HYPE - ความมั่นใจที่สูงเกินจริงในโลกนวัตกรรม

HYPE - ความมั่นใจที่สูงเกินจริงในโลกนวัตกรรม

การศึกษาวิจัยภายใต้บริบทของการสร้างสรรค์นวัตกรรมทั้งในเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของธรรมชาติ พฤติกรรม ความสำเร็จ และความล้มเหลวของสิ่งที่ผู้มีความคิดริเริ่มต้องการจะสร้างและนำเสนอสิ่งแปลกใหม่ที่ยังไม่เคยมีมาก่อน ให้กลายเป็นสิ่งที่จะเข้ามาแทนที่สิ่งเดิมๆ ที่คุ้นเคยของผู้คนทั่วไป

ความสำเร็จของนวัตกรรม มักจะวัดจากการเกิดการยอมรับและใช้สิ่งใหม่ที่ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นเหล่านี้จนกลายเป็นสิ่งปกติธรรมดาที่คุ้นเคยในชีวิตประจำวัน

ตัวชี้วัดนี้ ทำให้เกิดการสรุปรวบรวมเป็น ทฤษฎี สมมติฐาน และองค์ความรู้ในเชิงวิชาการที่มีการนำใช้ในการเรียนการสอนทั้งในรูปแบบของการศึกษาในระบบและการศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเองของผู้ที่มีความสนใจเกี่ยวกับการประสบความสำเร็จในโลกของนวัตกรรม

หนึ่งในพฤติกรรมที่น่าสนใจและมีการศึกษาจนสามารถสรุปรวบรวมเป็นทฤษฎีให้เกิดการศึกษาเรียนรู้กันขึ้น ได้แก่ พฤติกรรมความมั่นใจที่สูงเกินจริงของกลุ่มนักนวัตกรรมที่กำลังสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่คิดว่า หากสามารถทำให้ประสบความสำเร็จตามที่คิดไว้ นวัตกรรมนั้นๆ จะต้องกลายมาเป็นมาตรฐานใหม่ของผู้บริโภค

หากไม่ใช่เป็นความใหม่ในระดับโลก ก็อาจเป็นความใหม่ในระดับอุตสาหกรรม ระดับประเทศ หรือแม้กระทั่งในระดับท้องถิ่น ก็เป็นได้

 

ทฤษฎีนี้ เริ่มอธิบายตั้งแต่ช่วงเวลาที่นักนวัตกรรมเริ่มมีความคิดเกี่ยวกับการสร้างนวัตกรรม ลงมือค้นคว้าและทดลองเพื่อพิสูจน์ว่าความคิดริเริ่มนั้นๆ มีโอกาสที่จะเป็นไปได้จริงหรือไม่ ไปจนถึงช่วงเวลาที่นวัตกรรมจะได้รับความสำเร็จด้วยการตอบรับและยอมรับในสิ่งใหม่ที่นวัตกรรมนั้นๆ สร้างสรรค์ให้กับผู้ใช้งาน ผู้บริโภค หรือสังคมที่มีส่วนได้ส่วนเสีย

โดยช่วงเวลาเหล่านี้สามารถแบ่งออกได้เป็นระยะต่างๆ ที่จะสังเกตเห็นได้ชัดเจน เป็น 5 ช่วงเวลา

ช่วงแรก เป็นช่วงที่ผู้สร้างสรรค์เกิดไอเดีย แนวคิด หรือ ค้นพบว่า มีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาความคิดนี้ต่อไปจนประสบความสำเร็จได้ไม่ยากนัก ในช่วงนี้ เมื่อยิ่งคิดต่อไปเรื่อยๆ ผู้สร้างสรรค์ก็จะสะสมความั่นใจต่อความเป็นไปได้ที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้น

และไม่รั้งรอที่จะเล่าต่อขยายความถึงความคิดนี้ไปยังคนภายนอก ที่เต็มไปด้วยความคาดการณ์ คาดหวัง ต่อคุณประโยชน์หรือคุณค่าของความคิดนี้อย่างบรรเจิด สร้างความตื่นเต้นยินดีกับกลุ่มคนที่ได้รับฟังอย่างมากมาย

ช่วงที่ 2 เป็นช่วงที่การกระจายข่าวหรือการโฆษณาประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับนวัตกรรมนี้ ทำให้เกิดความคาดหวังจากทั้งนักนวัตกรรมและกลุ่มคนที่รับทราบข่าวพุ่งสูงถึงขีดสุด จนอาจถึงระดับที่เรียกว่าเป็นที่เล่าขานโจษจันในลักษณะ “Talk of the Town” คนมักจะได้รับทราบ ตื่นเต้น หรือได้ยินเรื่องราวของนวัตกรรมที่จะเกิดขึ้นใหม่นี้เป็นครั้งแรก ในช่วงเวลาที่ 2 นี่เอง

ช่วงที่ 3 เป็นช่วงที่นักนวัตกรรม เริ่มลงมือค้นคว้าหาวิธีที่สร้างนวัตกรรมตามความคิดแรกให้เกิดขึ้นเป็นจริงได้อย่างเป็นรูปธรรม ในระยะของการค้นคว้าทดลอง และสร้างต้นแบบของนวัตกรรมขึ้นมานี้ อาจจะเป็นช่วงที่ต้องใช้เวลายาวนานมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับธรรมชาติของนวัตกรรม หรือความยากง่ายในการฝืนธรรมชาติของนวัตกรรม

ช่วงนี้ อาจต้องใช้ความร่วมมือจากองค์ความรู้ของนักวิทยาศาสตร์ ความเชี่ยวชาญของวิศวกรที่เป็นนักประดิษฐ์คิดค้น ที่ไม่ใด้เป็นผู้คิดค้นไอเดียแต่แรก ทำให้ผู้คิดริเริ่มเริ่มเห็นอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดจากการขาดองค์ความรู้ใชเชิงลึกของสิ่งที่ต้องการจะสร้างสรรค์ขึ้นมา

นักสร้างนวัตกรรมโดยทั่วไป มักจะต้องผ่านช่วงเวลานี้ และจะเป็นช่วงเวลาที่ความคาดหวังที่ตั้งไว้ค่อนข้างสูงตั้งแต่ต้น ลดระดับลงอย่างรวดเร็ว

นวัตกรรมที่ไม่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ จะไม่สามารถก้าวผ่านช่วงเวลาที่ 3 นี้ไปได้ และต้องล้มเลิกสิ้นสุดไปจนไม่ได้รับการกล่าวถึงเลยในที่สุด

ช่วงที่ 4 เป็นช่วงที่นักนวัตกรรม ลดระดับความเชื่อมั่นเริ่มต้นของตนลงมาจนอยู่ในระดับของความเป็นจริงของการสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นรูปธรรมได้จริง ซึ่งอาจต้องลดระดับความทะเยอทะยานภายในตัวเองลง หรือ ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบของนวัตกรรมให้เหมาะกับระดับของเทคโนโลยี สมรรถนะ หรือความสามารถของทรัพยากรที่มีอยู่ในขณะนั้น

หลายต่อหลายนวัตกรรม ประสบความสำเร็จในรูปแบบและแนวคิดที่ต่างจากสิ่งที่วาดไว้ในตอนแรกโดยสิ้นเชิง การปรับตัวสู่ความสำเร็จ มักจะเกิดขึ้นจากการค่อยๆ เรียนรู้ถึงความคาดหวังและสภาพความเป็นจริง ที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ 4 นี้

ช่วงที่ 5 เป็นช่วงเวลาที่นักสร้างสรรค์นวัตกรรมจะได้รับผลตอบแทนจากผลงานนวัตกรรมที่นำเสนอ ซึ่งอาจเป็นผลตอบแทนอย่างสูงในเวลาอันสั้น หรืออาจทอดระยะเวลายาวนานออกไป ขึ้นอยู่กับการเรียนรู้และยอมรับสิ่งใหม่ของตลาดและผู้บริโภค

ทฤษฎีความมั่นใจที่สูงเกิดจริงของนักสร้างนวัตกรรม หรือในภาษาวิชาการรู้จักกันในนาม Hype Cycle นี้ สามารถนำมาอธิบายพฤติกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาของการพยายามต่อสู้กับโรคระบาดโควิด-19 ในปัจจุบัน โดยเฉพาะกระแสข่าวของ วัคซีน ยารักษา วิธีการรักษา ฯลฯ ที่ให้ความหวังอย่างมากในช่วงต้นๆ และค่อยๆ เงียบหายไปกับกาลเวลา รวมถึงช่วงของความคาดหวังอย่างสูงกับ โลกปัญญาประดิษฐ์ สินทรัพย์ติจิทัล และ เมตาเวอร์ส ที่กำลังจะมาถึง หรือโครงการแซนด์บ็อกซ์ต่างๆ ที่โหมประชาสัมพันธ์ในช่วงเริ่มต้น แต่ข่าวความสำเร็จที่เกิดจากแซนด์บ็อกซ์ มีให้สังคมได้รู้ได้เห็นน้อยมาก

พฤติกรรมเหล่านี้ ล้วนเป็นหลักฐานยืนยันข้อสมมติฐานของทฤษฎี Hype Cycle นี้ได้เป็นอย่างดี!!??!!

(เครดิต: ทฤษฎี Hype Cycle เป็นผลงานวิชาการที่นำเสนอโดย Gartner Inc. ดูรายละเอียดได้ที่  www.gartner.com/en/research/methodologies/gartner-hype-cycle)