ศักยภาพในการแข่งขันของ SMEs ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (1)

ศักยภาพในการแข่งขันของ SMEs ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (1)

การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีดิจิทัลอาจเทียบได้กับเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ต่อจากการปฏิวัติครั้งที่ 1 ที่เกิดจากความรู้ในการใช้เครื่องจักรไอน้ำ ครั้งที่ 2 เรื่องการใช้ไฟฟ้าเพื่อการผลิตจำนวนมาก และครั้งที่ 3 เรื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และการสื่อสาร

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีดิจิทัล เหล่านี้ทำให้แนวคิดการทำธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปจากแนวคิดของการผลิตจำนวนมาก (Mass production) เพื่อลดต้นทุน มาสู่การผลิตแบบจำเพาะเจาะจง (Personalized production) หรือเปิดโอกาสในการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการแบบเสมือนจริง (Virtual products and services) ในโลกเสมือนจริงได้ 

ผู้เขียนได้รับมอบหมายจากแผนงานคนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ศึกษาการความเข้าใจศักยภาพในการแข่งขันของ SMEs ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลผ่านการชี้วัดทักษะด้านดิจิทัล และการพัฒนา SME digitization index (ระยะที่ 1)

ผลการศึกษาพบว่า ความรุนแรงของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 นี้ ได้ทำให้บริษัทจดทะเบียนมากกว่าครึ่งหนึ่งที่เคยอยู่ในรายชื่อ Fortune 500 ต้องล้มหายตายจากไปตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 และหากพิจารณาที่บริษัทขนาดใหญ่สูงสุดของโลกก็ได้มีการเปลี่ยนลำดับของการเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดหลักทรัพย์สูงสุดดังแสดงในรูป 1. 

ศักยภาพในการแข่งขันของ SMEs ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (1)

จะเห็นได้ว่า บริษัทในสายธุรกิจดิจิทัล เช่น Apple, Microsoft ในสหรัฐอเมริกา Tencent และ Alibaba ในจีนก้าวมาเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงสุด      

World Economic Forum คาดการณ์ว่าภายในปี 2030 มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (Gross Domestic Product, GDP) ของทั้งโลก จะเป็นมูลค่าที่มาจากการประกอบธุรกิจภายใต้ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลประมาณร้อยละ 70 การคาดการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่าเทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดทิศทางระบบเศรษฐกิจโลกในอนาคต 

อย่างไรก็ตาม ศักยภาพการเติบโตนี้ไม่สามารถสร้างความมั่นใจได้ว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านความร่ำรวย หรือปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินของประชากรบางกลุ่มจะหมดไปได้ ทั้งนี้ World Economic Forum ได้ประเมินเช่นกันว่าประชากรประมาณร้อยละ 47 ของทั้งโลกในปัจจุบัน ยังไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจดิจิทัลเลย  

ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลอาจนิยามว่าเป็นระบบเศรษฐกิจที่ผู้บริโภค ผู้ผลิต และรัฐบาลต่างมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลไม่ได้เกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพียงอย่างเดียว เพื่อให้สามารถเข้าใจระบบเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างครบถ้วน 

ผู้เขียนได้เคยเสนอว่าระบบเศรษฐกิจดิจิทัลประกอบด้วย 3 องค์ประกอบย่อย ได้แก่ 
1)    โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล (Digital Infrastructure) ที่ประกอบด้วยเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไม่ว่าจะมาจากสายส่งประเภทต่าง ๆ หรือเครือข่ายแบบไร้สายเช่นเทคโนโลยี 3G, 4G และ 5G เป็นต้น

2)    ตัวแบบการดำเนินธุรกิจดิจิทัล (Digital Business Model) ซึ่งเป็นการปรับกระบวนทัศน์ในการดำเนินธุรกิจใหม่ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล จนอาจทำให้การดำเนินธุรกิจแบบเดิมกลายเป็นเรื่องล้าสมัยและแข่งขันได้ยาก เช่นการเกิดขึ้นของ Sharing economy หรือ Platform business เป็นต้น

3)    กระบวนการผลิต 4.0 (Manufacturing 4.0) โดยเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยและมีความก้าวหน้าเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นทั้งในมิติของต้นทุน ความเร็ว และการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเช่นการใช้ระบบอัตโนมัติ (Automation) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence, AI) เป็นต้น

Google-temasek-Bain (2019) ได้ประเมินว่ามูลค่าเศรษฐกิจผ่านระบบอินเทอร์เน็ตในภูมิภาคอาเซียนใน ค.ศ. 2019 ได้มีมูลค่ามากกว่า 100 พันล้านเหรียญสหรัฐแล้ว และภายใน ค.ศ. 2025 คาดว่าจะสูงกว่า 300 พันล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ ตัวเลขสถิติยังพบว่าภูมิภาคอาเซียนมีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงมากเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นของโลก  

สำหรับในภูมิภาคอาเซียน การสำรวจโดย EY (2019) พบว่า ผู้ประกอบธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนวางแผนที่จะลงทุนปัจจัยที่เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในสัดส่วนร้อยละ 81 ของกลุ่มตัวอย่าง มีความพยายามที่จะฝึกอบรมบุคลากรในองค์กรให้มีความรู้ทันสมัยอีกประมาณร้อยละ 80 และสัดส่วนของผู้ประกอบธุรกิจที่มีการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรหรือเทคโนโลยีดั้งเดิมลดน้อยลงเป็นประมาณร้อยละ 75  

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญที่น่ากังวลสำหรับการดำเนินธุรกิจดิจิทัลของผู้ประกอบธุรกิจในอาเซียนคือความสามารถในการป้องกันภัยทางไซเบอร์ ซึ่งการสำรวจโดย EY (2019) พบว่าผู้ประกอบธุรกิจในอาเซียนใช้เวลามากถึง 520 วันในการบ่งชี้ปัญหาหรือจุดอ่อนของระบบดิจิทัลของตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาที่นานมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ 146 วันในระดับสากล 

เมื่อพิจารณาเฉพาะประเทศสิงคโปร์ ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีความก้าวล้ำด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินธุรกิจของภูมิภาคอาเซียน ยังพบว่าประมาณร้อยละ 92 ขององค์กรในสิงคโปร์ได้รับผลกระทบจากการโจมตีทางไซเบอร์ใน ค.ศ. 2018 ซึ่งการโจมตีดังกล่าวมีความซับซ้อนและยากต่อการจัดการมากยิ่งขึ้น  
    คราวต่อไปมาดูว่าการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล (Digital Transformation) ใน ASEAN เป็นอย่างไร.