สงครามโลกกับตลาดการเงิน

สงครามโลกกับตลาดการเงิน

สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดของโลกในตอนนี้ แม้ NATO ยังไม่ได้เข้าร่วมรบอย่างเป็นทางการ แต่นโยบายกดดันทางเศรษฐกิจก็เข้มข้น รุนแรง พร้อมเพียงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ด้านปูตินก็ตอบโต้ด้วยกำลังทหารหมายยึดยูเครนให้ได้เร็วที่สุด

 ผลที่ตามมาคือราคาน้ำมันพุ่ง สินทรัพย์เสี่ยงร่วง ขณะที่ตลาดมีแต่ความกังวลและความไม่แน่นอน  

สำหรับนักลงทุนอย่างเรา สงครามครั้งนี้ยิ่งนานวันความเสียงหายก็ยิ่งทวีคูณ แต่ในทางกลับกัน ถ้าทุกฝ่ายตกลงกันได้ มุมมองของตลาดก็จะเปลี่ยน สินทรัพย์ทุกชนิดมีโอกาสกลับตัวทันที  

เราจึงต้องรู้ให้ทันว่าบทสรุปแบบไหนจะเป็นบวกหรือลบกับตลาดการเงินอย่างไรบ้าง

กรณีแรก “ปูตินชนะสงคราม” แต่ไม่ชนะใจคนยูเครนและทั่วโลก 

เพราะชาวยูเครนพิสูจน์ตัวตนให้โลกเห็นแล้วว่า “ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย” ตามที่ปูตินเพ้อฝัน แต่ด้วยกำลังทหารที่น้อยกว่า ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือจาก NATO ในที่สุดก็ต้องแพ้สงคราม 

อย่างไรก็ดี ปูตินก็ควรรู้ตัวว่าไม่สามารถปกครองยูเครนได้ ต่อให้ชนะก็ต้องทิ้งกำลังทหารไว้ดูแลหลักล้านนายถึงจะคุมอยู่

นอกจากค่าใช้จ่ายที่สูง กรณีนี้ทั่วโลกก็จะไม่เลิกคว่ำบาตรรัสเซีย ราคาพลังงานจะทรงตัวในระดับสูง กดดันเศรษฐกิจโลกให้ชะลอตัว เกิดเป็นภาวะ Stagflation ตลาดการเงินจะเข้าสู่โหมด Risk-off ไปจนเริ่มมีเศรษฐกิจใหญ่ถดถอย 

 

กรณีที่สอง มีกรรมการนับคะแนนให้ “เสมอ” 

เปรียบเทียบสงครามครั้งนี้เหมือนศึกแห่งอำนาจ 

ปูตินมีอำนาจทางการทหารมากที่สุด ส่วนชาติตะวันตกกุมอำนาจสูงสุดด้านสังคมและข่าวสาร  

สองขั้วอำนาจนี้ไม่มีโอกาสที่จะชนะในสงครามของอีกฝ่ายตรง ๆ จึงต้องมีอำนาจด้านอื่น เช่นเศรษฐกิจ มาคาน 

การมีประเทศตัวกลางเข้ามาช่วยเจรจาอาจเป็นแนวคิดที่มองโลกแง่ดีไปบ้าง แต่เป็นทางออกที่สมเหตุสมผลที่สุดอย่างหนึ่ง 

ถ้าตัวกลางสามารถทำให้การเจรจามีข้อตกลง และยุติสงครามกันได้เมื่อไหร่ แน่นอนว่าจะเป็นข่าวดีกับตลาด เพราะความกังวลเรื่องเงินเฟ้อจะลดลง และความหวังของเศรษฐกิจฟื้นตัวจะกลับมา 

อย่างไรก็ดี กรณีนี้อาจไม่สามารถทำให้ตลาดวางใจได้ 100%  การคว่ำบาตรอาจไม่ถูกยกเลิกทั้งหมด โลกอยู่ในโหมด Inflation แม้ตลาดอาจกลับไปในระดับก่อนสงครามได้ แต่ระดับความผันผวนจะไม่ลดลงเร็ว ทำให้สินทรัพย์เสี่ยงแกว่งตัวในกรอบกว้าง  

อนาคตจะเป็นสงครามเย็นอย่างที่ Garry Kasparov นักสิทธิมนุษยชนและอตีดแชมป์โลกหมากรุกชาวรัสเซียเคยให้ความเห็นว่า “สงครามระหว่างรัสเซียและตะวันตกจะไม่จบจนกว่าจะโค่นปูตินได้” 

กรณีที่สามคือ “ยูเครนชนะ” จะเกิดขึ้นในกรณีที่ปูตินแพ้ภัยตัวเอง 

Ray Dalio นักลงทุนชื่อดัง ผู้เขียนหนังสือ Principles for Dealing with the Changing World Order พบว่าในอดีต “ผู้ชนะไม่ใช่ผู้ที่มีกำลังสูงสุด แต่เป็นผู้ที่ทนความเจ็บปวดได้มากและนานที่สุด” 

การคว่ำบาตรรัสเซียทางเศรษฐกิจครั้งนี้ แม้จะทำให้ทั้งยุโรปและทั่วโลกบาดเจ็บกันถ้วนหน้า แต่ชัดเจนว่าประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือรัสเซีย 

ปูตินอาจทนกับปัญหาเศรษฐกิจได้ แต่ไม่แน่ว่าชาวรัสเซียจะสามารถอยู่กับการคว่ำบาตรและประเทศกลายเป็นเกาหลีเหนือตลอดไปได้ เมื่อไหร่ที่ชาวรัสเซียตาสว่างว่าสงครามกับทั่วโลกจะไม่จบถ้าปูตินและพรรคพวกยังมีอำนาจ กระแสการเมืองก็อาจตีกลับ จนปูตินแพ้สงครามในบ้านตัวเอง 

กรณีนี้เป็น Risk-on ของตลาด ถ้ากลุ่มปูตินถูกโค่นลงได้

การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจะมีโอกาสผ่อนคลาย ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะกลับเข้าสู่ปรกติ โลกกลับสู่ Deflation เศรษฐกิจฟื้น และสินทรัพย์เสี่ยงกลับตัวเป้นขาขึ้นรอบใหม่ 

ส่วนตัวผมมองว่าโอกาสในการเกิดทั้งสามกรณีนั้นใกล้เคียงกัน และเหตุการณ์ยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้อยู่ตลอดเวลา หมายความว่าความเสี่ยงจากสงครามครั้งนี้สูงก็จริง แต่ในขณะเดียวกัน โอกาสที่ตลาดจะกลับตัวก็อยู่ในระดับที่สูงไม่น้อยไปกว่ากัน  

ในเชิงกลยุทธ์ จึงมีเรื่องที่ควรและไม่ควรทำ 3 อย่าง 

(1) ไม่ควรลดการลงทุนลงทั้งหมด  

เพราะนั่นอาจทำให้เราพลาดโอกาสที่ตลาดจะกลับตัวทันที ควรเปลี่ยนเฉพาะการลงทุนที่คาดว่าจะได้รับผลเชิงลบโดยตรงออก และแทนที่ด้วยสินทรัพย์ที่พื้นฐานไม่ถูกกระทบจากสงครามมาก 

(2) ควรมองหาจุดเปลี่ยนที่จะทำให้สงครามยุติลงได้  

และคิดไว้ก่อนว่าสินทรัพย์ไหนมีโอกาสกลับตัวในเหตุการณ์เหล่านั้น ไม่ควรเสียเวลาไปกับการพยายามทำความเข้าใจเหตุผลที่ทั้งสองฝ่ายอ้างขึ้นเพื่อทำสงคราม  

(3) ไม่ควรเก็งกำไรกับสินทรัพย์วัฏจักรมากเกินไป 

แต่ควรแบ่งเงินส่วนใหญ่ลงทุนกับกลุ่มธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับแรงหนุนระยะยาวจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างหลังสงครามครั้งนี้

ทุกคนอาจมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่าง มีความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่ความแตกต่างไม่ว่าจะเรื่องไหน ก็ควรจบด้วยการทำความเข้าใจไม่ใช่ความรุนแรงครับ

เป็นกำลังใจให้นักลงทุนและชาวยูเครนทุกท่านครับ