ไขความหมายคำ Social Lab | วรากรณ์ สามโกเศศ

ไขความหมายคำ Social Lab | วรากรณ์ สามโกเศศ

Social Lab หรือ กระบวนการห้องปฏิบัติการทางสังคม ดูจะเป็นคำที่ได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ฟังดูเท่แต่ไม่แน่ใจว่าหมายถึงอะไร ยิ่งนานวันเข้ายิ่งมีความหมายกว้างขึ้น ตัวอย่างที่เห็นจริง ๆ เท่านั้นจะทำให้เห็นภาพ

มีคนแปล “Social Lab” ว่าหมายถึง “ศูนย์ปฏิบัติการทางสังคม”  หรือ “กระบวนการห้องปฏิบัติการทางสังคม”    โดยไอเดียมาจากการเห็นว่าทางวิทยาศาสตร์มีห้อง lab (แล็บซึ่งย่อจาก laboratory หรือห้องทดลอง)   เพื่อทดลอง หรือทดสอบ หรือค้นคว้าวิจัย   

เช่น   ผลิตวัคซีนโควิด-19    ทดสอบความแข็งแรงของคอนกรีต     จุดเดือดของสารต่าง ๆ      ค้นหาโซลาเซลล์ที่มีประสิทธิภาพสูง      ฯลฯ   โดยสามารถปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม    เช่น   อุณหภูมิ หรือใช้ทดลองกับสารต่าง ๆ ปรับเปลี่ยนไปได้ตามความต้องการ 

แต่ทางสังคมศาสตร์นั้นไม่อาจทำเช่นนี้ได้  เช่น   ไม่อาจมีห้องทดลองว่าถ้าสงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อแค่ไหนแล้วจะมีผลต่อค่าครองชีพของโลกและบ้านเราเพียงใด หรือจะจูงใจเกษตรกรให้ผลิตข้าวด้วยผลิตภาพ (productivity) สูงอย่างไร   ฯลฯ

ผู้คนเชื่อกันว่าทดลองทางสังคมไม่ได้มาตลอดจนเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน   ก็เกิดไอเดียว่าเมื่อเราดึงสังคมมาเข้าห้องแล็บไม่ได้    ทำไมเราถึงไม่ทำสังคมให้เป็นห้องแล็บเสียเลย ดังนั้นจึงเกิดแนวคิด “Social Lab“ ขึ้นมา

แต่แน่นอนว่าไม่อาจเหมือนแล็บทางวิทยาศาสตร์ที่หาคำตอบได้จากการทดลองในห้อง  ส่วน “Social Lab“ นั้นเป็นการทดลองโดยธรรมชาติอยู่แล้วอย่างนอกห้องแล็บเพื่อให้เข้าใจโลกข้างนอกได้ดียิ่งขึ้น

“Social Lab” ในความหมายหนึ่งคือการให้มี “พื้นที่” ที่ผู้คนสามารถมาพบกัน     สร้างการรับรู้และเรียนรู้ร่วมกัน    แลกเปลี่ยนความคิดและความต้องการกันเพื่อหาข้อตกลงหรือความร่วมมือเพื่อใช้เป็นประโยชน์แก่ทุกคนผ่านการมีโครงการ  มีการปฏิบัติการหรือมีข้อสัญญา  

มันเป็นวิธีการอย่างหนึ่งในการแก้ไขปัญหา     การสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบโดยทั้งหมดสามารถเป็นเรื่องของสังคม    การบริหารงานภาครัฐ หรือธุรกิจก็ได้ตราบใดที่เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือกัน

สำหรับความหมายที่กว้างออกไป “Social Lab” คือ แหล่งศึกษาเรียนรู้     แหล่งให้บริการทางวิชาการแก่ชุมชน หรือเป็น พื้นที่ศึกษาวิจัย     ประเด็นสำคัญคือเป็นแหล่งค้นคว้าทดลองในโครงการต่าง ๆ เพื่อให้ได้ความจริง และนำไปใช้ในการขยายงาน   ไม่ว่าในภาครัฐหรือเอกชนก็ตาม 

ตัวอย่างแรก  คือ  โครงการพระราชดำริ และจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ในภาคต่าง ๆ เพื่อให้เป็นแหล่งสาธิตในการสร้างอาชีพของประชาชน   เป็นแหล่งเรียนรู้จัดการดิน  น้ำ  ป่า เช่นศูนย์พัฒนาห้วยทราย  เพชรบุรี ศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้  เชียงใหม่  ศูนย์พิกุลทอง  นราธิวาส    ฯลฯ    

ไขความหมายคำ Social Lab | วรากรณ์ สามโกเศศ

ความรู้ได้มาจาก “Social Lab” ซึ่งมาจากการทดลองทำจริงภายใต้โครงการพระราชดำริต่าง ๆ   เช่น  ปลานิลนั้น ก่อนที่จะกระจายเลี้ยงไปทั้งประเทศจนเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญในปัจจุบันมาจากการทดลองเลี้ยงในแปลงทดลอง  พระราชวังดุสิตหรือ “Social Lab”   ดังนั้นบ้านเราโดยแท้จริงแล้วมี “Social Lab”  มาก่อนฝรั่งหลายสิบปีด้วยซ้ำด้วยพระปรีชาญาณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเรา

ตัวอย่างที่สอง    ธนาคารแห่งประเทศไทย   กรมการข้าว     ธกส.    และสองบริษัทเอกชนได้สร้าง “Social Lab” ขึ้นร่วมกันในช่วงครึ่งหลังของปี 2564   เพื่อหาทางเพิ่มผลิตภาพในการผลิตข้าวในบ้านเราที่อยู่ในระดับต่ำมานาน

โดยพยายามศึกษาว่าอะไรเป็นแรงจูงใจสำคัญสำหรับเกษตรกร ในการเพิ่มผลิตภาพ    มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการปลูกข้าวจริงทั้งสิ้น 200 คน ในพื้นที่จังหวัดชัยนาท  ขอนแก่น   ร้อยเอ็ด และพิจิตร  โครงการอำนวยความสะดวกให้ในด้านต่าง ๆ 

ไม่ว่าจะเป็นความรู้สมัยใหม่ด้านการเกษตร  เครดิต  ปุ๋ย   ดิจิทัลแพลตฟอร์มสมัยใหม่ในด้านพยากรณ์อากาศและการตลาด    ฯลฯ    เกษตรกรมีอิสระในการตัดสินใจใช้สิ่งต่าง ๆ ที่จัดหาให้เพื่อนำไปใช้ในการปลูก  โครงการมีการกำหนดกฎกติกาในการทดลองนี้เพื่อนำผลผลิตข้าวที่ได้มาเปรียบเทียบกัน

ข้อสรุปจาก “Social Lab” ทำให้เข้าใจพฤติกรรมของเกษตรกรในระดับอายุต่าง ๆ ในพื้นที่    ต่าง ๆ ดีขึ้นตลอดจนเข้าใจแรงจูงใจ     สิ่งค้นพบที่น่าสนใจก็คือความสัมพันธ์ในชุมชนเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนกระบวนการเพาะปลูกและใช้ประโยชน์จากดิจิทัล

การทดลองแนว “Social Lab” เช่นนี้ให้ข้อมูลขนาดใหญ่ที่สามารถนำไปวิเคราะห์ เพื่อกำหนดนโยบายที่มีประสิทธิภาพในการเพิ่มผลิตภาพและเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของเกษตรกรปลูกข้าวได้เป็นอย่างดี

ตัวอย่างที่สาม     ไอเดีย sandbox คือ  การทดลองในบางเรื่อง หรือในบางพื้นที่ก่อนว่ามีปัญหามากน้อยและเป็นประโยชน์เพียงใด  แท้จริงแล้วคือ “Social Lab” อย่างหนึ่ง     ภูเก็ต sandbox ถือได้ว่าประสบความสำเร็จ กล่าวคือในตอนโควิดระบาดหนักมีการยอมให้เกาะภูเก็ต เป็นสถานที่อนุญาตให้คนต่างชาติเดินทางเข้าประเทศผ่านการเก็บตัวและตรวจโรค และปรับเปลี่ยนเงื่อนไขไปต่าง ๆ 

ไขความหมายคำ Social Lab | วรากรณ์ สามโกเศศ

โดยสังเกตผลที่เกิดขึ้นเป็นระยะเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการเข้าใจธรรมชาติของการระบาดในประเทศไทย นอกจากจะได้นักท่องเที่ยวแล้วยังได้ข้อมูลและความรู้ในเรื่องการติดเชื้อจากสังคมอื่นอีกด้วย

ตัวอย่างที่สี่     การมีเขตพิเศษนวตกรรมการศึกษาก็คือการสร้าง “Social Lab” ด้านการศึกษา   การเปิดช่องให้บางจังหวัด และบางโรงเรียนตามความสมัครใจเข้าร่วมโครงการ (8 จังหวัด 467 โรงเรียน) โดยสามารถใช้วิธีการเรียนการสอนที่เป็นนวตกรรม    การใช้หนังสือเรียน    การจัดสัดส่วนเวลาเรียน     การวัดผลประเมิน     ฯลฯ    ที่ต่างออกไปจากโรงเรียนปกติ    

เรื่องสำคัญที่จะเห็นผลในเวลาอีกไม่นานคือการนำร่องใช้หลักสูตรสมรรถนะแทนหลักสูตรเน้นเนื้อหาที่ใช้กันมายาวนาน      หลักสูตรสมรรถนะเน้นการนำไปใช้ (ผนวกความรู้  ทักษะ และทัศนคติ เข้าด้วยกัน)    ส่วนหลักสูตรปัจจุบันเน้นความรู้     โลกปัจจุบันต้องการคน “ทำ” ได้    ไม่ใช่แค่ “รู้”   

เพื่อนบ้านเราและทั้งโลกเปลี่ยนไปใช้หลักสูตรสมรรถนะกันแล้ว  ปัจจุบัน เราเรียนภาษาอังกฤษกันแบบเน้นความรู้    เราเรียนไวยากรณ์ สะกดคำ คำศัพท์อย่างแม่นยำ   แต่เรียน 12 ปีแล้วพูดอังกฤษและเอาไปใช้งานไม่ได้   นี่คือข้อแตกต่างระหว่างสองหลักสูตร

ข้อมูลที่ได้จากโรงเรียนในเขตพิเศษนวตกรรมจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการประเมิน ปรับ    แก้ไขเพิ่มเติมและขยายผลในเรื่องที่เหมาะสม    ถ้าเราต้องการทำเรื่องใหม่บางเรื่องโดยไม่มี “Social Lab”       ก็เหมือนกับขับเครื่องบินอย่างตาบอดบินขึ้นไปในท้องฟ้า โดยไม่รู้ว่าจะพบสภาวะอากาศอย่างใดบ้าง

หากหันมามองรอบตัวเราแล้วจะพบ Social Lab อยู่ทุกแห่งหน เช่น ชีวิตแต่งงาน หรือการอบรมเลี้ยงดูลูกในครอบครัวก็ตาม   พ่อแม่ล้วนเพิ่งมีลูกกันเป็นครั้งแรก การจะเลี้ยงดูอบรมอย่างไรแท้จริงแล้วเป็นการค้นคว้า   วิจัย  หาความรู้อย่างไม่รู้ตัวไประหว่างทางทั้งนั้น  

เช่น   จะมีวิธีพูดหรือชักจูงให้กินอาหารที่มีประโยชน์กับลูกคนนี้อย่างไร    จะใช้ค่านิยมแบบไหนที่จะให้ลูกมีคุณลักษณะตามที่ต้องการ    พ่อแม่ต้อง      ลองผิดลองถูกด้วยกันทั้งนั้นในแล็บที่สำคัญยิ่งนี้

การมองว่าโลกคือ “Social Lab” ที่มีการทดลองและได้ข้อสรุปใหม่ออกมาเสมอ จะทำให้เรายอมรับการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง และตระหนักว่าไม่มีความรู้ใดที่คงที่และตายตัว  ความรู้อันเกิดจาก “Social Lab” ที่มีอยู่ทุกแห่งหนนั้นเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา จนเป็นเรื่องปกติที่เราต้องเรียนรู้และปรับตัวอยู่เสมอ.