มอง "สารขัณฑ์" ผ่านยูเครนกับเลนส์อำนาจ | ไสว บุญมา

มอง "สารขัณฑ์" ผ่านยูเครนกับเลนส์อำนาจ | ไสว บุญมา

คงทราบทั่วกันแล้วว่า สารขัณฑ์เป็นประเทศสมมติในนวนิยายเรื่อง The Ugly American ซึ่งพิมพ์เมื่อปี 2501 หนังสือขายดี อีก 5 ปีจึงถูกนำมาทำเป็นภาพยนตร์ซึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมท รับบทเป็นนายกรัฐมนตรีของสารขัณฑ์ และเมื่อเข้ามาฉายในเมืองไทยได้รับชื่อว่า “อเมริกันอันตราย”

"สารขัณฑ์" อยู่ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นที่หมายปองของมหาอำนาจผู้กำลังช่วงชิงความเป็นใหญ่ ด้วยการใช้กระบวนการที่ถูกขนานนามว่าสงครามเย็น  ในโลกของความเป็นจริง สารขัณฑ์จะอยู่ที่ไหนก็ได้หากมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติต่อมหาอำนาจเหล่านั้น  

ต่อมา คำว่า “สารขัณฑ์" มักถูกใช้ไปในทางดูแคลนว่าด้อยพัฒนา หรือล้าหลังสูง  เป้าหมายของหนังสือคือการสื่อถึงผู้นำของสหรัฐซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายประชาธิปไตยในสงครามเย็นว่า

ถ้ายังส่งชาวอเมริกันที่ไม่ใส่ใจในวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือหยิ่งยโสเข้าไปในประเทศกำลังพัฒนา ฝ่ายประชาธิปไตยจะพ่ายแพ้แก่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งแสดงความเคารพต่อขนบธรรมเนียมท้องถิ่นมากกว่า

 ปรากฏว่ารัฐบาลอเมริกันรับฟัง  ตัวอย่างของการรับฟังได้แก่ โครงการอาสาสมัครชื่อ Peace Corp ซึ่งจอห์น เอฟ. เคนเนดี สั่งให้ตั้งขึ้นทันทีหลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อต้นปี 2504  

    หนังสือเล่มนั้นพิมพ์ออกมากว่า 50 ปีก่อนที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์จะแพ้สงครามเย็นส่งผลให้สหภาพโซเวียตแตกสลายกลายเป็น 14 ประเทศรวมทั้งรัสเซียและยูเครน  รัสเซียเป็นประเทศเดียวที่รับอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครองส่งผลให้ได้เป็นมหาอำนาจมาถึงปัจจุบัน  

แนวคิดในหนังสือจะมีบทบาทอย่างไรในการพ่ายแพ้ของฝ่ายคอมมิวนิสต์มิอาจวัดได้  อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาราว 10 ปีก่อนที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์จะพ่ายแพ้

นักวิชาการด้านการเมืองระหว่างประเทศชื่อ “โจเซฟ ไน” ได้เสนอแนวคิดเพิ่มขึ้นชื่อ “อำนาจนุ่มนวล” (soft power) เพื่อใช้เป็นทางเลือกในการต่อสู้ด้านแนวคิด หรืออุดมการณ์บนเวทีโลก  เขาพัฒนาแนวคิดต่อมาเป็นหนังสือชื่อ Soft Power: The Means to Success in World Politics ซึ่งพิมพ์เมื่อปี 2547

 

อำนาจนุ่มนวลเกิดจากการใช้จุดเด่นจำพวกวัฒนธรรมและอุดมการณ์ทางการเมืองจูงใจให้ประเทศอื่นสมัครใจเข้าเป็นฝ่ายตน  อำนาจนี้อยู่ขั้วตรงข้ามกับ “อำนาจแข็งกร้าว” (hard power) ซึ่งใช้พลังทางทหารเป็นหลัก  

การแพ้สงครามในเวียดนามของสหรัฐ จะมีบทบาทในการเกิดแนวคิดใหม่อย่างไร ไม่เป็นที่ประจักษ์  แต่ในกรณีของหลายประเทศ ที่เกิดจากการแตกสลายของสหภาพโซเวียตรวมทั้งยูเครน เป็นที่ประจักษ์ว่า พวกเขาเข้าร่วมกับฝ่ายประชาธิปไตยโดยความสมัครใจมากกว่าถูกบังคับด้วยอำนาจแข็งกร้าว 

มอง \"สารขัณฑ์\" ผ่านยูเครนกับเลนส์อำนาจ | ไสว บุญมา

เหตุการณ์ในยูเครนในปัจจุบัน จึงมองได้ว่าเป็นการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยที่ใช้อำนาจนุ่มนวลกับฝ่ายที่ใช้อำนาจแข็งกร้าว ซึ่งปกครองภายในแบบรวมศูนย์อำนาจของระบบเผด็จการ  ไม่ว่าจะใช้อะไร เป้าหมายของมหาอำนาจไม่ต่างกัน นั่นคือ เข้าครอบครองทรัพยากรธรรมชาติและตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ของประเทศต่าง ๆ  

ในบางกรณี การครอบครองนี้อาจมีเป้าหมายต่อไปถึงขั้นการยึดครองของผู้ล่าอาณานิคมโดยเฉพาะในประเทศที่มีความเป็นสารขัณฑ์สูง

เหตุการณ์ในยูเครนจะจบอย่างไรยากแก่การคาดเดา  หากไม่จบด้วยสงครามโลกครั้งที่ 3 ซึ่งจะทำให้มนุษยชาติสูญหายไปจากโลกใบนี้ โลกจะยังมีการช่วงชิงกันเป็นใหญ่ในกลุ่มมหาอำนาจเพื่อเข้าครอบครองแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและตำแหน่งสำคัญทางยุทธศาสตร์แก่พวกเขาต่อไป  

ในการช่วงชิงนี้ จะมีการใช้อำนาจแข็งกร้าวและอำนาจนุ่มนวลในสัดส่วนอย่างไรคงคาดเดาไม่ได้ล่วงหน้า  อย่างไรก็ดี มหาอำนาจที่เข้าใจในข้อบกพร่องของอำนาจแข็งกร้าวได้ดำเนินงานตามแผนการระยะยาวเพื่อเข้าครอบครองเป้าหมายด้วยการใช้อำนาจนุ่มนวลเป็นหลักมานานแล้ว  

เนื่องจากประเทศเป้าหมายมีความเป็นสารขัณฑ์ หรือก้าวหน้าและล้าหลังต่างกัน ส่วนประกอบในแผนการของมหาอำนาจสำหรับประเทศเหล่านั้นจึงแตกต่างกันด้วย  บางอย่างอาจไม่เป็นที่ประจักษ์แก่สายตา หรือประชาชนของประเทศเป้าหมายอาจคาดไม่ถึง เช่น เปิดตลาดกว้างให้แก่สินค้าและใช้เงินทุนเป็นเหยื่อล่อ สนับสนุนผู้นำจำพวกฉ้อฉล และเชิดชูบุคคลที่ประชาชนเคารพบูชา  

ส่วนประกอบเหล่านี้อาจมีผลสูงถึงกับทำให้ประเทศเป้าหมายกลายเป็นอาณานิคม  อาจคาดได้ว่า ยิ่งเป็นสารขัณฑ์ที่มีผู้นำจำพวกฉ้อฉล ประกอบกับประชาชนจำพวกมักง่ายและดูดายสูงขึ้นเท่าไร โอกาสที่จะเป็นอาณานิคมของมหาอำนาจยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น.