การเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลในอาเซียน | รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น

การเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลในอาเซียน | รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น

คราวที่แล้ว ผู้เขียนได้นำเสนอศักยภาพในการแข่งขันของเอสเอ็มอีในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลไปแล้ว วันนี้จะนำเสนอการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล (Digital Transformation) ในอาเซียน

ข้อมูลที่จะนำเสนอนี้เป็นผลวิจัยของโครงการความเข้าใจศักยภาพในการแข่งขันของ SMEs ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลผ่านการชี้วัดทักษะด้านดิจิทัล และการพัฒนา SME digitization index (ระยะที่ 1) ที่ผู้เขียนได้รับมอบหมายจากแผนงานคนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ในปัจจุบัน เทคโนโลยีดิจิทัลถือเป็นหนึ่งในเส้นด้ายที่ช่วยถักทอองค์กรให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้เกิดงานวิจัยที่ศึกษาบทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัลต่อการปรับเปลี่ยนองค์กร โดยกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลอาจถูกนิยามว่าเป็นกระบวนการในการนำเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงองค์กร 

การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นฐานของกระบวนการดำเนินธุรกิจ กิจกรรมประจำวันของการดำเนินการ และศักยภาพการแข่งขันขององค์กร รวมถึงการเปิดโอกาสให้ธุรกิจเข้าแข่งขันในตลาดใหม่ 

ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลจึงเป็นกิจกรรมที่ให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวของข้อมูลภายในองค์กร และการประยุกต์ใช้อุปกรณ์ไอทีต่างๆ ด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น การเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ กระบวนการ และการปรับวัฒนธรรมองค์กรด้วย โดยกระบวนการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวจะต้องสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและต้องทำให้กิจการมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพื่อสอดรับกับพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีพลวัตสูง

กระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลอาจถูกจำแนกเป็นอย่างน้อย 2 ขั้นตอนย่อย ได้แก่ 1) การเปลี่ยนเอกสารและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้อยู่ในรูปของดิจิทัล และ 2) การปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ

การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลนั้น ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องดำเนินการให้การเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นแบบต่อเนื่อง (Continuous) ตามสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่ควรตัดสินใจเปลี่ยนผ่านในบางโอกาส (Occasional) เมื่อเกิดสภาพแวดล้อมที่บีบบังคับเท่านั้น

หรือไม่ควรรอจนรูปแบบการแข่งขันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน (Radical) จนต้องพยายามหาหนทางรักษาความสามารถในการแข่งขันไว้ดังเดิม

การเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลในอาเซียน | รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น

การเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล ไม่ได้หมายรวมถึงเฉพาะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งเท่านั้น เช่นการใช้เครื่องสแกนเนอร์แบบพกพา (Portable scanner) การมีอุปกรณ์บันทึกเสียงและแปลความหมาย (Digital dictation recorder) การใช้ปากกาสไตลัส (e-pen) หรือการใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต เป็นต้น

 แต่การเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลยังรวมถึงการปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจแบบองค์รวม ตั้งแต่การจัดซื้อวัตถุดิบ การบริหารสินค้าคงคลัง การวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค ไปจนถึงการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรและทัศนคติของผู้ประกอบการให้เป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมที่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

ในอดีตการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลมักจะเกี่ยวข้องกับการใช้ระบบบริหารจัดการข้อมูลภายในองค์กร เช่น Enterprise resource planning หรือ Customer relationship management การเปลี่ยนผ่านนี้จึงเป็นการเปลี่ยนผ่านที่จำกัดเฉพาะกระบวนการทางธุรกิจภายในขอบเขตขององค์กรเท่านั้น ที่มุ่งเน้นเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ ลดต้นทุน หรือหาวิธีทางธุรกิจที่ดีที่สุด

การเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลในอาเซียน | รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น

ในปัจจุบัน การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลมีความหมายที่กว้างกว่าในอดีต ซึ่งรวมถึงทัศนคติและวัฒนธรรมขององค์กรด้วย การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลจึงไม่ใช่เพียงการดำเนินกิจกรรมทางเทคนิคเท่านั้น แต่จะต้องเกี่ยวข้องกับประเด็นด้านการบริหารจัดการ 

เช่น การอบรมความรู้และการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เป็นต้น จนบางครั้งมีความคาบเกี่ยวกับทฤษฎีเรื่อง Dynamic managerial capabilities ซึ่งหมายถึงศักยภาพที่ผู้บริหารสามารถสร้าง ผนวก และบูรณาการทรัพยากรต่างๆ ขององค์กรให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

Dynamic managerial capabilities เป็นกรอบแนวคิดที่อยู่บนหลักพื้นฐาน 3 ประการ ได้แก่

1) Managerial cognition หมายถึง ทัศนคติและความเชื่อของผู้บริหารในการตัดสินใจ ความรู้และความเข้าใจของผู้บริหารในแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ต่างๆ และการคาดการณ์พัฒนาการต่างๆ ในอนาคต

2) Managerial social capital ซึ่งประกอบด้วยความสัมพันธ์ในรูปแบบทางการและไม่เป็นทางการระหว่างผู้บริหารกับบุคคลอื่น ความสัมพันธ์นี้มีส่วนสำคัญในการเข้าถึงทรัพยากรและข้อมูลที่หลากหลายขององค์กรเพื่อนำมาวิเคราะห์และสร้างโอกาส ความท้าทายใหม่ๆ จนสุดท้ายทรัพยากรขององค์กรถูกบูรณาการจนสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากยิ่งขึ้น

3) Managerial human capital รวมถึงความรู้ ประสบการณ์ ทักษะ และการศึกษาของผู้บริหารระดับสูงและผู้จัดการในระดับอื่นๆ ระดับความรู้และประสบการณ์ที่แตกต่างกันของผู้บริหารจะนำมาสู่การตีความและการตัดสินใจเข้าถึงข้อมูลที่แตกต่างกัน 

ดังนั้น การสร้างทีมงานจึงต้องมีความหลากหลายของผู้ร่วมงาน เพื่อให้เกิดความหลากหลายทางความคิดและทัศนคติ จนนำมาสู่การกลั่นกรองตัดสินใจดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด

กรอบแนวคิดนี้จึงมีส่วนสำคัญที่จะต้องนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอีได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องนำแนวคิดด้านการบริหารงานมาผนวกกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

การศึกษาโดย EY (2019) ที่ศึกษาระดับการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในภูมิภาคอาเซียน ได้นำเสนอการแบ่งกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจออกเป็น 5 กลุ่มตั้งแต่กลุ่มที่ 1) Digital novices ไปจนถึงกลุ่มที่ 5) Digital native 

EY (2019) พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในอาเซียนอยู่ในกลุ่มที่ 2 ที่สามารถเรียกว่าเป็น Digital early adopters ซึ่งเป็นระดับที่มีโครงการริเริ่มเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลในระดับของสายงาน แต่ยังไม่ได้เป็นการเปลี่ยนผ่าน โดยเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การแข่งขันทั้งองค์กร.
คอลัมน์ : อนาคตคนไทย4.0
ผศ.ดร.รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น
อาจารย์ประจำภาควิชาการเงินและการธนาคาร
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย