พัฒนาเด็ก พัฒนาชาติ | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

พัฒนาเด็ก พัฒนาชาติ | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

ในงานปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 18 “เลี้ยงลูกในโลกใบใหม่ พัฒนาการเด็ก ประชาธิปไตย และอนาคตใหม่ของทุกคน” ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดขึ้นในวันพุธที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา

คุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ได้เล่าถึง “ความสำคัญ” และ “ความสัมพันธ์” ของการพัฒนาเด็กให้เหมาะสมกับช่วงวัยว่าเป็นกุญแจดอกสำคัญในการสร้างประเทศที่ประชาชนสามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างผาสุก 

จากการถอดรหัสสิ่งที่คุณหมอเล่าให้ฟัง ผมเห็นด้วยว่าการพัฒนาเด็กควรเป็นเป้าหมายหนึ่งเดียวของการพัฒนาชาติ แค่ทำเรื่องนี้ให้ได้ดี ปัญหาอื่นจะบรรเทาลงจนหมดไปเอง

การจะเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งให้เติบโตอย่างมีคุณภาพตามบริบทของโลกใหม่มีเงื่อนไขแห่งความเสร็จอย่างน้อย 3 ข้อ

1.เด็กควรมีโอกาสได้เติบโตให้สมกับพัฒนาการในแต่ละช่วงวัย ด้วยเหตุนี้ การฝึกทักษะสมองหรือ Executive Functions (EF) จึงเป็นเรื่องจำเป็นอันดับหนึ่ง ระบบการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับการแข่งขัน การยัดเยียดองค์ความรู้ จนตัดทอนโอกาสของเด็กในการพัฒนาอย่างสมดุล เป็นระบบที่ไม่มีทางสร้างประชากรคุณภาพกับประเทศได้ 

ความไม่สมดุลของพัฒนาการที่เกิดจากระบบการศึกษาซึ่งฉุดรั้งพัฒนาการรวมถึงสร้างบาดแผลทางจิตใจให้กับผู้เรียน กลายเป็นโรงงานผลิตกำลังคนที่บิดเบี้ยว เมื่อกำลังคนบิดเบี้ยว สังคม เศรษฐกิจ การเมือง ย่อมบิดเบี้ยวตามไปด้วย 

 2.รัฐต้องมีนโยบายที่เอื้อให้ครอบครัวและชุมชนสามารถฟูมฟักเด็กได้ตามช่วงเวลาที่เหมาะสม ในบทบาทที่เหมาะสม ด้วยโอกาสและทรัพยากรที่เหมาะสมได้

    ถ้าพ่อแม่ต้องออกเดินทางแต่เช้ามืดไปทำงานเพราะกลัวรถติด ได้เงินเดือนแทบไม่พอกิน กลับมาถึงบ้านมืดค่ำ ก็แทบจะไม่มีแรงมีเวลาเหลือไปอ่านหนังสือกับลูก พูดคุยกับลูก ไม่ต้องสืบก็พอมองออกว่าพัฒนาการของเด็กคนนั้นจะเป็นอย่างไร

เราจึงต้องออกแบบระบบการเดินทาง ระบบการจ่ายเงินเดือน ระบบการลาคลอดและดูแลบุตร เพื่อปลดข้อจำกัดนี้ เรายังต้องการห้องสมุดขนาดใหญ่ มีหนังสือที่เหมาะกับเด็ก เพื่อให้ทั้งครอบครัวสามารถเข้าถึงทรัพยากรในการเรียนรู้ของเด็ก

มีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ให้ทั้งครอบครัวใช้ประโยชน์ เด็กมีโอกาสวิ่งเล่นออกฤทธิ์ใช้พลังเต็มที่อย่างเป็นอิสระและปลอดภัย สิ่งเหล่านี้ควรเข้าถึงได้สะดวก มีต้นทุนในการเข้าถึงต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หากฟรีได้ยิ่งดี

    ถ้าบ้านไหนมีปู่ย่าตายายในบ้านที่ยังแข็งแรงถือเป็นเรื่องดี แต่ถ้าผู้สูงวัยเหล่านี้มีปัญหาสุขภาพ  เพราะไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ก็จะขาดผู้ช่วยที่ทรงคุณค่าไปอีกหลายคน ระบบสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีวิถีชีวิตกระฉับกระเฉง หรือเรียกว่าพฤฒพลังจึงเป็นเรื่องสำคัญ

    เราควรมีกิจกรรมระดับชุมชนซึ่งถูกออกแบบมา เพื่อให้เด็กสามารถพัฒนาตนเองได้สมวัยโดยใช้ทรัพยากร กำลังคน ทุนทางสังคมและทุนทางวัฒนธรรมของพื้นที่ เพื่อสร้างสายใยแห่งความสัมพันธ์ขึ้นในชุมชน  เช่น กิจกรรมอาสาสมัคร กิจกรรมปรับปรุงสภาพแวดล้อมของชุมชน เป็นต้น

พัฒนาเด็ก พัฒนาชาติ | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

3.โรงเรียนต้องเป็นของชุมชนและจัดการเรียนรู้แบบ “EF นำหน้าวิชาการมาเสริม” เรากำลังอยู่ในยุคที่ดิสรัปชันเกิดขึ้นรายวัน  ผมชอบที่คุณหมอนิยามดิสรัปชันว่าหมายถึง “อะไรก็ไม่รู้” เพราะถ้ารู้อยู่แล้วว่าจะเกิดขึ้น เราย่อมเตรียมตัวรับมือได้ล่วงหน้า เมื่อเด็กต้องเติบโตมาเจอกับโลกแบบไหนก็ไม่รู้ การเรียนรู้จึงต้องพลิกโฉม 

การสอนเฉพาะองค์ความรู้เหมือนที่ผ่านมาตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าอนาคตจะเหมือนกับวันนี้  สิ่งที่เรียนวันนี้สามารถใช้ได้ในอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นจริงไม่ถึง 50% เสียด้วยซ้ำ การใช้ EF มาเป็นแกนกลางในการเรียนรู้เลยเป็นหนทางสำคัญในการสร้างเด็กที่สามารถรับมือกับอนาคต (Future-proof child) 

นอกจากจะต้องพลิกมุมคิดเกี่ยวกับหน้าที่ของโรงเรียนแล้ว ยังต้องพลิกมุมคิดเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของโรงเรียน  เพื่อให้ชุมชนเป็นเจ้าของผ่านกลไกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เปิดโอกาสให้คนในพื้นที่มีส่วนในการกำหนดนโยบาย การจัดสรรทรัพยากร แนวทางการจัดการเรียนรู้  การประเมินความดีความชอบ รวมถึงมีส่วนในการแต่งตั้ง ถอดถอน ผู้บริหารของโรงเรียน

ถ้าลองเจาะกันให้ลึกถึงแก่นจะพบว่า การทำ 3 เรื่องนี้ให้ได้ดีมันเกี่ยวพันกับการพัฒนาประเทศในหลายมิติมาก เป็นการมุ่งเป้าเดียวเพื่อบรรลุหลายเป้าหมาย

มีสุภาษิตของชาวแอฟริกันที่บอกว่า “ต้องใช้คนทั้งหมู่บ้านในการฟูมฟักเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งให้เติบโตขึ้นมา” หรือ It takes a village to raise a child

แต่หลังจากได้ฟังคุณหมอประเสริฐแล้ว ผมเสนอว่าเราควรขยายกรอบของสุภาษิตให้กว้างขึ้นเป็น “ต้องใช้คนตั้งชาติในการฟูมฟักเด็กคนหนึ่งขึ้นมาให้พร้อมสำหรับโลกใหม่ที่ยังไม่รู้ว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้าง” หรือ It takes the whole country to raise a future-proof child
บทความนี้ตั้งใจใช้ภาษาอังกฤษปนไทยเป็นระยะเพื่อเป็นการบริหาร EF ของผู้เขียนและผู้อ่านนะครับ.
คอลัมน์ : หน้าต่างความคิด
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์