การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก ที่มีมากกว่า 'เทคโนโลยีดิจิทัล'

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก ที่มีมากกว่า 'เทคโนโลยีดิจิทัล'

เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในแนวโน้มที่กำลังมาเปลี่ยนแปลงโลก แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยที่เป็นแนวโน้มสำคัญของโลก ตั้งแต่ในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ ไปจนถึงภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น

สัปดาห์หน้าผมได้รับเชิญไปบรรยายให้กับผู้บริหารหน่วยงานแห่งหนึ่ง ในเรื่อง Global Mega Trends ผมถามว่าอยากให้บรรยายในด้านใด ผู้เชิญตอบกลับว่า ต้องการให้ผู้บริหารเข้าใจถึงแนวโน้มของเทคโนโลยีดิจิทัลและการเปลี่ยนแปลงที่จะมีผลกระทบต่อองค์กร ผมจึงบอกไปว่า เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในแนวโน้มที่กำลังมาเปลี่ยนแปลงโลก แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยที่เป็นแนวโน้มสำคัญของโลก ตั้งแต่ในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ ไปจนถึงภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น

ซึ่งหากพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลกอาจมีถึง 5 ด้าน คือ

1.การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ทำให้เกิดกระแส การเปลี่ยนแปลงผกผันเชิงดิจิทัล (Digital Disruption) จนทำให้อุตสาหกรรมหลายอย่างต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก

2.การเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ ที่จำนวนประชากรของโลกจะเพิ่มขึ้นอีกมาก แต่ขณะเดียวกันผู้คนจะมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น ทำให้หลายชาติจะเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุ

3.การเปลี่ยนแปลงมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ที่อาจจะเห็นบทบาทผู้นำเศรษฐกิจอย่างสหรัฐอเมริกาหรือแม้แต่กลุ่ม G7 มีอำนาจต่อรองและมีความสำคัญน้อยลง ในขณะที่ประเทศในกลุ่มตะวันออกอย่างจีนหรือกลุ่ม BRIC อาจกลายเป็นผู้ที่มีอิทธิพลในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจของโลกมากขึ้น

4.การเปลี่ยนแปลงของสังคมเมือง ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าผู้คนทั่วโลกจะย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองถึง 60% ในปี 2030 ซึ่งหากเทียบกับในปี 2007 มีเพียงร้อยละ 30 ทำให้คนจะมาแออัดอยู่กันในเมืองมากขึ้น

และ 5.การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากเกินไป ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน จนทั่วโลกต้องมีการกำหนดนโยบายเพื่อทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมหรือผลิตภัณฑ์เป็นศูนย์ (Net Zero)
 

ในบ้านเราปีที่ผ่านมา เริ่มเห็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงผกผันที่ชัดเจน 3 ด้าน คือ ด้านของดิจิทัล (Digital Disruption) ด้านของโควิด-19 (Pandemic Disruption) และ ด้านของกลุ่มอายุ (Generation Disruption) จนทำให้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน เช่น ธุรกิจหลายอย่างไม่สามารถจะดำเนินกิจการต่อได้ในช่วงโควิด ที่อาจมาซ้ำเติมการผกผันทางดิจิทัล ทำให้ไม่สามารถปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามาอย่างรวดเร็วขึ้นได้

ในด้านของ Generation Disruption เราเริ่มเห็นปัญหาระหว่างกลุ่มอายุมากขึ้น ที่คนรุ่นใหม่มีวิธีคิดที่ไม่เหมือนคนรุ่นเก่า มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกัน การรับข้อมูลข่าวสารที่แตกต่างไป หรือรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป จนทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นมาอย่างมากมาย ตั้งแต่เรื่องของการทำงานไปจนถึงเรื่องของสังคมและการเมือง

จากการเปลี่ยนแปลงผกผันเพียงแค่ 3 ด้านข้างต้นที่กล่าวมา แต่ก็ได้สร้างผลกระทบต่อธุรกิจ การทำงาน และสังคมอย่างมากมาย จนบางอุตสาหกรรมไม่สามารถจะอยู่รอดได้ และหากการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลกในด้านอื่นๆ ที่กล่าวมาข้างต้น เริ่มถาโถมเข้ามาอีกก็ไม่แน่ใจว่าจะมีอุตสาหกรรมอีกจำนวนมากเพียงใดที่ต้องล้มหายตายจากไปอีก

ดังนั้น จึงมีความเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารในองค์กรต้องตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลกในด้านอื่นๆ นอกเหนือจากด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การเปลี่ยนแปลงเชิงประชากรศาสตร์ อาจไม่เพียงแต่ทำให้จำนวนผู้สูงอายุมีมากขึ้น แต่อาจมีผลทำให้ความต้องการสินค้าและบริการเปลี่ยนไป จำนวนคนทำงานเปลี่ยนแปลงไป ทักษะของคนทำงานก็ต้องเปลี่ยนตาม หรือแม้แต่การแสวงหาผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ก็อาจต้องมีการหาจากที่อื่นๆ ทั่วโลกมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ อาจมีผลตั้งแต่ห่วงโซ่อุปทานที่เปลี่ยนแปลงไป การนำเข้าหรือส่งออกสินค้าและบริการมที่ต้องให้ความสำคัญกับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจกลุ่มใหม่มากขึ้น หรือแม้แต่ระบบการเงินทั่วโลกที่ความสำคัญของเงินดอลลาร์หสหรัฐอาจลดลง ทั่วโลกหันไปพึ่งพาเงินหยวนมากขึ้น หรือแม้แต่การพึ่งพาเงินดิจิทัล

เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ก็มีผลต่อนโยบายการทำงานขององค์กร ที่จำเป็นจะต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะอาจมีผลกระทบต่อความยอมรับของสังคม ตลอดจนรายได้ขององค์กรในอนาคต

การวางแผนที่เตรียมพร้อมกับการรองรับต่อการการเปลี่ยนแปลงผกผันจึงมีความจำเป็นยิ่งของผู้บริหารในองค์กรต่างๆ ต้องมีการวางแผนการในอนาคตที่ดี ต้องเตรียมบุคลากรให้ดี ต้องสร้างความสามารถในการแข่งขันในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปให้ได้ มิฉะนั้นองค์กรก็จะต้องพบกับคลื่นสินามิที่ถาโถมเข้ามาอีกหลายระลอกนอกเหนือจากคลื่นสินามิดิจิทัล 

ดังนั้นจึงอย่ามองเพียงเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัลเท่านั้น เราควรให้ความสำคัญและตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงในด้านอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย เพราะความผกผันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา