เงินเฟ้อ เศรษฐกิจฟุบ ยุบสภาดีไหม | สมหมาย ภาษี

เงินเฟ้อ เศรษฐกิจฟุบ ยุบสภาดีไหม | สมหมาย ภาษี

ผมพูดไว้ในหัวข้อเรื่อง “ประเทศที่เคราะห์ซํ้ากรรมซัดมายาวนาน” เมื่อประมาณกลาง มี.ค. สรุปได้ว่า เหตุจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนได้ส่งผลโดยตรงทันที ทำให้ราคานํ้ามันที่เป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกพุ่งสูงขึ้นร่วมเท่าตัว

ส่งผลให้ภาวะเงินเฟ้อที่ก่อตัวมาก่อนได้ขยายตัวเพิ่มอย่างรวดเร็ว และอัตราดอกเบี้ยก็จะถูกปรับให้เป็นดอกเบี้ยขาขึ้นด้วย จึงมองไม่ออกว่าประเทศไทยที่มีเศรษฐกิจเปราะบางและยังป่วยไข้อยู่จะทนต่อแรงกระทบของสิ่งเลวร้ายเหล่านี้ได้อย่างไร

มาถึงตอนนี้ภาวะเงินเฟ้อในประเทศปรากฏตัวให้เห็นชัดเจนขึ้นแล้ว โดยหน่วยงานทางวิชาการต่างๆ พยากรณ์ค่อนข้างมั่นใจว่า ปีนี้เราต้องเจอภาวะเงินเฟ้อหนักแน่ และอย่างที่เห็นภายในเวลาไม่ถึง 2 เดือน ราคาสินค้าต่างๆ ได้ปรับตัวสูงขึ้นแทบหมดแล้ว

ขณะที่ธนาคารกลางหรือเฟดที่นำโดยนาย Jerome Powell ก็บอกว่าเงินเฟ้อสหรัฐปีนี้จะเพิ่มขึ้นในอัตรา 6-7% จึงได้ตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยทางการของเงินสกุลดอลลาร์ 0.25% หลังจากไม่ได้แตะมานานหลายปี แถมยังเปิดไต๋ว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้จะทำการปรับอีกอย่างต่อเนื่องในลักษณะดอกเบี้ยขาขึ้น รวมแล้วปีนี้เฟดน่าจะปรับขึ้นไม่ตํ่ากว่า 1.5% เพื่อให้รับกับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งตัวขึ้นเร็ว

ตามปกติธนาคารกลางของประเทศทุนนิยมทั้งหลาย จะไม่ดูดายต่อการลดค่าของเงินของประเทศตน เขาต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยแน่แล้ว ประเทศไทยเราก็ต้องยึดถือแนวคิดนี้เหมือนกัน ยิ่งเพิ่มช้าไปเงินทุนสํารองระหว่างประเทศ (International Reserves) ที่มีอยู่มากจนติดอันดับต้นๆ ของโลกก็จะร่อยหรอลงให้เห็นทันตา

ไม่ว่าจะเป็นเงินที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น เงินที่เข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้และเงินที่เข้ามาทุนอื่นๆ ทุกรูปแบบ ต่างก็จะพร้อมใจกันทยอยไหลออก ค่าเงินบาทก็จะอ่อนลงโดยอัตโนมัติและจะมีผลกระทบทำให้สินค้านำเข้าของไทยมีราคาสูงขึ้นอย่างแน่นอน

แม้ไม่เกิดสงครามใหญ่แบบสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็มีการคาดการณ์กันมาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว ว่าเงินเฟ้อจะเกิดและอัตราดอกเบี้ยของโลกจะต้องถูกปรับให้สูงขึ้น แต่เมื่อเกิดสงครามใหญ่อย่างที่เห็น และก่อผลให้ประเทศค่ายนาโตที่มีสหรัฐเป็นหัวโจกเข้าไปแทรกแซงด้วย

การชักชวนประเทศพันธมิตรทำการควํ่าบาตรรัสเซียอย่างหนัก ทำให้ประธานาธิบดีรัสเซียต้องงัดมาตรการมาต่อสู้ทำนองเดียวกัน จนทำให้ราคานํ้ามันของโลกยิ่งปรับตัวสูงขึ้นไปอีก และราคาสินค้าหลักต่างก็พากันปรับตัวสูงตาม 

พูดได้เลยว่าแรงกดดันและผลกระทบจากการปรับตัวสูงขึ้นของนํ้ามันรวมทั้งก๊าซและสินค้า ที่เป็นปัจจัยหลักต่างๆ ครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก แล้วประเทศอย่างไทยจะสะเทือนแค่ไหน

ทีนี้มาดูเรื่องผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย หลังจากเศรษฐกิจได้ส่อเค้าดีขึ้นมาบ้างตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว กล่าวคือการท่องเที่ยวเพิ่งจะเริ่มลืมตาอ้าปากและเคลื่อนไหวได้บ้าง การบริโภคของประชาชนเริ่มขยายตัว และการส่งออกดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา จนทำให้ผู้รับผิดชอบดูแลบ้านเมืองเริ่มออกมาคุยโวกันหลายท่าน

สภาพัฒน์ ซึ่งเป็นหน่วยงานวางแผนระดับชาติก็ได้เผยแพร่ประมาณการแบบลวกๆ เพื่ออวยรัฐบาล ที่ทำให้คนไทยใจชื้น โดยชี้ว่าปีนี้เศรษฐกิจโตได้ถึง 3.5-4.5% ท่านรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจก็ออกมาแถลงถึงความมั่นอกมั่นใจเมื่อวันที่ 23 ก.พ. ว่าปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจของไทยเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดี 

โดยเฉพาะการขยายตัวของการส่งออกเพิ่มขึ้นมากถึงกว่า 15% บวกกับการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐ ก็เชื่อได้ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ต้องไปได้ดีดังที่สภาพัฒน์คาดการณ์ไว้ แต่ดูตามสภาพการณ์แล้วถ้าจีดีพีโตได้ 2% ก็ควรปลื้มได้แล้ว

แต่อีกหนึ่งวันต่อมาคือ วันอังคารที่ 24 ก.พ. กองทัพรัสเซียก็ได้เคลื่อนกําลังทหารบุกประเทศยูเครน ซึ่งนับว่าเป็นวันแรกของการทำสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน และแม้สงครามยังจํากัดอยู่เฉพาะประเทศยูเครน แต่สงครามทางเศรษฐกิจและการเงินของสองค่ายยักษ์ก็ได้ระเบิดขึ้น หลังจากมาตรการควํ่าบาตรต่อรัสเซียที่ประกาศใช้โดยสหรัฐและพันธมิตร 

ส่วนรัสเซียก็นำมาตรการมาตอบโต้ ซึ่งก่อผลกระทบต่อการดําเนินการทางเศรษฐกิจของประเทศทั่วโลก ทั้งในด้านการผลิต การบริโภค การค้าขาย การลงทุน และธุรกิจการเงิน

ตอนนี้เริ่มมองเห็นภาพของการเปลี่ยนแปลงด้านการค้าระหว่างประเทศกันแล้ว มีการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนครั้งนี้จะส่งผลให้การค้าโลกหดตัวไปถึงครึ่งเท่าตัว และยิ่งไปกว่านั้น กระบวนการค้าระหว่างประเทศก็จะเปลี่ยนแนวจากการค้าเปิดแบบเสรีที่เคยรุ่งเรืองมากที่องค์การการค้าโลก (WTO) ได้ยึดถือมานาน มาเป็นการค้าแบบกีดกัน เพื่อผลประโยชน์ของประเทศตนเท่านั้น 

ต่อจากนี้ไปการค้าของโลกไม่ใช่จะหดตัวเท่านั้น แต่จะเปลี่ยนแปลงไปอีกมากอย่างแน่นอน ยุทธการแบบปลาใหญ่กินปลาเล็กในโลกนี้ก็จะมีให้เห็นชัดเจนขึ้น

ผลกระทบต่อประเทศไทยซึ่งยังเป็นประเทศที่ยังไม่สร่างไข้นั้นมีแน่ แต่ผู้บริหารที่อาสามาดูแลบ้านเมืองและประชาชนคนไทยนั้น นอกเหนือจากการมุ่งเตรียมการที่จะครองอํานาจกันต่อไป ขณะนี้ท่านได้ทำอะไรให้ชาวบ้านสรรเสริญกันบ้าง แม้ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเกี่ยวกับการรับมือกับสถานการณ์ที่เลวร้ายให้เห็น อย่างน้อยก็ควรต้องคิดปรับยุทธศาสตร์ระยะสั้นและกลาง เพื่อรับมือกับปัญหาให้ได้แล้วก็ควรลืมยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีไปให้ได้ด้วย

ผมว่าสิ่งที่เด็กมหาวิทยาลัยที่เพิ่งมีสิทธิเลือกตั้งในเร็วๆ นี้ก็คิดออก ก็คือการปรับเปลี่ยนนโยบายและแนวทางการดําเนินงานในองคาพยพของกระทรวงที่เกี่ยวข้องให้รับกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไปให้ได้ก่อน โดยเฉพาะกระทรวงที่เป็นด่านแรก อันได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และอาจรวมถึงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. 

กระทรวงเหล่านี้จะต้องถูกวางแนวการทำงานใหม่ จะต้องได้รับงบประมาณเพิ่มเป็นของตัวเองที่เพียงพอ หากเงินรายได้ของรัฐไม่พอก็ต้องไปตัดทอนงบประมาณของกระทรวงที่ไม่จําเป็นออก เพื่อนำไปโปะให้กระทรวงที่ต้องถูกปรับตัวให้กระฉับกระเฉงขึ้น เป็นต้น 

สรุปแล้วงบประมาณประจําปี 2566 ที่มีแผนจะเสนอเข้าพิจารณาในสภานิติบัญญัติเร็วๆ นี้ จําเป็นจะต้องถูกรื้อใหม่ และจะต้องยืดเวลาใช้ไปอีกอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อให้เป็นงบประมาณที่รับกับสถานการณ์โลกที่กําลังเปลี่ยนแปลงเป็นเลวร้ายอย่างรวดเร็วที่เห็นๆ กันอยู่

อย่างไรก็ตาม คนไทยส่วนใหญ่คงมองออกว่าตอนนี้รัฐบาลคงอ่อนล้าและมึนงง การคิดจะกระตุ้นเศรษฐกิจตรงไหน อย่างไรและหาเงินจากไหนมาใช้ ดูจะขยับตัวหามาตรการกันฝืดเต็มทีแล้วครับ ก็ใคร่ขอเสนอให้ท่านผู้รับผิดชอบต่อบ้านเมือง รีบยุบสภาในโอกาสแรกซะจะดีไหมครับ อย่างน้อยก็จะได้เห็นเงินทองสะพัดในระบบเศรษฐกิจตามวิถีของการเมืองไทย ซึ่งจะทำให้ประชาชนพอมีกะจิตกะใจดับทุกข์ได้บ้างก็ยังดี.