ภาวะ Inverted Yield Curve ในสหรัฐฯ และนัยต่อทิศทางดอกเบี้ยไทย

ภาวะ Inverted Yield Curve ในสหรัฐฯ และนัยต่อทิศทางดอกเบี้ยไทย

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของตลาดการเงินโลกที่แสดงให้เห็นถึง การเริ่มต้นของการดำเนินนโยบายทางการเงินที่ตึงตัวขึ้น การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 4 ปี

ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงจากสถานการณ์ความไม่สงบในยูเครน ส่งผลทำให้ปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐฯ มีแนวโน้มทวีความรุนแรงต่อเนื่องในอนาคต ซึ่งอาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ จำเป็นต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วอีกหลายครั้งในปีนี้ 

ตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คาดหวังในระดับสูง เมื่อตลาดมีความคาดหวังเพิ่มมากขึ้น การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในตลาดพันธบัตร สหรัฐฯ จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในเดือนที่ผ่านมา จนก่อให้เกิดภาวะ Inverted Yield Curve ซึ่งเป็นภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ระยะสั้น ที่อาจบ่งบอกถึงการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในอนาคต

โดยทั่วไปแล้ว เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะมีความชันเป็นบวก นั่นคือ ยิ่งพันธบัตรมีระยะเวลายาวนานขึ้น ผลตอบแทนที่จะได้รับจากพันธบัตรนั้นจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน เพื่อให้เกิดความสมเหตุสมผลในการถือครองพันธบัตรตามช่วงระยะเวลา

อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน รูปร่างเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ  มีความแตกต่างออกไป โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นช่วงระยะเวลาต่ำกว่า 2 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จนทำให้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรมีความชันสูงมาก

 

ในทางตรงกันข้ามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวในช่วงระยะเวลา 2 – 10 ปี กลับมีอัตราผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกันมาก ส่งผลให้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวมีรูปร่างแบนราบในแนวนอน

ลักษณะเส้นกราฟอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเช่นนี้ ก่อให้เกิดภาวะที่เรียกว่า Inverted Yield Curve ซึ่งรูปแบบเช่นนี้ บ่งบอกถึงความคาดหวังของตลาด ต่อการปรับตัวของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต ขณะเดียวกัน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวที่มีรูปร่างแบนราบก็บ่งบอกถึงความกังวลที่ตลาดมีต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ย

หากมีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อเศรษฐกิจ จนทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจจำเป็นต้องมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในท้ายที่สุด  ซึ่งภาวะ Inverted Yield Curve ถือเป็นเครื่องมือในการบ่งบอกโอกาสการเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ (Recession) ในอนาคตได้อย่างแม่นยำ

โดยทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ Inverted Yield Curve ขึ้น เศรษฐกิจสหรัฐฯ มักจะเกิดภาวะถดถอยตามมาในระยะเวลา 1.5 – 2 ปี ตามมา โดยประเด็น Inverted Yield Curve กลับมาเป็นที่สนใจของนักลงทุนอีกครั้งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ กลับมา Inverted อีกครั้ง สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี และ 10 ปี ถือเป็นการ Inverted ครั้งแรกในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2562                                             

สำหรับประเทศไทย ภาวะ Inverted Yield Curve ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องด้วยปัจจัยเฉพาะตัวของประเทศไทย ที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยระยะสั้นมีทิศทางสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศ ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของไทย มีทิศทางเคลื่อนไหวตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ 

เมื่อพิจารณาสถานการณ์ในปัจจุบัน พบว่าภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ แม้จะมีการเติบโตที่ดีเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่แนวโน้มการเติบโตอาจไม่แข็งแกร่งดังที่มีการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า อันเป็นผลมาจากความเสี่ยงจากสถานการณ์สงครามในยูเครนต่อภาคการส่งออก

และปัญหาอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนในประเทศ ดังนั้น ในช่วงระยะที่ผ่านมา พบว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นของไทยช่วงที่ต่ำกว่าอายุ 1 ปี ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ แสดงให้เห็นถึงการคาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม

ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของไทยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ปรับตัวเหนือระดับ 2.5 % เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งผลกระทบต่อเนื่องของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยที่เพิ่มขึ้น

จะส่งผลให้ภาคธุรกิจที่ระดมทุนผ่านทางตลาดตราสารหนี้ มีต้นทุนในการระดมทุนเพิ่มมากขึ้น ส่วนประชาชนที่มีการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ อาจได้รับผลตอบแทนที่ลดลงจากราคาของพันธบัตรที่ลดลงในตลาดตราสารหนี้ด้วยเช่นกัน 

ดังนั้น ในปัจจุบันเส้นกราฟอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของไทยจึงมีลักษณะที่แตกต่างจากอัตราผลตอบแทนของสหรัฐฯ โดยสิ้นเชิง การเกิด Inverted Yield Curve ขี้นจึงไม่ได้ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจไทยโดยตรง

แต่ก็แสดงให้ถึงความเสี่ยงในอนาคต ที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่รวดเร็วในปีนี้ อาจส่งผลกระทบต่อตลาดการจ้างงานในสหรัฐฯ และส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลง และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้