"คอร์รัปชัน" ระบบควบคุมภายในและบริหารความเสี่ยง เพื่อป้องกันทุจริต | พรรณี

"คอร์รัปชัน" ระบบควบคุมภายในและบริหารความเสี่ยง เพื่อป้องกันทุจริต | พรรณี

ปัจจุบันข่าวคราวการต่อต้านคอร์รัปชันเกิดขึ้นทุกแห่งหน ทั้งในระดับสากลและในประเทศไทยเราเอง ภาครัฐก็ได้ออกกฎหมายกฎระเบียบเพื่อให้มีการต่อต้านการคอร์รัปชัน ถึงขั้นกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ชาติ

โดยระบุให้มีการบริหารจัดการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างเป็นระบบแบบบูรณาการ จัดให้มีกลไกการประสานงานการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ทั้งในระดับนโยบาย ยุทธศาสตร์และการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ 

ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยการพัฒนาระบบงานและโครงสร้างองค์กรที่เอื้อต่อการดำเนินงานแบบบูรณาการและมุ่งผลสัมฤทธิ์  

ทั้งนี้ได้มีกฎหมายเฉพาะเรื่องนี้ออกมารองรับเพื่อจะส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน และจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างเข้มงวด  

รวมทั้งกลไกในการส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแส โดยได้รับความคุ้มครองจากรัฐ  กฎหมายดังกล่าวได้แก่  พระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551  

โดยมีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้มาตรการป้องกันการทุจริตในภาครัฐให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งปรับปรุงล่าสุดเป็นฉบับที่ 3 พ.ศ. 2561  ที่กล่าวมาคือส่วนหนึ่งในข้อความที่กำหนดอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ และข้อความที่กล่าวไว้ถึงสาเหตุแห่งการออกกฎหมายเพื่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

            ข้อมูลจากคู่มือแนวทางการประเมินความเสี่ยงการทุจริตสำหรับภาครัฐ และภาคธุรกิจเอกชน  สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) กุมภาพันธ์ 2563  ระบุว่าเป้าหมายแผนแม่บทรองรับยุทธศาสตร์ชาติในประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (พ.ศ. 2561 - 2580) ได้ตั้งเป้าหมายคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ของประเทศไทยในแต่ละห้วงปี ดังนี้

"คอร์รัปชัน" ระบบควบคุมภายในและบริหารความเสี่ยง เพื่อป้องกันทุจริต | พรรณี

การต่อต้านการทุจริต ยังเป็นเป้าหมายหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งระบุในเป้าหมายที่ 16 เป้าประสงค์ที่ 16.5 “ลดการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่และการรับสินบนทุกรูปแบบ”

                ข้อมูลจาก เว็บไซต์  https://www.parliament.go.th/ วิเคราะห์งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 : ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีฯ  ระบุว่า CPI ของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2563 ผลการจัดอันดับพบว่า ประเทศไทยได้คะแนน 36 คะแนนจาก คะแนนเต็ม 100 คะแนน ซึ่งอยู่ในระดับคงที่เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา 

อันดับโลก: อันดับที่ 104 จากทั้งหมด 180 ประเทศ อันดับในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก: อันดับที่ 19 จากทั้งหมด 31 ประเทศ อันดับในภูมิภาคอาเซียน: อันดับที่ 5 จากการจัดอันดับทั้งหมด 10 ประเทศ   จากข้อมูลนี้จะเห็นได้ว่าคะแนนและลำดับที่ได้ยังห่างไกลจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 

"คอร์รัปชัน" ระบบควบคุมภายในและบริหารความเสี่ยง เพื่อป้องกันทุจริต | พรรณี

                 ทั้งๆ ที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา  ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้มีมาตรการสื่อสารให้สาธารณชนได้รับรู้ว่า เห็นด้วยกับการส่งเสริม สนับสนุนการต่อต้านคอร์รัปชันดังกล่าว   มีทั้งการจัดอบรม  การทำสื่อโฆษณา ให้รับรู้ถึงผลร้ายทิ่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบ 

 มีการจัดทำโครงการต่างๆ เพื่อให้เกิดการตระหนักและรับรู้ถึงการต่อต้านคอร์รัปชัน    เสียงบประมาณและค่าใช้จ่ายกันเป็นจำนวนมากมายทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน นอกจากนี้ภาครัฐก็ได้มีการปฏิรูปกฎหมายหลายฉบับ เพื่อให้การดำเนินงานของภาครัฐโปร่งใสมากขึ้น ลดการใช้ดุลพินิจ  

อำนวยความสะดวกโดยไม่ต้องให้เอกชนจ่ายค่าอำนวยความสะดวก   เปิดโอกาสให้สังคมมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังการทุจริตและประพฤติมิชอบ แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็ยังไม่สามารถลดการทุจริตคอร์รัปชันได้เลย    ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น 

                 จากการได้สำรวจในยุทธศาสตร์ แผนงานของหน่วยงานภาครัฐที่เปิดเผยไว้ในเว็บไซต์ขององค์กร พบว่าทุกภาคส่วนล้วนแล้วแต่มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของหน่วยงานตนเอง สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 

รวมถึงมีแผนการปฏิบัติงานเพื่อให้ได้เป้าหมายตามที่แต่ละหน่วยงานจะกำหนดไว้ โดยเฉพาะในด้านการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน มีตัวชี้วัดถึงแผนงานที่ได้จัดทำเพื่อการต่อต้าน  เฝ้าระวังการเกิดทุจริตคอร์รัปชันมากมาย

"คอร์รัปชัน" ระบบควบคุมภายในและบริหารความเสี่ยง เพื่อป้องกันทุจริต | พรรณี

แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนสังเกตได้ว่า  ในแผนงานต่างๆ ไม่ได้มุ่งเน้นตัวชี้วัดเกี่ยวกับความมีประสิทธิผลของระบบการควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยงเพื่อป้องกันทุจริต  ซึ่งเป็นหัวใจของการป้องกันการเกิดทุจริต  

เป็นการป้องกันเพื่อมิให้เกิด มิใช่การต่อต้านกับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว หรือเป็นการสร้างภาพถึงการได้ตระหนักรู้ผ่านการอบรม หรือทำโครงการต่างๆ หรือนำสิ่งที่เกิดขึ้นมาสร้างระบบ ระเบียบเพื่อป้องกันในภายหลัง  

สิ่งที่สำคัญคือ  ควรต้องให้มีการสร้างระบบ ระเบียบการควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยง เพื่อป้องกันทุจริตให้เกิดขึ้นในทุกขั้นตอนการปฎิบัติงานแต่ละเรื่อง   ให้ผู้ปฏิบัติงานเป็นผู้ควบคุมบริหารความเสี่ยงเพื่อป้องกันทุจริตในงานของตนเองให้เป็นกิจวัตรประจำวัน กำหนดตัวชี้วัดที่วัดผลได้ชัดเจน   

ส่วนหน่วยงานที่กำกับดูแล ตรวจสอบ จะเป็นผู้ตรวจประเมินในบั้นปลายเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นไปตามกฎ ระเบียบที่กำหนดไว้  การที่หน่วยงานต่าง ๆ ได้มีการจัดตั้งหน่วยงานกำกับ ควบคุม ตรวจสอบแยกต่างหาก หรือแม้กระทั่งให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง  แม้จะมีมาตรการที่ดูเข้มงวดแต่หาใช่คนปฏิบัติงานไม่   

               สาเหตุแห่งการเกิดทุจริตนอกจากจะมาจากระบบที่ไม่ได้มีการควบคุมภายในและบริหารความเสี่ยงเพื่อป้องกันทุจริตแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือ ตัวผู้ปฏิบัติงาน   ต้องให้ผู้ปฏิบัติงานสำนึกรับผิดชอบในผลสำเร็จของงาน    คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน 

ดังนั้นหากทุกหน่วยงานได้มีการกำหนดตัวชี้วัดเกี่ยวกับความมีประสิทธิภาพ ได้ประสิทธิผลของระบบการควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยงเพื่อป้องกันทุจริตในแต่ละขั้นตอนของการปฏิบัติงานแล้ว   ระบบจะช่วยป้องกันก่อนการเกิดเหตุ  

ผู้เขียนคิดว่าจะสามารถลดการทุจริตคอร์รัปชันของหน่วยงานต่างๆ ได้ไม่มากก็น้อย ดังเช่นภาคเอกชนที่ได้รับความสำเร็จจากการมีระบบดังกล่าวมาแล้วเป็นจำนวนมาก.

             "คอร์รัปชัน" ระบบควบคุมภายในและบริหารความเสี่ยง เพื่อป้องกันทุจริต | พรรณี