เมื่อ 'บริษัทเทคโนโลยีดิจิทัล' กดดัน 'รัสเซีย' ให้รีบยุติสงคราม

เมื่อ 'บริษัทเทคโนโลยีดิจิทัล' กดดัน 'รัสเซีย' ให้รีบยุติสงคราม

ทันทีที่รัสเซียได้ส่งกองกำลังทหารบุกเข้าในประเทศยูเครน หลายประเทศก็ออกมาตรการต่างๆ เพื่อคว่ำบาตรรัสเซียทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี

ทันทีที่รัสเซียได้ส่งกองกำลังทหารบุกเข้าในประเทศยูเครน หลายประเทศก็ออกมาตรการต่างๆ เพื่อคว่ำบาตรรัสเซียทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี

หนึ่งในมาตรการคว่ำบาตรที่น่าสนใจคือ การที่บริษัทเทคโนโลยีในประเทศตะวันตกหลายรายประกาศหยุดหรือลดการให้บริการในรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์, ยูทูบ, แอ๊ปเปิ้ล, ออราเคิล และอินเทล
 

หากพิจารณาผิวเผินน่าจะมีผลกระทบด้านการใช้อินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย การติดต่อสื่อสารเป็นอย่างมาก แต่หากวิเคราะห์ลึกลงไปจะพบว่า อาจมีผลไปถึงการทำธุรกิจของบริษัทในรัสเซียจำนวนมาก กระทบต่อโรงงานการผลิตต่างๆ รวมถึงอุตสาหกรรมพลังงาน ธุรกิจโทรคมนาคม ตลอดจนด้านการทหารที่จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากประเทศกลุ่มตะวันตก

ข้อมูลจาก DataReportal ระบุว่า รัสเซียมีประชากร 146 ล้านคน มีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตถึง 89% แม้เว็บไซต์ยอดนิยมอันดับต้นๆ ส่วนใหญ่จะเป็นของบริษัทในรัสเซีย แต่ชาวรัสเซียก็ยังนิยมเข้าใช้เว็บไซต์ค่ายตะวันตกทั้ง Google และ YouTube สูงเป็นอันดับสองและสามตามลำดับ
 

รัสเซียแตกต่างจากจีนที่ทำการบล็อกการเข้าถึงโซเชียลมีเดียหรือเว็บไซต์ของบริษัทค่ายตะวันตกมานานหลายปี ดังนั้นเมื่อมีการบล็อกก็จะมีผลกระทบกับการใช้อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียของชาวรัสเซียพอสมควร

มาตรการคว่ำบาตรของแพลตฟอร์มต่างๆ เหล่านี้มีผลกระทบในแง่สงครามข่าวสารทั้งสองด้าน ทำให้รัฐบาลรัสเซียไม่สามารถเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ผ่านสื่อออนไลน์ อีกทางหนึ่งรัฐบาลรัสเซียก็ออกมาตรการมาบล็อกเว็บอย่าง Facebook และ Instagram เพื่อปิดกันข้อมูลข่าวสารจากฝั่งตะวันตกไม่ให้เข้าถึงประชาชน ทำให้ชาวรัสเซียจำนวนหนึ่งต้องพยายามหาช่องทางเข้าถึงแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ถูกบล็อกผ่านเทคโนโลยี VPN

สิ่งที่น่าสนใจนอกเหนือจากการคว่ำบาตรของแพลตฟอร์มต่างๆ คือ การที่ยักษ์เทคโนโลยีอย่างไมโครซอฟท์, ออราเคิล, เอสเอพี, อินเทล, เอเอ็มดี ประกาศหยุดการส่งสินค้าใหม่และการให้บริการต่อบริษัทของรัสเซีย ซึ่งผลกระทบจะทำให้การดำเนินงานต่างๆ จำนวนมากอาจหยุดชะงักไปได้

รัสเซียไม่ได้เป็นประเทศที่มีการผลิตเทคโนโลยีด้วยตัวเอง การที่จะเปลี่ยนซอฟต์แวร์ไม่สามารถทำได้โดยง่าย หากในช่วงนี้มีการพัฒนาระบบไอทีที่ยังต้องพึ่งพาซอฟต์แวร์ของบริษัทเหล่านั้น คงดำเนินการต่อด้วยความยากลำบากขึ้น

เช่นเดียวกัน กับการที่บริษัทผลิดเซมิคอนดักเตอร์อย่างอินเทลหรือเอเอ็มดี  ประกาศหยุดการส่งชิปที่ใช้งานอุตสาหกรรมไปให้รัสเซีย จะทำให้ธุรกิจที่จำเป็นต้องพึ่งพาเครื่องคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่ในการทำงาน กลุ่มศูนย์ข้อมูล (Data Center) ที่ต้องการใช้ชิปสมรรถนะสูง ไม่สามารถดำเนินการต่อได้อย่างสมบูรณ์ 

รวมไปถึงอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะใช้เซมิคอนดักเตอร์ในอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อการผลิต และที่สำคัญยิ่งคือ อาวุธยุทโธปกรณ์ทางการทหารจำนวนมากจะมีการใช้ชิปเหล่านี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าแม้แต่โดรนของรัสเซียที่ส่งไปโจมตียูเครน อุปกรณ์ทั้งหมดเป็นเทคโนโลยีจากประเทศตะวันตก

แง่ของเซมิคอนดักเตอร์ที่รัสเซียสามารถผลิตได้เองก็เพียงเกรดระดับผู้บริโภคไม่ใช่สำหรับอุตสาหกรรมหรือการทหาร หากจะหันไปพึ่งจีนก็คงไม่ได้ เพราะในด้านนี้จีนเองก็ยังตามหลังสหรัฐอยู่มาก โรงงานผลิดเซมิคอนดักเตอร์ในเอเซียที่มีความสามารถดีพอก็อยู่ในไต้หวันซึ่งร่วมคว่ำบาตรรัสเซียด้วย

เทคโนโลยีโทรคมนาคมเป็นอีกด้านที่รัสเซียต้องกังวล เพราะทั้งแอ๊ปเปิ้ลและซัมซุง ต่างก็ประกาศจะหยุดส่งสินค้าไปยังรัสเซีย จากข้อมูลของ Statcounter ไอโฟน มีส่วนแบ่งเป็นอันดับหนึ่ง 26.5% ตามมาด้วย เสียวหมี่ และ ซัมซุง 24% และ 23.5% จากตัวเลขนี้คงยากที่รัสเซียจะพึ่งพาบริการสมาร์ทโฟนเฉพาะบริษัทจีนเพียงอย่างเดียว

ที่หนักไปกว่าคือ การหยุดหรือลดการให้บริการของบริษัทโทรคมนาคมในยุโรปตะวันตกอย่างโนเกียและอีริคสัน ซึ่งผู้ให้บริการของรัสเซียจำเป็นต้องพึ่งพา หากจะเปลี่ยนไปใช้ระบบของค่ายโทรคมนาคมจีนอย่างหัวเว่ย หรือ แซดทีอี คงไม่สามารถทำได้ในเวลาอันรวดเร็ว

หากสงครามยังยืดเยื้อและการคว่ำบาตรต่างๆ ยังไม่ยุติ ก็ไม่แน่ว่าธุรกิจต่างๆ ของรัสเซียที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลจากค่ายตะวันตกจำนวนมากจะสามารถดำเนินต่อไปได้นานเพียงใด และไม่ใช่แค่ไม่มีโซเชียลมีเดียใช้ แต่เป็นเสมือนการที่ระบบทุกอย่างอาจหยุดชะงักไปได้เลย ดังนั้นการกดดันของบริษัทเหล่านี้น่าจะมีผลทำให้รัฐบาลรัสเซียต้องหาแนวทางยุติการใช้กำลังทหารก่อนที่จะเกิดปัญหาขาดอุปทานด้านเทคโนโลยี

วันนี้โลกของการต่อสู้ไม่ใช่แค่เรื่องการทหารที่แบ่งเป็นหลายขั้ว แต่เทคโนโลยีดิจิทัลก็แบ่งขั้วชัดเจน แบ่งเป็นค่ายจากฝั่งตะวันตก และค่ายจีนที่กำลังมาแรง และอาจแซงหน้าในบางด้านในไม่ช้า 

ประเทศต่างๆ ที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งเรื่องแพลตฟอร์ม ซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาสมดุลการใช้เทคโนโลยีของสองค่ายนี้ให้ดี หากต้องพึ่งพาฝั่งใดฝั่งหนึ่งมากจนเกินไปก็อาจลำบากได้ในอนาคต แต่จะดีที่สุดคือ การสร้างศักยภาพให้เราสามารถพึ่งตัวเองได้