักงาน : เน้นการฝึกอบรมพนักงานให้มีธรรมาภิบาลต่อเนื่องทุกปี เช่น เรื่องการงดรับสินบน รวมถึงให้ความสำคัญด้านสิทธิพนักงานที่เปิดกว้าง นอกจากนี้ ยังเปิดช่องทางให้ร้องเรียนได้โดยตรง ขณะที่ผู้ตรวจสอบด้านต่างๆ เช่น บัญชี ไอที มีผู้สอบที่ถูกต้อง 
  • สังคม : มีกิจกรรม CSR ที่ทำร่วมกับชุมชนโดยรอบพื้นที่ ที่ กลุ่มเชาว์ เข้าไปทำธุรกิจ เพื่อร่วมพัฒนาในด้านต่างๆ เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน เช่น ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เปลี่ยนตะกรันเหล็กจากกระบวนการผลิต ที่เป็นขยะส่วนเกินให้เป็นก้อนอิฐ ซึ่งสามารถนำไปใช้ปูถนน สร้างโครงสร้างต่างๆ ที่สามารถใช้ได้จริง จนได้รับรางวัลจากประเทศฟิลิปปินส์ 

หรือแม้แต่การร่วมกับผู้นำชุมชน หาทางให้ชุมชนมีรายได้เพิ่ม เข้าไปช่วยดีไซน์แพ็กเกจของผลิตภัณฑ์ในชุมชน เช่น ข้าวสาร กุนเชียง ไข่เค็ม ช่วยสร้างรายได้ที่ยั่งยืน สนับสนุนธุรกิจชุมชน ที่นำไปสู่การจ้างงานอีกด้วย

"เชาว์ สตีล อินดัสทรี้" ขึ้นแท่นองค์กรโปร่งใส ชูหลักธรรมาภิบาล คืนประโยชน์สู่สังคม

  • ยกระดับจากรางวัลชมเชย สู่องค์กรโปร่งใส

สำหรับการไต่ระดับขึ้นคว้ารางวัลองค์กรโปร่งใสในปีนี้ ผู้บริหารกลุ่มเชาว์เผยว่า มีความท้าทายทั้งกฎและกติกาต่างๆ ที่เปลี่ยนไป เช่น กฎของตลาดหลักทรัพย์ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น องค์กรมีการปรับตัวให้สอดรับกับเหตุการณ์ที่เปลี่ยนไปได้อย่างดี ทำให้ เชาว์ สตีล อินดัสทรี้ สามารถคว้ารางวัลองค์กรโปร่งใสได้สำเร็จ

รางวัลนี้สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในหลากหลายด้าน ที่สำคัญคือ สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้เพิ่มขึ้นได้ เช่น มีเครดิตที่ดีต่อธนาคาร เนื่องจากรางวัลสะท้อนให้เห็นถึงคาแร็กเตอร์ของผู้บริหาร ที่เน้นย้ำว่า บริษัทมีกระบวนการและเครื่องมือป้องกันการทุจริต ขณะที่นักลงทุนและคู่ค้าเกิดความสบายใจและเชื่อมั่นมากขึ้นด้วยเช่นกัน 

  • เป้าหมายต่อไปในฐานะองค์กรโปร่งใส

ปรมัตถ์ มองว่า ปัจจุบันองค์กรสามารถไปถึงเป้าหมายด้านธรรมาภิบาลที่คาดหวังได้แล้ว แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการรักษามาตรฐานนี้ให้ไปได้อย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการเติบโตขององค์กร การเปลี่ยนแปลงของพนักงาน หรือแม้แต่การบีบคั้นทางเศรษฐกิจที่เข้ามา โจทย์คือ ทำอย่างไรให้สามารถคงมาตรฐานนี้ไว้ให้ได้

"เป้าหมายคือรักษามาตรฐานนี้ให้ได้ ถึงแม้สมมติว่าปีหน้าเราอาจจะไม่ได้รางวัล แต่เราจะรักษาเรื่องธรรมาภิบาลต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมาเราไม่ได้ทำเพื่อได้โล่ แต่เราทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้วส่งให้เราได้โล่เป็นความภูมิใจของเรา" ปรมัตถ์ กล่าว

  • ธรรมาภิบาลกับโลกธุรกิจยุคใหม่ 

ปรมัตถ์ ยังกล่าวถึงความสำคัญของการมี ธรรมาภิบาล ที่ดีในการทำธุรกิจใน 2 ด้าน

ด้านแรก คือ ธรรมาภิบาลด้านธุรกิจ ที่บริษัทเชื่อว่าธรรมาภิบาลคือ License to Operate ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความไม่โปร่งใส เช่น การขาดจริยธรรมทางธุรกิจ มันอาจส่งผลรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมได้ เช่น เสียฐานลูกค้าหรือเสียความมั่นใจกับผู้ถือหุ้นหรือสถาบันการเงิน ดังนั้น ธรรมาภิบาลจึงเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้บริษัทมีอนาคตไกล และดำเนินธุรกิจไปได้อย่างยั่งยืน 

ด้านที่ 2 คือ ธรรมาภิบาลด้านสังคม ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่า ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากเรื่องของการทุจริตมายาวนาน โดยความไม่โปร่งใสที่เกิดขึ้นนี้เอง ที่ทำให้ประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดถอยลง ที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่า ธรรมาภิบาลกับเศรษฐกิจนั้นแปรผันตรงกัน ดังนั้น เราต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนธรรมาภิบาลที่ดีและมีส่วนช่วยให้ประเทศเราเจริญขึ้น

สำนักงาน ป.ป.ช. ขอเชิญชวนติดตามการตัดสินรางวัลองค์กรโปร่งใส ครั้งที่ 11 โดยสามารถดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ สำนักงาน ป.ป.ช.