สงครามกับตลาดหุ้น

สงครามกับตลาดหุ้น

ทุกครั้งที่เกิดสงคราม หรือ วิกฤตภูมิรัฐศาสตร์ ตลาดหุ้นทั่วโลกมักปรับลดลงอย่างรวดเร็ว จากความไม่แน่นอน ความกังวลของนักลงทุน และความเสี่ยงที่สูงขึ้น แรงขายจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง ประเทศที่เกี่ยวข้อง และผลกระทบต่อระบบศรษฐกิจ 

ในทางกลับกัน ตลาดหุ้นมักฟื้นตัวอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน ตราบใดที่เศรษฐกิจไม่ถูกกระทบถึงขั้นชะลอตัวรุนแรงหรือถดถอย เช่น กรณี 9/11 ที่เกือบทุกตลาดหุ้นสามารถฟื้นกลับมาที่ระดับเดิมได้ภายในไม่ถึงหนึ่งเดือน หรือ กรณีสงครามอิรักปี 2003 ที่ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ใช้เวลาฟื้นตัวภายในไม่กี่สัปดาห์     

       งานวิจัยของธนาคารต่างประเทศแห่งหนึ่งระบุว่า ในช่วง 83 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดสงครามและวิกฤตภูมิรัฐศาสตร์ทั้งหมด 29 เหตุการณ์ และจากค่าเฉลี่ยของทุกเหตุการณ์ พบว่าตลาดหุ้น (งานวิจัยใช้ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ เป็นตัวแทนตลาดหุ้นโลก) ปรับลดลงเพียง 8% นับจากวันแรกที่เกิดวิกฤติจนถึงวันที่ดัชนีแตะจุดต่ำสุด และใช้เวลาอีกไม่ถึงสามเดือนในการฟื้นตัวกลับไปที่ระดับก่อนเกิดวิกฤติ

        เหตุการณ์ที่ตลาดหุ้นได้รับผลกระทบหนักที่สุด คือสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ดัชนีหุ้นปรับลงต่อเนื่องเกือบ 50% ในช่วงสามปีแรก แต่ที่น่าสนใจคือตลาดหุ้นแตะจุดต่ำสุดในปี 1942 หรือก่อนสงครามจบลงถึงสามปี และฟื้นตัวต่อเนื่องไปอีกหลายปีหลังจากนั้น

       รองลงมาคือวิกฤติน้ำมันปี 1973 ที่ตลาดหุ้นปรับลดลง 17% ในช่วงเดือนแรก และลดลงต่อเนื่องอีก 28% ในช่วง 12 เดือนต่อมา เพราะเศรษฐกิจทั่วโลกได้รับผลกระทบหนักมากจากการขาดแคลนน้ำมัน

      ถ้าตัดสองเหตุการณ์นี้ออก จะพบว่าสงครามและวิกฤติภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นในอดีต ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นค่อนข้างน้อยในระยะยาว 

      สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนในครั้งนี้ ถ้าวัดจากขนาดเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ ซึ่งรวมกันเท่ากับ 2% ของจีดีพีโลก ไม่น่าส่งผลกระทบอย่างมีนัย แต่การที่รัสเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอันดับต้นๆ ของโลก ทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตพลังงานมีค่อนข้างมาก

      นอกจากนั้น สงครามรอบนี้เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่เงินเฟ้อทั่วโลกพุ่งสูงสุดในรอบ 30 - 40 ปี ทำให้นักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะ Stagflation (เงินเฟ้อสูง เศรษฐกิจถดถอย) เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตน้ำมันปี 1973 และ 1979

      ในความเห็นของผม วิกฤติพลังงานรอบนี้ ถ้าเกิดขึ้น น่าจะมีผลกระทบน้อยกว่าเมื่อก่อนมาก เพราะเศรษฐกิจโลกไม่ได้พึ่งพาน้ำมันสูงเหมือนเดิม ย้อนกลับไปปี 1973 โลกต้องใช้น้ำมัน 1 บาร์เรล เพื่อผลิตจีดีพี USD 1,000 (Real Terms) แต่ในปี 2019 เราใช้น้ำมันแค่ 0.43 บาร์เรลในการผลิตจีดีพีที่มูลค่าเท่ากัน

       นอกจากนั้น ประเทศในกลุ่มโอเปคยังมีกำลังการผลิตน้ำมันเหลืออีกไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน และสามารถเพิ่มได้ถึง 5 - 6 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในหนึ่งปีข้างหน้า ซึ่งน่าจะทดแทนน้ำมันที่ส่งออกโดยรัสเซียได้เกือบทั้งหมด อีกทั้งสหรัฐฯ เองก็มีกำลังการผลิตสำรองของน้ำมัน Shale อีกพอสมควร แปลว่า โอกาสที่น้ำมันจะขาดแคลนในระยะยาวน่าจะมีไม่มาก

      ยุโรปมีความเสี่ยงมากที่สุด เพราะนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียถึง 40% แต่ส่วนหนึ่งน่าจะสามารถทดแทนได้ด้วยการนำเข้า LNG รวมทั้งอาจต้องกลับไปใช้พลังงานนิวเคลียร์ หรือ ถ่านหิน เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะสามารถหาแหล่งพลังงานใหม่ที่ทดแทนได้

      ราคาพลังงานจึงมีแนวโน้มอ่อนตัวลงในระยะยาว ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางราคาที่สะท้อนในตลาดสัญญาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า และถ้าเป็นเช่นนี้ โอกาสที่เงินเฟ้อจะพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องน่าจะมีไม่มากในระยะยาว

      มองไปข้างหน้า ไม่มีใครสามารถประเมินได้ว่าสงครามครั้งนี้จะจบลงเมื่อไหร่ ในสถานการณ์แบบนี้ ตลาดหุ้นทั่วโลกมีแนวโน้มเผชิญแรงขายต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง ที่ยังพออุ่นใจได้ คือรัสเซียยังไม่ได้หยุดส่งออกพลังงาน และธนาคารกลางสหรัฐฯ เองก็ยังไม่ได้ส่งสัญญาณว่าจะดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นกว่าที่เคยวางแผนไว้ก่อนเกิดสงคราม

      ผมเชื่อว่า ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสฟื้นตัวแรงหลังฝุ่นหายตลบ เพราะเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบทางตรงจากวิกฤติครั้งนี้ค่อนข้างน้อย นอกจากราคาพลังงานที่พุ่งขึ้นในช่วงนี้ แต่รัฐบาลมีกองทุนน้ำมันที่ช่วยรักษาเสถียรภาพของราคาพลังงานในประเทศ

      แน่นอน การลงทุนในภาวะสงคราม เงินเฟ้อสูง และดอกเบี้ยขาขึ้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ตลาดหุ้นทั่วโลกยังมีแนวโน้มผันผวนค่อนข้างสูง แต่เราน่าจะได้อานิสงส์จากการจัดสรร Asset Allocation ใหม่ของกองทุนทั่วโลก ที่มีแนวโน้มถอนการลงทุนในรัสเซีย ลดการลงทุนในยุโรป และเพิ่มการลงทุนในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน