โอกาสของ ‘เศรษฐกิจไทย’ เมื่อโลกเผชิญภาวะ ‘วิกฤต’

โอกาสของ ‘เศรษฐกิจไทย’  เมื่อโลกเผชิญภาวะ ‘วิกฤต’

การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในโลกนี้อย่างรวดเร็วทั้งจากเรื่องของสงคราม ความตรึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ภาวะเศรษฐกิจถดถอย การผิดนัดชำระหนี้ของประเทศกลุ่มEmerging Market เกิดขึ้นพร้อมๆกัน

 จนทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลว่าเศรษฐกิจของโลกเผชิญความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตครั้งใหญ่ได้ไม่ยากนัก

เมื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น คนจีนมีสุภาษิตบทหนึ่งกล่าวถึงการรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงไว้ได้อย่างน่าสนใจ

“เมื่อสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงได้เริ่มขึ้น บางคนพยายามสร้างกำแพง ในขณะที่บางคนสร้างกังหันลม”

สุภาษิตบทนี้มีความหมายที่ลึกซึ้งการสร้าง“กำแพง” เพื่อป้องกัน “สายลมแห่งความเปลี่ยนแปลง”เราอาจจะสามารถทัดทานสายลมนั้นไว้ได้แค่ชั่วคราว แต่หากเราสามารถสร้าง“กังหันลม”เพื่อรับมือกับสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ว่า

..ไม่เพียงแต่จะไม่ต้องกังวลกับ “ความเปลี่ยนแปลง”และ “วิกฤต”ที่จะมาถึง“กังหันลม”ที่สร้างขึ้นนี้จะใช้แรงลมนั้นช่วยสร้างพลังงานได้อีกต่างหาก

ในภาวะที่ทั่วโลกเผชิญสถานการณ์วุ่นวาย มีการแบ่งขั้ว แบ่งข้าง ทำสงคราม และปลุกปั่นยั่วยุกันต่างๆนานา ในทางเศรษฐกิจก็มีการขยับ ปรับดอกเบี้ยเพื่อลดทอนผลกระทบจากเงินเฟ้อ สงครามทั้งในรูปแบบจริงและสงครามเศรษฐกิจที่กำลังดำเนินไป ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระทบกับประเทศไทยอยู่ไม่น้อย เพราะเศรษฐกิจไทยส่วนหนึ่งผูกพันอย่างใกล้ชิดกับเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตามหากฟังที่ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่และเลขานุการธนาคารกรุงเทพกล่าวในงานสัมมนาThailand Survival ไทย..จะรอดอย่างไรในวิกฤติโลกจัดโดยเครือเนชั่นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาจะเข้าใจคำว่า “วิกฤต” ได้ดีขึ้น

ดร.กอบศักดิ์บอกว่าทุก“มรสุม”ไม่ได้กระทบทุกคนเท่ากัน ปัญหาเศรษฐกิจในครั้งนี้ไทยเราโดนหางมรสุม โดนกระทบบางส่วน แต่มีหลายส่วนที่ยังดีมากคือภาคเกษตร อาหาร และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้ดีจากช่วงของโควิด-19

โอกาสของเศรษฐกิจไทยในวิกฤตรอบนี้ยังเปิดกว้างในหลายอุตสาหกรรม ทั้งในส่วนของอุตสาหกรรมรถไฟฟ้า มอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ระบบโลจิสติกส์ทันสมัย ภาคเกษตรและอาหารแห่งอนาคต อุตสาหกรรมปุ๋ย ภาคการท่องเที่ยวที่เราตั้งเป้านักท่องเที่ยวไว้ถึง10 ล้านคนในปีนี้

ผู้เขียนได้มีโอกาสสนทนากับม.ล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทยได้บอกเล่าถึงแผน“Better and Green Thailand 2030”ที่มี 8 แผนงานย่อยที่จะดึงดูดการลงทุนเข้ามาในไทยได้อีก 2 ล้านล้านบาท กระตุ้นจีดีพีได้1.7 ล้านล้านบาท และช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ 13% ใน 8 แผนงานมี 3 แผนที่เป็นการร่วมมือกับต่างประเทศได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และซาอุดีอาระเบีย

ท่านบอกว่าแผนทุกอย่างเดินหน้าไปได้ได้ใน 2 – 3 เดือนนี้จะมีข่าวดีทั้งเรื่องของ EV และดาต้าเซนเตอร์ขนาดใหญ่ที่จะประกาศการลงทุนในไทยในเร็วๆนี้

ผู้แทนการค้าฯกล่าวด้วยว่าสถานการณ์โลกในขณะนี้ทำให้นักลงทุนมองไทยด้วยความสนใจ และตัดสินใจลงทุนเร็วขึ้น

โอกาสของเมืองไทยในวิกฤตรอบนี้จึงมีอยู่มากพอสมควร ก็หวังแต่ว่าเราจะมี“กังหันลม”ที่แข็งแรงพอที่จะเปลี่ยนให้วิกฤตเป็นโอกาสอันงดงามสำหรับประเทศไทยในอนาคต