ทำไมต้อง Staying Invested?

ทำไมต้อง Staying Invested?

น่าแปลกที่ว่าเมื่อใดก็ตามที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่มีผลต่อภาวะเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในโลก นักลงทุนจำนวนมากจะแห่กันขายหลักทรัพย์ หรือการลงทุนที่มีอยู่ เพื่อรอให้สถานการณ์ดีขึ้น แล้วค่อยว่ากัน หรือรอให้ลงต่ำกว่านี้ แล้วค่อยไปช้อนซื้อทีหลังก็ได้

และไม่ว่าจะมีใครพูดอย่างไร กางหลักฐานแบบไหน ว่าเหตุการณ์ด้านการเมือง และการรบพุ่งกันไม่ว่าจะเป็นสงครามระดับภูมิภาค หรือสงครามโลก ก็ไม่เคยทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงแบบกู่ไม่กลับเป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาวนาน

คนไทยกับสงครามและการลงทุนนั้น ถือได้ว่ามีประวัติศาสตร์ไม่ยาวนานนัก เพราะตลาดหุ้นไทยเริ่มต้นในปีพ.ศ. 2517 ส่วนกองทุนรวม กองแรกก็เกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2520 แต่คนไทยเองเพิ่งจะเริ่มสนใจการลงทุนกันเป็นวงกว้างจริง ๆก็เมื่อมีกองทุนรวมหุ้นระยะยาวเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2547 เนื่องจากได้เงินภาษีคืนเป็นกอบเป็นกำ และรวดเร็วทันใจ ส่วนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แม้จะมีมานานมากแล้ว แต่เพิ่งจะได้รับความสนใจมากขึ้น ก็เมื่อระบบสมาชิกเลือกลงทุน (Employee Choice) เริ่มขึ้นในปีพ.ศ. 2550

ด้วยเหตุนี้ความสัมพันธ์ระหว่างนักลงทุนไทยกับเหตุการณ์รบพุ่งใด ๆ นั้น จึงมีประวัติศาสตร์ร่วมที่ค่อนข้างสั้น โดยสงครามที่มีผลกระทบต่อประเทศไทยภายหลังมีตลาดทุนแล้ว ก็เช่น สงครามอิรัก-อิหร่าน ค.ศ. 1980 สงครามอ่าวเปอร์เซีย (Gulf War) เมื่อค.ศ. 1990 ต่อด้วยการล่มสลายของสหภาพโซเวียต (The fall of the USSR) และการสิ้นสุดสงครามเย็น เมื่อค.ศ. 1991 ถัดมาแม้ไม่ใช่สงคราม แต่ก็ใกล้เคียง คือ วินาศกรรม 11 กันยายน พ.ศ. 2544 นำมาซึ่งสงครามในอัฟกานิสถานที่ยืดเยื้อยาวนานอีกเกือบ 20 ปี

ส่วนสงครามขนาดใหญ่ ก่อนหน้านั้นล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นในขณะที่ยังไม่มีตลาดทุนในประเทศไทยด้วยซ้ำ จึงทำให้สงครามสำหรับคนไทยในอดีต จึงเป็นเรื่องของการมีผู้คนล้มตาย ข้าวยากหมากแพง โจรผู้ร้ายชุกชุม เป็นหลัก

 

สำหรับในต่างประเทศ New York Stock Exchange (NYSE) ซึ่งเป็นตลาดหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน เริ่มเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1792 หรือช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (The Dow Jones Industrial Average) เป็นดัชนีสำคัญที่เริ่มมีมาตั้งแต่ค.ศ. 1896 หรือในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งราชวงศ์จักรี

ดังนั้น ดัชนีดาวโจนส์ จึงมีประวัติผ่านร้อนผ่านหนาวกับสารพัดสงคราม ไม่ว่าจะเป็นสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 วิกฤติการคิวบา สงครามเวียดนาม สงครามอิรัก-อิหร่าน สงครามอ่าว สงครามอัฟกานิสถาน และอีกมากหมายหลายสงคราม

เมื่อครั้งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อปลายเดือน ก.ค. 1914 นั้น ตลาดหุ้นทั่วทั้งยุโรปและสหรัฐฯประกาศหยุดดำเนินการพร้อมกัน ส่วนหนึ่งจากความหวั่นเกรงว่าจะมีแรงเทขายหลักทรัพย์พร้อมกันทั่วโลก เพื่อเตรียมเงินเข้าสู่สงคราม และแม้ว่าตลาด NYSE ของสหรัฐฯจะไม่เปิดซื้อขายเป็นการชั่วคราว แต่ยังคงมีการซื้อขายหุ้นนอกตลาดกันอย่างต่อเนื่อง

ทำให้ดัชนีดาวโจนส์มีราคานอกตลาดที่สามารถอ้างอิงย้อนหลังได้ โดยครั้งนั้นดัชนีได้ร่วงลงจนถึงจุดต่ำสุดในอีก 4 เดือนถัดมา แต่ภายหลังจากที่ตลาดเปิดดำเนินการอีกครั้งในปลายปีเดียวกัน ดัชนีดาวโจนส์ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดถึงเกือบ 2 เท่าในอีกเพียงหนึ่งปีหลังจากนั้

ส่วนสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นระเบิดขึ้นในช่วงต้นเดือนก.ย. 1939 แต่มีผลกระทบต่อความมั่นใจของตลาดสหรัฐฯโดยตรงในช่วงต้นเดือนธ.ค. 1941 เมื่อฐานทัพเรือสหรัฐฯที่เพิร์ล ฮาร์เบอร์สูญเสียอย่างหนักจากการโจมตีที่คาดไม่ถึงของกองทัพญี่ปุ่น โดยดัชนีดาวโจนส์ปรับลดลงอย่างรุนแรงจนถึงจุดต่ำสุดในเดือนเม.ย. 1942 หลังจากนั้นดัชนีก็พุ่งทะยานขึ้นอีกครั้ง

สำหรับเหตุการณ์ 11 กันยา 2001 แม้ว่าจะไม่ใช่สงคราม แต่ก็ถือว่าสร้างความวิปโยคโศกศัลย์ให้กับคนอเมริกันอย่างถึงที่สุด ดาวโจนส์ในครั้งนั้นปรับตัวลดลงภายในวันทำการซื้อขายเดียวมากที่สุดในประวัติศาสตร์ถึง 7.1% (ก่อนที่จะถูกทำลายสถิติโดย COVID-19 ในภายหลัง) และปรับตัวลดลง 14% สู่จุดต่ำสุด ก่อนจะพุ่งขึ้นกว่า 30% ในระยะเวลาอีกเพียง 6 เดือนให้หลัง

จะเห็นได้ว่าผลตอบแทนจากการลงทุนไม่เคยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สงครามเนิ่นนานนัก การกระจายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และไม่ตื่นตระหนกจะช่วยให้เรามีโอกาสบรรลุถึงเป้าหมายการลงทุนได้ในที่สุด

ทำไมต้อง Staying Invested?

 

              ที่มา: Morningstar, DJIA ก่อนวันที่ 30 กันยายน 2530 เป็นข้อมูลดัชนีราคาไม่รวมเงินปันผล (Price Index)