เกาหลีใต้ในภูมิรัฐศาสตร์จีน-สหรัฐ | อาร์ม ตั้งนิรันดร

เกาหลีใต้ในภูมิรัฐศาสตร์จีน-สหรัฐ | อาร์ม ตั้งนิรันดร

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่เกาหลีใต้ ยุน ซอก ยอล จากพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งเป็นฝ่ายอนุรักษนิยม เฉือนชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีด้วยคะแนนสูงกว่าคู่แข่งจากฝั่งรัฐบาลเดิมเพียงร้อยละ 0.8 นับเป็นการเลือกตั้งที่สูสีที่สุดในประวัติศาสตร์เกาหลีใต้

สะท้อนถึงความร้อนแรงของการเมืองเกาหลีใต้ ท่ามกลางความร้อนแรงของภูมิรัฐศาสตร์โลก การเปลี่ยนขั้วอำนาจของเกาหลีใต้ในครั้งนี้จะมีผลต่อภูมิรัฐศาสตร์และความมั่นคงในคาบสมุทรเกาหลี เพราะยุน ซอก ยอล มีนโยบายการต่างประเทศที่แตกต่างจากรัฐบาลก่อนอย่างชัดเจน

    ในขณะที่รัฐบาลก่อนมีท่าทีเป็นมิตรกับเกาหลีเหนือ และยืนหยัดไม่เลือกข้างในศึกภูมิรัฐศาสตร์จีนและสหรัฐฯ แต่ยุน ซอก ยอล ประกาศจะใช้นโยบายที่แข็งกร้าวกับเกาหลีเหนือ และประกาศจะเลือกข้างสหรัฐฯ แทนที่จะรักษาสมดุลระหว่างสองมหาอำนาจเช่นในอดีต

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ถึงกับต่อสายโทรศัพท์แสดงความยินดีกับยุน ซอก ยอล พร้อมกับแสดงความคาดหวังที่จะร่วมมือกับเกาหลีใต้อย่างใกล้ชิดภายใต้กรอบความร่วมมือเศรษฐกิตอินโดแปซิฟิก (Indo Pacific Economic Framework) และจะร่วมสร้างซัพพลายเชนสหรัฐฯ เชื่อมโลก โดยมีเกาหลีใต้เป็นพันธมิตรสำคัญ 

ความหมายที่ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดก็คือหวังว่าเกาหลีใต้จะช่วยสหรัฐฯ ในการตัดจีนออกจากห่วงโซ่เทคโนโลยีไฮเทคของโลก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์และแบตเตอรี่ที่เกาหลีใต้เป็นผู้นำในอุตสาหกรรม

    ส่วนประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ก็ส่งสารแสดงความยินดี และให้เอกอัครราชทูตจีนประจำเกาหลีใต้เข้าพบแสดงความยินดี โดยในสารของสีจิ้นผิงย้ำว่าเกาหลีใต้กับจีนเป็นเพื่อนบ้านที่ย้ายหนีจากกันไม่ได้ 

ปีนี้เป็นปีฉลองครบรอบ 30 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ และหวังว่าจะได้ร่วมมือกับประธานาธิบดีคนใหม่ในการยกระดับความสัมพันธ์ให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

ท่านทูตยังย้ำกับประธานาธิบดีคนใหม่ว่าก่อนที่จะมาเป็นทูตที่เกาหลีใต้ ท่านเคยเป็นเจ้าหน้าที่การทูตจีนที่เกาหลีเหนือมาอย่างยาวนาน

    ความหมายที่ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดของสีจิ้นผิงก็คือ จะหาเสียงด้วยการต่อต้านจีนก็เป็นเรื่องตอนหาเสียง แต่พอรับตำแหน่งแล้ว อย่าลืมความเป็นจริงว่า จีนเป็นยักษ์ที่อยู่ข้างบ้าน ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องรักษาความสัมพันธ์ให้ราบรื่น

และในทางเศรษฐกิจ จีนก็เป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของเกาหลีใต้ ส่วนความหมายที่ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดของท่านทูตก็คือ จะคุยกับเกาหลีเหนือให้รู้เรื่อง ก็จำเป็นต้องอาศัยจีนช่วย 

    เรื่องที่เป็นประเด็นละเอียดอ่อนที่สุดสำหรับจีนคือ ยุน ซอก ยอล ประกาศสนับสนุนการติดตั้งระบบต่อต้านขีปนาวุธ THAAD ของสหรัฐฯ ในประเทศเกาหลีใต้ และยังต้องการเพิ่มความร่วมมือในเรื่องนี้จากเดิมให้มากขึ้นไปอีก เพื่อสร้างหลักประกันต่อภัยคุกคามจากเปียงยาง 

การติดตั้งระบบต่อต้านขีปนาวุธร่วมกับสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่จีนแสดงความกังวลและต่อต้านมาโดยตลอด เพราะเห็นว่าจะเป็นระบบที่ช่วยสหรัฐฯ จับสัญญาณขีปนาวุธของจีนด้วย (ไม่ใช่เพียงจับของเกาหลีเหนือ) 

    ต่อจากนี้จะเป็นช่วงเวลาที่ตึงเครียดสำหรับภูมิรัฐศาสตร์ของโลก เพราะนอกจากสงครามในยูเครนดูทีท่าว่าจะยืดเยื้อ ความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวันในคาบสมุทรไต้หวันก็ไม่รู้จะปะทุเมื่อใด แถมตอนนี้ดูเหมือนความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีก็จะเข้มข้นขึ้นอีกจากนโยบายที่แข็งกร้าวของประธานาธิบดีคนใหม่ของเกาหลีใต้ต่อเกาหลีเหนือ

     ยุน ซอก ยอล สนับสนุนการยกระดับการซ่อมรบร่วมกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นนโยบายที่สวนทางกับรัฐบาลก่อนหน้าที่พยายามลดระดับการซ้อมรบลง เพื่อลดความตึงเครียดกับเกาหลีเหนือ โดยยุน ซอก ยอล ให้เหตุผลว่า เกาหลีใต้ต้องแสดงพลังแสนยานุภาพและความสัมพันธ์ทางการทหารกับสหรัฐฯ ให้เกาหลีเหนือเกรงกลัว

จึงจะรักษาสันติภาพไว้ได้ หลายคนมองว่าอีกไม่นานจากนี้ เกาหลีเหนืออาจรับน้องท่านประธานาธิบดีคนใหม่ด้วยการทดสอบอาวุธโชว์ ยกระดับความตึงเครียดให้เห็นว่า อย่าเล่นกับไฟ

    ในส่วนของการเลือกข้างสหรัฐฯ แทนที่การรักษาสมดุลระหว่างสหรัฐฯ และจีนนั้น มีการวิเคราะห์ว่าเป็นกลยุทธ์การหาเสียงที่สำคัญของฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ต้องการปลุกความรู้สึกชาตินิยม มีผลสำรวจที่น่าตกใจว่า ในปัจจุบัน จีนกลายมาเป็นประเทศที่คนเกาหลีใต้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ มีมุมมองเชิงลบสูงกว่าที่มีต่อญี่ปุ่นแล้ว จากเดิมที่ญี่ปุ่นมีประวัติศาสตร์บาดหมางกับเกาหลีใต้มาอย่างยาวนาน

 แต่ความไม่พอใจจีนเริ่มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีจากอิทธิพล และแรงกดดันจากจีนที่ใช้บีบเกาหลีใต้ในทางเศรษฐกิจ (เช่น จำกัดนักท่องเที่ยวจีนหรือแบนดาราเกาหลีในตลาดจีน) โดยเฉพาะเวลาที่จีนไม่พอใจเรื่องต่างๆ (เช่น เรื่องการติดตั้งระบบต่อต้านขีปนาวุธของสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้)     

    ยุน ซอก ยอล อาจได้ประโยชน์ตอนหาเสียงจากการปลุกความรู้สึกชาตินิยมและการได้ใจคนรุ่นใหม่เกาหลีใต้ที่เริ่มไม่พอใจจีนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เหตุผลพื้นฐานที่สำคัญที่สุดที่เขาชนะเลือกตั้งก็คือ คนเกาหลีใต้ไม่พอใจผลงานการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นราคาอสังหาริมทรัพย์และค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่โอกาสทางเศรษฐกิจและการจ้างงานไม่ดีขึ้นตั้งแต่วิกฤตโควิดที่ผ่านมา 

    ปัญหาสำคัญที่สุดของประธานาธิบดีคนใหม่ก็คือ ถึงไม่ชอบจีน แต่จีนกลับสำคัญที่สุดต่อเกาหลีใต้ในด้านเศรษฐกิจ จึงน่าติดตามอย่างใกล้ชิดว่า รัฐบาลใหม่จะไต่ลวดความสัมพันธ์กับจีนอย่างไรเวลาบริหารจริง. 

คอลัมน์ : มองจีน มองไทย
ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร 
อาจารย์ด้านกฎหมายกับการพัฒนา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
อดีตผู้อำานวยการ ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน